×

ฉายวิสัยทัศน์นายกฯ ใหม่สิงคโปร์ ผ่านสุนทรพจน์วันชาติ ชูนโยบายส่งเสริมคุณภาพชีวิต จ้างงาน การศึกษา

20.08.2024
  • LOADING...
Lawrence Wong

ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของสิงคโปร์ กล่าวสุนทรพจน์ในวันชาติเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ชูแนวทางปรับปรุงนโยบายเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านต่างๆ ทั้งครอบครัว งาน ที่อยู่อาศัย และการศึกษา

 

โดยหว่องที่รับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เน้นย้ำว่าสิ่งสำคัญที่ประชาชนสิงคโปร์ทุกคนต้องการคือ ‘ความหวัง’ ที่จะได้รับโอกาสอันเท่าเทียม และสามารถมีชีวิตที่เจริญก้าวหน้าได้หากมีความพยายามและทำงานหนัก

 

เขาส่งข้อความที่เปรียบเหมือนคำมั่นสัญญาต่อประชาชนว่าจะ “รักษาความแข็งแกร่งและความสามัคคีของสิงคโปร์ และแบ่งปันผลประโยชน์จากความก้าวหน้า เพื่อยกระดับชาวสิงคโปร์ทุกคน ไม่ใช่แค่เพียงคนไม่กี่คน”

 

และนี่คือสรุปไฮไลต์ 8 นโยบายของผู้นำใหม่สิงคโปร์ ที่สะท้อนวิสัยทัศน์ในการมุ่งมั่นพัฒนาชีวิตประชาชน ท่ามกลางความท้าทายมากมายจากทั้งในและนอกประเทศ

 

เพิ่มวันลาเลี้ยงดูบุตร

 

หนึ่งในนโยบายที่หว่องให้ความสำคัญ และได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด คือนโยบายสนับสนุนครอบครัว

 

โดยภายใต้นโยบายเพิ่มวันลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรฉบับปรับปรุงใหม่ ทั้งพ่อและแม่จะได้รับสิทธิ์ลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรร่วมกันเป็น 30 สัปดาห์ หรือ 7.5 เดือน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 10 สัปดาห์ จากปัจจุบันที่ผู้เป็นพ่อสามารถลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้สูงสุด 4 สัปดาห์ และแม่ 16 สัปดาห์

 

ในช่วงแรก นโยบายจะเริ่มต้นด้วยการให้วันลาเพิ่ม 6 สัปดาห์ สำหรับพ่อและแม่ที่มีทารกที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2025 ก่อนจะเพิ่มเป็น 10 สัปดาห์ ในอีก 1 ปีถัดไป ขณะที่รัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณสำหรับการเพิ่มวันลาดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงนโยบายดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยผู้นำสิงคโปร์เชื่อว่านี่จะเป็นหนึ่งในแนวทางเพื่อกระตุ้นให้คู่สามีภรรยาในประเทศมีลูกมากขึ้น ท่ามกลางอัตราการมีบุตรของประชากรสิงคโปร์ที่ลดลงจาก 1.19 คนต่อผู้หญิง 1 คน ในปี 2013 เหลือเพียง 0.97 ในปี 2023 ซึ่งต่ำสุดในประวัติศาสตร์

 

นอกจากนี้ หว่องยังประกาศว่าจะให้การสนับสนุนเพิ่มเติมแก่ผู้ที่ต้องการมีลูกคนที่สาม หรือมีลูกเล็ก 3 คนขึ้นไป โดยจะมีการเปิดเผยรายละเอียดในปีงบประมาณ 2025

 

ขณะที่เขาเชื่อมั่นว่าการปรับปรุงดังกล่าวจะเป็นการ ‘รีเซ็ตนโยบายครั้งใหญ่’ ของสิงคโปร์ เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ทะเยอทะยาน ซึ่งจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน

 

สนับสนุนเงิน 6,000 ดอลลาร์ ช่วยคนหางาน

 

หว่องประกาศนโยบายเพื่อส่งเสริมและช่วยเหลือประชาชนในการหางาน โดยใช้ชื่อโครงการว่า SkillsFuture Jobseeker Support ซึ่งจะให้การสนับสนุนทางการเงินชั่วคราวแก่ผู้ที่ตกงานสูงสุดจำนวน 6,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 1.5 แสนบาท เป็นระยะเวลาสูงสุด 6 เดือน แต่ต้องเข้ารับการฝึกอบรมทักษะการทำงานต่างๆ ตลอดจนรับคำปรึกษาในการประกอบอาชีพ และเข้ารับการจับคู่ตำแหน่งงานต่างๆ

 

โดยโครงการ SkillsFuture Jobseeker Support จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2025 แต่ในปีงบประมาณ 2024 ชาวสิงคโปร์ทุกคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินช่วยเหลือสูงสุด 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 78,000 บาทต่อเดือน เมื่อเข้ารับการฝึกอบรมทักษะการทำงานแบบเต็มเวลา โดยเงินช่วยเหลือสูงสุดอยู่ที่ 24 เดือน รวมเป็นเงิน 72,000 ดอลลาร์สิงคโปร์

 

การสนับสนุนเงินช่วยเหลือคนหางานดังกล่าว เป็นความช่วยเหลือที่จับต้องได้ ซึ่งผู้นำสิงคโปร์มุ่งหวังที่จะช่วยเหลือกลุ่มคนตกงานที่มีรายได้น้อยและปานกลาง เปรียบเหมือนการสร้างตาข่ายนิรภัยชั่วคราว เพื่อช่วยคนที่ถูกเลิกจ้างให้สามารถพัฒนาทักษะของตนเองและกลับมามีงานทำได้ ขณะที่หว่องมองว่าสิ่งสำคัญคือประชาชนทุกคนต้องพยายามพัฒนาตนเอง

 

นอกเหนือจากนี้ ผู้นำสิงคโปร์ยังประกาศว่า เงิน 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ที่รัฐบาลประกาศจะแจกในโครงการ SkillsFuture Credit ก่อนหน้านี้ ได้ถูกโอนไปยังบัญชีของประชาชนสิงคโปร์ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และพร้อมให้นำไปใช้ได้ทันที

 

เงินอุดหนุนที่อยู่อาศัยสำหรับคู่รัก คนโสด และผู้สูงอายุ

 

อีกสิ่งสำคัญที่ผู้นำสิงคโปร์เล็งเห็นถึงความจำเป็นคือการช่วยให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคู่รัก คนโสด และผู้สูงอายุ ได้มีบ้านของตนเอง

 

โดยนโยบายเงินอุดหนุนที่อยู่อาศัย CPF ซึ่งจะช่วยอุดหนุนเงินแก่คู่รักที่มีรายได้น้อยในการซื้อบ้านหลังแรก เป็นจำนวนเงินสูงสุดถึง 80,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ จะได้รับการปรับเพิ่มมากขึ้นอีก

 

ส่วนคนโสดที่ยื่นซื้อห้องพักหรือแฟลตแบบ BTO (Build to Order) หรือแบบสร้างตามสั่ง จะได้รับสิทธิ์ในการซื้อแฟลตที่ใกล้กับบ้านของพ่อแม่ โดยเริ่มตั้งแต่กลางปี ​​2025 เป็นต้นไป ส่วนพ่อแม่และลูกที่แต่งงานแล้วที่กำลังจะซื้อห้องพักใหม่เพื่ออาศัยอยู่ใกล้ๆ กัน จะได้รับสิทธิ์ในการซื้อแฟลต BTO ก่อน

 

ปรับปรุงโครงการการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ

 

สำหรับนโยบายการศึกษา หว่องประกาศว่า โครงการการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ (GEP) ซึ่งเริ่มต้นในปี 1984 จนถึงปัจจุบัน จะถูกยกเลิก

 

โดยที่ผ่านมาจะมีเพียงโรงเรียนระดับประถมศึกษา 9 แห่งที่มีโครงการ GEP แต่ภายใต้นโยบายปรับปรุงใหม่ กำหนดให้โรงเรียนประถมศึกษาทั้งหมดต้องเตรียมพร้อมการเรียนการสอนสำหรับกลุ่มนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษ และส่งเสริมทักษะของพวกเขาในด้านที่เป็นจุดแข็งและมีความสนใจ ซึ่งหมายความว่ากลุ่มนักเรียนที่มีความสามารถสูงจำนวนมากจะได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่

 

ส่งเสริมการเรียนภาษาแม่ขั้นสูง

 

หว่องยังกล่าวสุนทรพจน์เน้นย้ำความสำคัญของภาษาแม่ อย่างภาษาจีนกลาง ภาษามาเลย์ และภาษาทมิฬ

 

โดยเขาสนับสนุนให้นักเรียนได้เรียนภาษาจีนขั้นสูง (HCL) มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันหากนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาต้องการเรียนภาษาจีนขั้นสูง จำเป็นต้องได้คะแนนสอบปลายภาคระดับประถมศึกษาถึงเกณฑ์ตามที่กำหนดจึงจะมีสิทธิ์เรียน

 

การปรับเปลี่ยนนโยบายนี้จะช่วยให้นักเรียนที่เรียนภาษาจีนได้ดีสามารถเรียน HCL ได้ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ขณะที่นักเรียนที่ต้องการเรียนภาษามาเลย์ขั้นสูงและภาษาทมิฬขั้นสูง ก็จะได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน

 

โดยหว่องกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งเสริมให้นักเรียนมีความสามารถทางด้านภาษาจีนมากขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะสนับสนุนการปลูกฝังความสามารถแบบสองภาษาในสิงคโปร์”

 

แผนแม่บท Kallang Alive

 

หว่องยังกล่าวถึงแม่บท Kallang Alive ซึ่งรวมถึงแผนสร้างสนามกีฬาในร่ม Kallang แห่งใหม่ที่จุคนได้ 18,000 คน โดยรัฐบาลสิงคโปร์ตั้งเป้าใช้จัดงานระดับชั้นนำมากขึ้น และใช้แทนที่สนามกีฬาในร่มเดิมที่มีอายุกว่า 35 ปี

 

ภายในสนามกีฬาในร่มแห่งใหม่นี้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับนักกีฬาทีมชาติสิงคโปร์ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและเวชศาสตร์การกีฬา และยังเป็นที่ตั้งศูนย์ฝึกระดับชาติสำหรับกีฬาประเภทสำคัญต่างๆ

 

ขณะที่สนามกีฬาในร่มแห่งใหม่นี้จะเป็นสถานที่สำหรับชาวสิงคโปร์ทุกคนในการเล่นกีฬา โดยมีถนนสายหลักผ่านสปอร์ตฮับไปถึงถนนคนเดินในชุมชน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬาต่างๆ

 

โดยผู้นำสิงคโปร์ตั้งเป้านอกจากจะใช้สนามกีฬาในร่มแห่งใหม่นี้เพื่อส่งเสริมนักกีฬาไปสู่ระดับโลก ยังตั้งเป้าให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านไลฟ์สไตล์สำหรับชาวสิงคโปร์ทุกคนเพื่อความสนุกสนานในการเล่นกีฬา อีกทั้งยังส่งเสริมความผูกพันในครอบครัวและทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรง

 

พัฒนาพื้นที่อาศัยริมน้ำ

 

หว่องยังเผยแผนพัฒนาพื้นที่อาศัยชั้นนำแนวชายฝั่งความยาว 120 กิโลเมตร ใน 5 จุดทางใต้ของสิงคโปร์

 

โดยในบางจุด เช่น เขตมารีน่าเซาท์และมารีน่าอีสต์ จะมีบ้านใหม่มากกว่า 10,000 หลัง และจะเป็นพื้นที่ที่ยั่งยืนและลดการใช้รถยนต์ โดยมีเส้นทางจักรยานและถนนที่เป็นมิตรต่อคนเดินเท้า และสะดวกในการเดินทางด้วยเครือข่ายรถไฟฟ้าใต้ดิน

 

ภายใต้แผนพัฒนาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าสิงคโปร์ยังมีพื้นที่ริมน้ำใหม่สำหรับใช้วางรากฐานเมืองแห่งอนาคต และสะท้อนถึงแนวทางของรัฐบาลสิงคโปร์ในการวางแผนชุมชนเมืองโดยมองไปข้างหน้า และเน้นที่ความยั่งยืน ความยืดหยุ่น และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย

 

สร้างวิทยาลัยอิสลามแห่งใหม่

 

อีกนโยบายที่ผู้นำสิงคโปร์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือด้านศาสนา ซึ่งจะมีการก่อตั้งวิทยาลัยอิสลามศึกษาแห่งใหม่ขึ้น

 

โดยหว่องยืนยันว่ารัฐบาลสนับสนุนความพยายามในการสร้างชุมชนชาวสิงคโปร์เชื้อสายมาเลย์และชาวมุสลิมที่ทันสมัยและก้าวหน้า ในขณะที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมและวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ไว้ พร้อมทั้งแสดงความมุ่งมั่นที่จะทำให้ทุกคนในชุมชนเหล่านี้ได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าของสิงคโปร์ และสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศได้

 

ภาพ: LawrenceWongST / Facebook

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising