×

การเมืองไทยเปลี่ยน ทิศทางดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร? วิเคราะห์แนวโน้มก่อนประชุม กนง. 21 ส.ค. 67

20.08.2024
  • LOADING...

นักเศรษฐศาสตร์และสำนักวิจัยส่วนใหญ่ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ในการประชุมนัดวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ก่อนจะเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี เหตุเศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้นและดอกเบี้ยโลกอยู่ในขาลง

 

สำหรับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา SCB EIC มองว่า จะส่งผลต่อนโยบายการเงินอย่างจำกัด ขณะที่แรงกดดันจากฝั่งการเมืองต่อธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) น่าจะยังคงดำเนินต่อไป

 

วันนี้ (20 สิงหาคม) ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยกับ THE STANDRD WEALTH ว่า แรงกดดันทางการเมืองจะยังคงมีต่อไป เนื่องจากฝั่งการเมืองและแบงก์ชาติมีมุมมองต่อนโยบายการเงินที่แตกต่างกัน

 

“ปกติเรื่องการเมืองจะไม่ค่อยเกี่ยวกับการทำนโยบายของแบงก์ชาติ แต่มาตรการด้านเศรษฐกิจหรือผลกระทบจากมาตรการจะมีผลต่อการตัดสินใจ กระนั้นวันนี้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยังไม่ได้กระทบกับเศรษฐกิจ จึงต้องรอดูว่าแนวทางการดำเนินนโยบายของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าจะไม่เปลี่ยนไปมาก”

 

นอกจากนี้ ดร.สมประวิณ ยังกล่าวอีกว่า กรณีดิจิทัลวอลเล็ต “ที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายหรือการสื่อสารของแบงก์ชาติ ก็ไม่ได้บอกว่ารวมมาตรการดังกล่าวในการพิจารณาอยู่แล้ว” ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจึงอาจมีผลกระทบต่อนโยบายการเงินจำกัด

 

KKP มอง ดิจิทัลวอลเล็ตส่อล่ม อาจเร่ง ธปท. ลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น

 

ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองว่า ดิจิทัลวอลเล็ตจะมีผลต่อการตัดสินใจด้านดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ กล่าวคือถ้าดิจิทัลวอลเล็ตมาแน่นอน ธปท. อาจชะลอการลดดอกเบี้ยออกไปก่อน แต่เมื่อมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โอกาสที่จะเกิดการลดดอกเบี้ยก็ย่อมมีมากขึ้นหรือเร็วขึ้น

 

“เดิมที KKP ประเมินว่า หากมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต การหั่นดอกเบี้ยครั้งแรกอาจจะเกิดขึ้นกลางปี 2568 อย่างไรก็ดี ปัจจุบันคิดว่าการลดดอกเบี้ยอาจเกิดเร็วขึ้นได้ ภายในต้นปี 2568 แทนเนื่องจาก ธปท. อาจจะเริ่มมองว่าตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ แย่หลังไตรมาส 3-4 ของปีนี้” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

 

สำหรับประเด็นเรื่องแรงกดดันจากฝั่งการเมืองต่อ ธปท. ดร.พิพัฒน์ มองว่า มีแนวโน้มจะลดลงในยุคของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย

 

ดร.พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า กนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.5% ไปทั้งปีนี้ เนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ออกมายังสอดคล้องกับสิ่งที่ ธปท. ประเมินไว้ แม้มีสัญญาณความเสี่ยงขาลงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (Downside Risks) เช่น การลงทุนภาคเอกชน ซึ่งรวมไปถึงการสร้างบ้านและการบริโภคสินค้าคงทน อาทิ รถยนต์ปรับตัวลดลง และมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น

 

ทุกฝ่ายอยากเห็นคลัง-แบงก์ชาติร่วมมือกันเดินหน้าเศรษฐกิจ

 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า กนง. น่าจะมีการพูดคุยกันเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบ้าง เช่น ความล่าช้าของงบประมาณประจำปี 2568 ที่อาจทำให้เศรษฐกิจแผ่วช่วงปลายปี และโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่น่าจะมีการ Scale-Down ลง จึงอาจต้องมีการถกกัน แต่ปัจจัยเหล่านี้จะไม่ใช่องค์ประกอบหลักในการตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ย แต่จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

 

ส่วนเรื่องแรงกดดัน คาดว่าจะขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ เห็นได้จากช่วงที่ผ่านมา หลัง พิชัย ชุณหวชิร ขึ้นดำรงตำแหน่ง แรงกดดันก็ผ่อนคลายลง

 

ดร.อมรเทพ ยังกล่าวด้วยว่า มองต่อไปในระยะข้างหน้า ไม่มีใครอยากเห็นความขัดแย้ง แต่ทุกฝ่ายอยากเห็นการร่วมมือกันมากกว่า เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจต่อไป

 

SCB EIC เชื่อ กนง. จะลดดอกเบี้ยสิ้นปี เหตุเศรษฐกิจไทยกำลังเดินลงบันได

 

ดร.สมประวิณ กล่าวว่า เมื่อมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเดินลงบันได เนื่องจากแม้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมาแบบ QoQ ขยายตัว 1.2% แต่ในไตรมาสต่อไปๆ การขยายตัวแบบ QoQ อาจจะต่ำกว่า 1% หรือแผ่วลงเรื่อยๆ เนื่องจากปัญหาภายในและภายนอกประเทศ

 

“ตัวเลขการเติบโตแบบ QoQ จะสะท้อนโมเมนตัมว่า เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเราเดินเร็วขึ้นหรือช้าลง ขณะที่ตัวเลขการเติบโตแบบ YoY ยังมีปัจจัยเรื่องฐานเข้ามาด้วย ดังนั้นตัวเลขสูงไม่ได้บอกว่าเศรษฐกิจดี”

 

ดร.สมประวิณ ยังเชื่อด้วยว่าปัจจัยที่ช่วยเอื้อให้ ธปท. ลดอัตราดอกเบี้ยได้คือปัจจัยเชิงวัฏจักร ซึ่งจะมีผลกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยดูได้จากกำลังซื้อที่น่าจะอ่อนแรงเรื่อยๆ จากภาวะรายรับไม่พอรายจ่าย ซึ่งจะกดอุปสงค์ภายในประเทศ นอกจากนี้อุปสงค์จากต่างประเทศก็เริ่มแผ่วลงเรื่อยๆ เห็นได้จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกพ้นจุดสูงสุดแล้วและกำลังแผ่วลง เมื่อรวมกับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นทั่วโลกในระยะต่อไป สุดท้าย กนง. ก็จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงปลายปี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยตอนนั้นจะสะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลงไม่ใช่แค่จากปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่เป็นปัจจัยเชิงวัฏจักรด้วย

 

ttb ลุ้น กนง. ลดดอกเบี้ย 2 ครั้งปีนี้ เหตุทิศทางดอกเบี้ยโลกขาลง-หนี้ครัวเรือนรุมเร้า

 

นริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics ทีเอ็มบีธนชาต ประเมินว่า กนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.5% เนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ออกมายังสอดคล้องกับสิ่งที่ ธปท. ประเมินไว้ อย่างไรก็ดี ภายในสิ้นปีนี้นริศมองว่า กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ย 1-2 ครั้ง (0.25-0.50%) เนื่องมาจากแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยโลกอยู่ในช่วงขาลงและปัญหาหนี้ครัวเรือน

 

“ต้องจับตาการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยหาก Fed ลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนนี้ ก็อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยโลกกำลังเข้าสู่ช่วงขาลง ดังนั้นจึงต้องจับตาการประชุมในเดือนตุลาคมว่า กนง. จะนำปัจจัยดอกเบี้ยต่างประเทศเข้าไปพิจารณามากแค่ไหน” 

 

นริศกล่าวอีกว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากต้องการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ การลดดอกเบี้ยก็สามารถช่วยได้ เนื่องจากหากดอกเบี้ยลดลง เงินที่ประชาชนจ่ายหนี้เป็นงวดๆ ก็จะสามารถลดต้นได้มากขึ้น ทำให้จำนวนหนี้ลดลงได้ นอกจากนี้หากเศรษฐกิจไทยยังโตต่ำกว่าศักยภาพ การลดอัตราดอกเบี้ยลงอาจจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายไทยเหมาะสมกับศักยภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมากขึ้น

 

กสิกรมอง กนง. มีแนวโน้มลดดอกเบี้ย 1 ครั้งภายในปีนี้เพิ่มขึ้น

 

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในการประชุม กนง. วันที่ 21 สิงหาคม 2567 คาดว่า กนง. จะยังมีมติไม่เป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ต่อเนื่อง เนื่องจาก กนง. ส่งสัญญาณในการประชุมรอบที่แล้วว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ปรับดีขึ้น ขณะที่นโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพขยายตัวต่ำลง 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงให้น้ำหนักว่า กนง. จะตรึงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ไปตลอดทั้งปีนี้ แต่ก็มองความเป็นไปได้ที่ กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในไตรมาส 4/67 มีสูงขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่เคยคาดไว้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มยังอยู่ในระดับต่ำ

 

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยกับ THE STANDARD WEALTH หลังจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย GDP ไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 2.3% ว่า เนื่องจากตัวเลข GDP ล่าสุดออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ กสิกรไทยจึงให้น้ำหนักไปทางคงอัตราดอกเบี้ยไว้

 

วิจัยกรุงศรีคาด กนง. ตรึงดอกเบี้ยถึงสิ้นปี

 

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา วิจัยกรุงศรีคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ในการประชุมวันที่ 21 สิงหาคมที่จะถึงนี้ และมีแนวโน้มที่จะตรึงไว้ในช่วงที่เหลือของปี โดยมีปัจจัยหนุน ดังนี้

 

  • อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงไตรมาส 4

 

  • ธปท. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวเข้าสู่ระดับศักยภาพ และอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ประเมินไว้ (Outlook Dependent)

 

  • ธปท. กล่าวถึงความจำเป็นในการใช้นโยบายแบบเจาะจงเป้าหมาย (Targeted Policy) ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาคการผลิตที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างและเผชิญการแข่งขันจากต่างประเทศที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

 

“ความเห็นดังกล่าวบ่งชี้ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นนโยบายผ่อนคลายแบบวงกว้าง (Broad-Based Policy) จึงยังไม่น่าจะเป็นเครื่องมือหลักในการหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้”

 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising