ทางการบราซิลสั่งแบน X หลังจากที่บริษัทไม่สามารถแต่งตั้งผู้แทนทางกฎหมายคนใหม่ในบราซิลได้ตามกรอบเวลาที่ผู้พิพากษาศาลฎีกากำหนด
สำนักข่าว BBC รายงานว่า อเล็กซานเดร เดอ โมราเอส ผู้พิพากษาศาลสูงสุดของบราซิล สั่งระงับการใช้งาน X โดยทันที จนกว่าบริษัทจะสามารถดำเนินการตามคำสั่งของศาลทั้งหมด และชำระค่าปรับที่คงค้างอยู่ โดยข้อพิพาทระหว่าง X และทางการบราซิลเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งในเวลานั้นผู้พิพากษาสั่งการให้ระงับบัญชี X หลายสิบบัญชีฐานเผยแพร่ข้อมูลเท็จ
ด้านสำนักข่าว Reuters รายงานว่า หน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมของบราซิล เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (30 สิงหาคม) ว่า ทางองค์กรกำลังดำเนินการระงับการเข้าถึงแพลตฟอร์ม X ในประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของผู้พิพากษาแล้ว ซึ่งคาดว่าชาวบราซิลจะใช้งาน X ไม่ได้ภายในช่วง 24 ชั่วโมงข้างหน้านี้
นอกจากนี้ ผู้พิพากษายังสั่งให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Apple และ Google ลบ X ออกจากคลังแอปพลิเคชันของตัวเองภายใน 5 วัน รวมถึงต้องบล็อกการใช้งาน X ทั้งบนระบบ iOS และ Android ด้วย และหากผู้ใดพยายามฝ่าฝืน เช่นใช้ VPN เพื่อเข้าถึง X อาจมีโทษปรับสูงสุด 50,000 เรอัลต่อวัน หรือคิดเป็นเงินไทยราว 3 แสนบาท
แน่นอนว่าหลังจากที่มีคำสั่งดังกล่าวออกมา อีลอน มัสก์ เจ้าของแพลตฟอร์ม X ก็ออกมาตอบโต้ โดยระบุว่า “เสรีภาพทางการพูดคือรากฐานของประชาธิปไตย และผู้พิพากษาปลอมซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในบราซิลกำลังทำลายเสรีภาพดังกล่าวเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง” และ “พวกเขาสั่งปิดแหล่งข้อมูลความจริงอันดับ 1 ในบราซิล”
ด้านผู้พิพากษายืนยันว่า X ควรมีการควบคุมโพสต์ที่ใช้คำพูดแสดงความเกลียดชัง และคำสั่งแบนนี้จะมีผลบังคับใช้ไปจนกว่า X จะสามารถแต่งตั้งผู้แทนทางกฎหมายคนใหม่ในบราซิล และชำระค่าปรับจากการละเมิดกฎหมายของประเทศมูลค่ากว่า 3 ล้านดอลลาร์ หรือราว 100 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากดูจากโพสต์ที่ผ่านมาของ X จะเห็นว่าทางแพลตฟอร์มยืนยันว่าจะไม่ดำเนินการตามข้อกำหนดของบราซิล โดยระบุว่า “อีกไม่นาน เราคาดว่าผู้พิพากษาอเล็กซานเดร เดอ โมราเอส จะสั่งให้ปิด X ในบราซิล เพียงเพราะเราไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ผิดกฎหมายของเขาในการเซ็นเซอร์ข้อมูลจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของเขา” และ “ผู้พิพากษาเดอ โมราเอส เรียกร้องให้เราละเมิดกฎหมายของบราซิลเอง เราจะไม่ทำเช่นนั้นแน่นอน”
อย่างไรก็ดี X ไม่ใช่โซเชียลมีเดียเจ้าแรกที่เผชิญกับแรงกดดันจากทางการบราซิล เพราะเมื่อปีที่ผ่านมา Telegram ก็เคยถูกแบนชั่วคราวเพราะไม่ยอมให้ความร่วมมือกับคำขอของทางการที่ให้บล็อกโปรไฟล์ของผู้ใช้งานบางคน และเมื่อปี 2015-2016 WhatsApp ก็เคยถูกแบนชั่วคราวเช่นกัน เนื่องจากปฏิเสธคำขอของตำรวจที่ต้องการให้ส่งมอบข้อมูลผู้ใช้งานให้
แฟ้มภาพ: Gonzalo Fuentes / File Photo / Reuters
อ้างอิง: