×

The Influencer กะเทาะเปลือกอินฟลูเอ็นเซอร์เมื่อต้องออกจากเซฟโซน

19.08.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • The Influencer เปิดตัวด้วยการแนะนำผู้เข้าแข่งขันเด่นๆ ที่มีตั้งแต่ช่างทำผม ช่างแต่งหน้า นางแบบเซ็กซี่ แรปเปอร์ เกมเมอร์ ครูสอนฟิตเนส เชฟ หรือแม้กระทั่งหมอผี ซึ่งก็ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงในตลาดต่างประเทศของ Netflix เพราะคนดูนอกเกาหลีแทบไม่รู้จักคนพวกนั้นเลย โชคยังดีที่มีสองนักแสดงคือ คีอึนเซ และ จางกึนซอก มาดึงดูดความสนใจได้บ้าง
  • ความน่าสนใจของ The Influencer คือจะใช้อะไรเป็นมาตรวัดความสำเร็จก็ได้ ในเมื่ออินฟลูเอ็นเซอร์แต่ละคนก็เชี่ยวชาญคอนเทนต์ในรูปแบบของตัวเอง และคอนเทนต์ที่ดีหรือแย่ก็แล้วแต่คนจะมอง บทสรุปจึงไปอยู่ที่การได้รับความสนใจ ทำให้รายการมีเพียงกฎกติกาหลวมๆ ส่วนวิธีการก็ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน บอกได้เลยว่าเป็นกลยุทธ์ที่เราได้เห็นผ่านโลกออนไลน์แทบทั้งหมด แถมเพิ่มดีกรีให้เข้มข้นขึ้นไปอีก เมื่อคนที่เด่นอยู่แล้วยังอยากเด่นที่สุดในกลุ่ม

“เพื่อการเป็นจุดสนใจ คนเราไปได้สุดแค่ไหน?” นี่คือคำถามที่เกิดขึ้นในใจระหว่างดู The Influencer รายการแนวเซอร์ไววัลทาง Netflix ซึ่งรวบรวมเหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ 77 คนของเกาหลีใต้ให้เข้ามาอยู่ในเกมชิงเงินรางวัลสูงถึง 300 ล้านวอน หรือราว 7.7 ล้านบาท อย่างที่รู้กันว่าผู้ทรงอิทธิพลในโลกออนไลน์มีความหลากหลาย ทำให้ในเกมนี้มีคอนเทนต์สารพัดรูปแบบ ไม่ว่าคุณจะ Like หรือ Dislike ไม่สำคัญ ขอแค่ได้รับความสนใจเท่านั้นพอ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเกาหลีใต้ว่านี่คือความน่าอับอายระดับชาติเลยทีเดียว

 

 

เอาจริงๆ รายการนี้ก็ไม่ได้เลวร้าย ประเด็นส่วนใหญ่ที่ถูกโจมตีก็คือการขายเรือนร่างของอินฟลูสายเซ็กซี่ หากมองด้วยความยุติธรรมนั่นก็คือคอนเทนต์ของพวกเขา และถ้ามองอีกแง่นี่คือการเจาะลึกโลกของอินฟลูออนไลน์ที่มีอิทธิพลต่อผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าขับเคลื่อนด้วยอะไร

 

รายการเปิดตัวด้วยการแนะนำผู้เข้าแข่งขันเด่นๆ ที่มีตั้งแต่ช่างทำผม ช่างแต่งหน้า นางแบบเซ็กซี่ แรปเปอร์ เกมเมอร์ ครูสอนฟิตเนส เชฟ หรือแม้กระทั่งหมอผี ซึ่งก็ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงในตลาดต่างประเทศของ Netflix เพราะคนดูนอกเกาหลีแทบไม่รู้จักคนพวกนั้นเลย โชคยังดีที่มีสองนักแสดงคือ คีอึนเซ และ จางกึนซอก มาดึงดูดความสนใจได้บ้าง

 

 

สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือรายการนี้มีความเสียดสีเบาๆ โดยผู้เข้าแข่งขันต้องใส่ปลอกคอเหมือนหนัง Battle Royale แสดงจำนวนตัวเลขผู้ติดตามที่มีตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงยี่สิบล้านคน ซึ่งจะใช้ถูกคำนวณสัดส่วนเงินรางวัลติดตัวเหมือนการแบ่งชนชั้นกลายๆ ทั้งเสริมสร้างและสลาย ‘ความมั่น’ ของแต่ละคนไปด้วย โดยผู้ที่ตกรอบจะต้องมอบเงินรางวัลให้กับผู้ที่เหลืออยู่ จนกระทั่งถึงคนสุดท้ายที่จะได้เงินรางวัลทั้งหมดไปคนเดียว

 

ส่วนเกมแรกก็เหมือนพาทุกคนออกจากเซฟโซน จากที่เคยได้เอ็นเกจจากผู้ติดตาม ทางรายการก็มอบ 15 Likes และ 15 Dislikes ให้กับผู้เข้าแข่งขัน โดยไม่ได้บอกว่ามีผลอะไร แน่นอนว่าทุกคนไล่ล่ายอด Like จากความสนิทสนมส่วนตัวเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยการสกัดดาวรุ่งด้วยยอด Dislike ที่ไม่ได้เกิดจากความหมั่นไส้ แต่เป็นการวางกลยุทธ์ในเกมมากกว่า คนที่โดนส่วนใหญ่ก็มาจากข้อได้เปรียบของบางอย่าง เช่น จางกึนซอก ที่คนอื่นคิดว่าได้เปรียบเพราะเป็นคนดัง หรือ YouTuber คิดว่า TikToker มีผู้ติดตามมากกว่า ทั้งที่คุณภาพคอนเทนต์ด้อยกว่า รวมทั้งอยากกำจัดคนที่มีเงินรางวัลสูงๆ จะได้เอายอดมาเฉลี่ยกัน ฯลฯ

 

ความสนุกยังไม่จบแค่นั้น เมื่อทางรายการเปิดเวทีให้อินฟลูที่เต็มใจได้ขึ้นไปพรีเซนต์ตัวเอง ผลที่ตามมาส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ออกมาในเชิงบวก เข้าทำนองทำตัวเด่นจะเป็นภัย…ใดๆ แล้วก็ใช้ไม่ได้ในเกมนี้ เมื่อทุกอย่างเฉลยว่าการเดินสายกลางไม่ใช่คำตอบ แต่สปอตไลต์ต่างหากที่สำคัญที่สุดสำหรับ The Influencer

 

 

ความน่าสนใจของรายการนี้คือจะใช้อะไรเป็นมาตรวัดความสำเร็จก็ได้ ในเมื่ออินฟลูแต่ละคนก็เชี่ยวชาญคอนเทนต์ในรูปแบบของตัวเอง และคอนเทนต์ที่ดีหรือแย่ก็แล้วแต่คนจะมอง บทสรุปจึงไปอยู่ที่การได้รับความสนใจ ทำให้รายการมีเพียงกฎกติกาหลวมๆ ส่วนวิธีการก็ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน บอกได้เลยว่าเป็นกลยุทธ์ที่เราได้เห็นผ่านโลกออนไลน์แทบทั้งหมด แถมเพิ่มดีกรีให้เข้มข้นขึ้นไปอีก เมื่อคนที่เด่นอยู่แล้วยังอยากเด่นที่สุดในกลุ่ม

 

อีกส่วนก็คือการเฉลี่ยความได้เปรียบ-เสียเปรียบด้วยเกมหลายรูปแบบ เพราะอินฟลูมาจากหลากหลายแพลตฟอร์ม ทั้งวิดีโอสั้น วิดีโอยาว และภาพนิ่ง เราจึงได้เห็นเกมท้าทายทักษะเพื่อพิสูจน์ว่าแต่ละคนจะทำให้คนสนใจได้มากแค่ไหน อย่างเช่น การไลฟ์ ซึ่งต้องงัดกลยุทธ์ทุกอย่างรั้งผู้ชมไม่ให้หนีไปไหน ยิ่งเวลาผ่านไปนานก็เหมือนทุกคนหลังชนฝา จนต้องหาวิธีการพิลึกพิลั่นเข้าไปทุกที เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าคอนเทนต์ที่คนสนใจก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ที่ดีเสมอไป และกลายเป็นอีกประเด็นที่รายการนี้ถูกโจมตีอย่างหนักเหมือนกัน

 

Evoto

 

หรืออย่างในเกมภาพนิ่งที่ดูเหมือนง่าย แต่ท้าทายแนวคิดเรื่องการสื่อสารอย่างมาก เมื่อภาพที่ดึงดูดความสนใจอาจไม่ใช่ภาพที่สวยที่สุด แปลกที่สุด ถึงขั้นไม่จำเป็นต้องเป็นภาพถ่ายด้วยซ้ำไป แต่ต้องสื่อสารออกมาอย่างง่ายที่สุด ดึงดูดที่สุดต่างหาก ซึ่งความยากอยู่ตรงนี้ และก็เป็นอีกครั้งที่ได้เห็นเหล่าอินฟลูงัดทุกอย่างของตัวเองมาใช้ประโยชน์

 

อย่างเช่น จางกึนซอก ซึ่งถูกมองว่าได้เปรียบจากชื่อเสียงในวงการบันเทิง แต่เอาเข้าจริงๆ ในรายการนี้เขาเป็นเพียงผู้เล่นที่อ่อนด้อยกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ เพราะเพิ่งก้าวเข้ามาทำคอนเทนต์ออนไลน์ ส่วนงานในวงการบันเทิงก็ห่างหายไปนาน ขณะเดียวกันก็เป็นข้อได้เปรียบ เพราะสลัดภาพลักษณ์ความเป็นดาราไปบางส่วนแล้ว ทำให้เขากล้าทำอะไรนอกกรอบกว่าเพื่อนดาราอย่าง คีอึนเซ อีกอย่างคือทนต่อแรงเสียดทานต่อคอมเมนต์ลบๆ และรู้จักบริหารชื่อเสียงตัวเองแล้วก็ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ในเกมภาพนิ่งนี้

 

 

ยิ่งเข้ารอบลึกขึ้นเท่าไร The Influencer ก็ยิ่งท้าทายโลกของผู้ทรงอิทธิพลออนไลน์มากขึ้นเท่านั้น เราได้เห็นอินฟลูหลายคนอยู่ดีๆ ก็เป็นคน ‘ไม่มีคอนเทนต์’ เมื่อหลุดจากกรอบที่ตัวเองคุ้นเคย และได้อีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าความซื่อสัตย์ต่อฐานแฟนคลับของตัวเอง แม้จะไม่หวือหวาแต่ก็มั่นคง อย่างเช่น กรณีของอินฟลูด้านบิวตี้ อีซาแบ ซึ่งแตกต่างจากการวางกลยุทธ์แพรวพราวของ จีซูจาง ในรอบสุดท้ายของการแข่งขัน

 

จริงๆ แล้ว The Influencer เต็มไปด้วยประเด็นดราม่าอีกมากมาย แต่ก็ทะลุทะลวงไปขึ้นอันดับ 1 ของ Netflix เกาหลีใต้ แถมยังคว้าอันดับ 4 ของรายการที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษของ Netflix ทั่วโลกได้อีกต่างหาก ณ จุดนี้เราไม่พูดเรื่องความดี-ไม่ดี แต่ The Influencer ก็เป็นไปตามรูปแบบของรายการ คือไม่ว่าคุณจะ Like หรือ Dislike ไม่สำคัญ ขอแค่ได้รับความสนใจเท่านั้นพอ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising