×

เอกชนไทยประสานเสียง ‘เปลี่ยนนายกฯ ทำนโยบายขาดความต่อเนื่อง’ แนะเร่งตั้ง ครม. ใหม่โดยเร็ว

16.08.2024
  • LOADING...
นายก

ภาคเอกชนไทยมอง เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีใหม่อาจทำนโยบายขาดความต่อเนื่อง หวังจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่เร็วที่สุด เพื่อดึงความเชื่อมั่นต่างชาติ ด้านประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุ รอได้มากที่สุด 1 เดือน

 

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 เสียง สั่งถอดถอน เศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ยอมรับว่าผลการตัดสินนั้นออกมาผิดคาดจากที่ภาคเอกชนประเมินไว้

 

ในฐานะภาคเอกชนมีความกังวลถึงความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ และด้านต่างๆ จะขาดความต่อเนื่องของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันประเทศกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจในหลายประเด็น ทั้งปัญหาการขยายตัวด้านเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) ในระดับต่ำ และปัญหาสถานการณ์หนี้ในประเทศที่สูง

 

โดยเฉพาะหนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ SMEs ที่อยู่ในภาวะน่ากังวล อีกทั้งสถาบันการเงินยังมีความเข้มงวดในการปล่อยกู้เพิ่มมากขึ้น และยังมีปัญหาความเชื่อมั่นในภาคตลาดทุน ส่งผลให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีอันดับเครดิตเรตติ้งไม่ดีระดมทุนผ่านตลาดหุ้นและหุ้นกู้เพื่อนำไปขยายธุรกิจได้ยากขึ้น

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

“การวางแผนนโยบายของประเทศควรวางแผนในระยะยาวและมีความต่อเนื่องในการดึงนักลงทุนต่างชาติ และการวาง Strategy ต่างๆ เพราะตอนนี้การดึงนักลงทุนต่างชาติกำลังมีการแข่งขันที่สูง และธุรกิจไทยจะรับมืออย่างไรกับธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาในประเทศ”

 

จรีพรกล่าวต่อว่า เมื่อการเมืองเป็นเช่นนี้ จึงมีมุมมองว่าการขาดความต่อเนื่องของนโยบายถือเป็นความเสี่ยงสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาวในการขับเคลื่อน รวมถึงยังเสียโอกาสในการสร้างความแข็งแรงด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรม EV ที่สามารถขยายตัวได้ดีในไทย เพราะได้อานิสงส์เก่าจากฐานอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์สันดาป รวมถึงฐานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิมของประเทศไทยที่มีความแข็งแกร่ง

 

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยยังได้รับประโยชน์จากการเกิดสงครามการค้า (Trade War) ส่งผลให้มีอุตสาหกรรมต่างชาติกระจายการลงทุนเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น

 

ดังนั้นปัจจุบันถือเป็นช่วงสำคัญของประเทศไทยว่าจะใช้โอกาสดังกล่าวในการวางแผนนโยบายเพื่อสร้างธุรกิจต่อเนื่องหรือเชื่อมต่อ (Connectivity) ธุรกิจที่มีอยู่อย่างไรเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับภาพรวมของประเทศ

 

“หลังผลคำวินิจฉัยดังกล่าว บริษัทได้ติดต่อไปยังกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่เตรียมรอเซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัท เพื่อสอบถามข้อมูลว่ามีความกังวลอย่างไร รวมถึงชี้แจงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา”

 

ลูกค้าต่างชาติไม่หวั่นหากรัฐบาลยังให้สิทธิประโยชน์ตามแผนที่เคยวางไว้

 

ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับลูกค้าต่างชาติพบว่า ยังไม่มีความกังวลในสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในไทย หากรัฐบาลยังคงให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนต่างๆ หรือมี Incentives เช่นเดิมตามที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ ก็พร้อมจะเข้าลงทุนตามแผนงานที่ได้วางไว้ ดังนั้นจึงคาดว่าปัจจัยการเมืองจะยังไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

 

อย่างไรก็ดี ในฐานะภาคเอกชนมีความเห็นว่าควรเร่งดำเนินการสรรหาบุคคลที่มีความพร้อมจะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และตั้ง ครม. ชุดใหม่เพื่อเข้ามาบริหารประเทศโดยเร็วที่สุด เพื่อให้การดำเนินนโยบายต่างๆ มีความต่อเนื่อง รวมทั้งมีนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ดีเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติ อีกทั้งมีการกระตุ้นการลงทุนเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ให้มีเม็ดเงินออกมาสู่ระบบโดยเร็ว และเตรียมความพร้อมสำหรับแผนการใช้งบประมาณปี 2568 เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

 

ด้าน พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า จริงๆ แล้วตอนนี้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชนน่าเป็นห่วงอย่างมาก ในสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ น่ากังวลว่าหากยังเกิดสุญญากาศ อาจทำให้โครงการหลายๆ อย่างล่าช้าออกไป อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดหอการค้าไทยอยากเห็นการเมืองที่กลับมาเดินหน้าอย่างมีเสถียรภาพโดยเร็วที่สุด เพราะต้องยอมรับว่าปัญหาปากท้องของประชาชนเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว

 

เมื่อถามว่าในวันนี้ (16 สิงหาคม) จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรีคนใหม่มองอย่างไรนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ขอให้ฝ่ายการเมืองโดยระบบรัฐสภาเร่งช่วยกันดำเนินงานตามกระบวนการของประชาธิปไตย เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาสู่การมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศให้เติบโตได้ตามศักยภาพ

 

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เหลือวาระอีก 1 ปี ตามธรรมเนียมปฏิบัติจะมีการประกาศแคนดิเดตที่จะเสนอตัวเป็นประธานคนใหม่ล่วงหน้า 1 ปี เพื่อให้มีการเตรียมตัว สนั่นได้เสนอชื่อ ‘พจน์ อร่ามวัฒนานนท์’ มารับไม้ต่อในปีหน้า 2568

 

ขณะที่มุมมองของ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. ระบุว่า เราต้องการการเมืองที่มีเสถียรภาพ หรือว่ามีความนิ่งและต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาขาดความต่อเนื่องมานาน การเปลี่ยนขั้วพรรคการเมืองตลอดเวลาจะทำให้นโยบายที่รัฐบาลเคยขับเคลื่อนนั้นหยุดชะงักไป การเมืองเป็นเช่นนี้ นักลงทุนรอดูกันอยู่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ที่สำคัญสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาในไทยยังเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงมาก ฉะนั้นอยากให้มีการจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วสุด รอได้มากสุด 1 เดือน

 

“นักลงทุนต่างประเทศ ฝั่งสหรัฐอเมริกา ยุโรป อาจจะให้น้ำหนักในเรื่องนี้มาก เรียกว่าซีเรียสเลยก็ว่าได้ ทำให้มีนักธุรกิจหลายรายต้องการความชัดเจนและพูดคุยสอบถามกับ ส.อ.ท. ตลอดเวลา แต่นักลงทุนในโซนเอเชียอย่างนักลงทุนจากญี่ปุ่น ที่ถือว่าเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของไทย และอยู่ในประเทศมา 40-50 ปี ก็อาจจะเริ่มเรียนรู้และสามารถปรับตัวได้” เกรียงไกรกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising