×

ยื่นแก้กฎหมายคุ้มครองผู้รับบริการทางจิตวิทยา หยุดการละเมิดทางเพศจากนักจิตบำบัด

โดย THE STANDARD TEAM
15.08.2024
  • LOADING...
Safe Zone Project

สืบเนื่องจากวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา ตัวแทนกลุ่มขับเคลื่อนกฎหมายคุ้มครองผู้รับบริการทางจิตวิทยาการปรึกษาได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้รับบริการทางจิตวิทยาการปรึกษา โดยมี กัลยพัชร รจิตโรจน์ รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข คนที่ 1, สิริลภัส กองตระการ โฆษก กมธ.การสาธารณสุข และคณะ เป็นผู้รับมอบหนังสือ

 

ลินินา พุทธิธาร ตัวแทนกลุ่มผู้เรียกร้อง ผู้ก่อตั้ง Safe Zone Project เพื่อช่วยเหลือผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ, ผู้ร่วมก่อตั้งและดำเนินรายการ WiTcast, ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรม องค์การยูเนสโก และอาจารย์พิเศษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เรียกร้องให้ กมธ.การสาธารณสุข พิจารณาปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้รับบริการทางจิตวิทยา

 

การละเมิดทางเพศในวงการจิตวิทยา

ปัจจุบันพบว่ามีผู้ถูกนักจิตวิทยาล่วงละเมิดทางเพศ โดยนักจิตวิทยาอาศัยความไว้วางใจและสภาวะเปราะบางของผู้รับบริการในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ ใช้อำนาจและอิทธิพลเหนือผู้รับบริการเพื่อตอบสนองความใคร่ของตนเอง การกระทำนี้สร้างความเสียหายร้ายแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่ผู้เสียหายไม่สามารถรับความช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ เพราะสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพจิตบางสาขา เช่น จิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychology) ยังไม่ถูกบรรจุเป็นสาขาหนึ่งภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 การล่วงละเมิดจึงเกิดในห้องปรึกษาโดยไม่มีพยานรู้เห็น และเมื่อเหยื่อได้รับความเสียหายแล้วก็ไม่สามารถร้องเรียนกับสมาคมต้นสังกัดหรือหน่วยงานด้านกฎหมายได้ เพราะประเทศไทยยังขาดโครงสร้างและกฎหมายที่ชัดเจน

 

ดังนั้นกลุ่มผู้เรียกร้องจากหลากหลายวิชาชีพและภาคส่วนจำนวน 285 คน จึงรวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของปัญหานี้ และผลักดันให้ปรับปรุงมาตรฐานและจรรยาบรรณด้านวิชาชีพอย่างเร่งด่วน

 

ในปัจจุบันมีผู้เลือกใช้บริการคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพใจ และไม่ตีตราเหมือนในอดีต อย่างไรก็ตาม ยังขาดมาตรฐานที่จะช่วยคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนที่รับบริการอยู่ เช่น การควบคุมมาตรฐานทางวิชาชีพ การตรวจสอบคุณภาพบริการ กฎหมายและระเบียบในการจัดการกับผู้ที่ละเมิดจรรยาบรรณ ทำให้นักจิตวิทยาหรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตที่ไร้จรรยาบรรณสามารถใช้ทักษะทางจิตวิทยาในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ การเงิน การบงการจิตใจให้ทำสิ่งอันตราย หรือการให้บริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งทำให้เกิดอันตรายมากขึ้น

 

 

แนวทางการแก้ไขปัญหาและการดำเนินการ

 

จากการศึกษาเปรียบเทียบกับหน่วยงานด้านสุขภาพจิตในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร พบว่ามีมาตรการทางกฎหมายและจริยธรรมที่ชัดเจนสำหรับนักจิตวิทยาทุกสาขา รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะ เพื่อดำเนินการกับนักจิตวิทยาที่ล่วงละเมิดทางเพศ

 

เมื่อกลับมามองที่มาตรการของไทยพบว่ายังขาดมาตรการทางกฎหมายและแนวทางดำเนินการที่ชัดเจน มีช่องว่างทางกฎหมายในการกำกับดูแลและคุ้มครองผู้รับบริการจากนักจิตวิทยาการปรึกษา เนื่องจากผู้ให้บริการสาขานี้ยังไม่ได้รับการบรรจุรวมอยู่ภายใต้ พรบ.การประกอบโรคศิลปะ ซึ่งต่างจากผู้ให้บริการทางสุขภาพจิตอื่นๆ เช่น นักจิตวิทยาคลินิกที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมายดังกล่าว

 

ส่งผลให้นักจิตวิทยาการปรึกษาประกอบโรคศิลปะโดยไม่มีใบอนุญาต และไม่มีการควบคุมมาตรฐานการให้บริการ ทำให้ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของนักจิตวิทยา และเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้รับบริการรายใหม่จากการถูกแสวงหาผลประโยชน์ในลักษณะเดียวกัน

 

สมาคมจิตวิทยาในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสาขาจิตวิทยาหรือสุขภาพจิตใดก็ตาม รวมถึงหลักสูตรด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก กำหนดให้นักวิชาชีพรักษาขอบเขตของการให้บริการ และไม่ให้มีความสัมพันธ์ทางเพศหรือเชิงชู้สาวกับผู้รับบริการ นักวิชาชีพจะต้องรักษาขอบเขตของการให้บริการอย่างเคร่งครัด

 

การละเมิดทางเพศในวงการจิตวิทยาจึงเป็นการผิดจรรยาบรรณขั้นร้ายแรงที่สุดประเภทหนึ่ง เนื่องจากผู้รับบริการกำลังอยู่ในสภาวะเปราะบาง ต้องการที่พึ่งและความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดที่ใช้สิทธิพิเศษทางอาชีพที่มาพร้อมกับอำนาจเหนือและความไว้วางใจในการสนองความต้องการของตัวเอง จึงสามารถโดนดำเนินการลงโทษทางวิชาชีพหรือกฎหมายได้ในหลายประเทศ

 

 

ผลกระทบต่อผู้เสียหายและสังคม

 

ผู้ที่เคยถูกละเมิดโดยนักจิตวิทยาของตนอาจสูญเสียความเชื่อมั่นและความหวังในการใช้ชีวิต ส่งผลให้พวกเขาไม่ไว้วางใจในกระบวนการรักษาทางจิตวิทยาอีกต่อไป และมักปฏิเสธการรับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญรายอื่น แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นจะยึดมั่นในจรรยาบรรณอย่างเคร่งครัดก็ตาม สิ่งนี้อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหรือปัญหาทางจิตใจที่รุนแรงขึ้น ผลกระทบนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อผู้รับบริการเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงคนใกล้ชิดของผู้เสียหายด้วย ในขณะเดียวกันผู้ให้บริการที่ยึดมั่นในจรรยาบรรณก็อาจได้รับผลกระทบจากการขาดความไว้วางใจนี้ ทำให้พวกเขาไม่สามารถทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างเต็มที่

 

หากประเทศไทยไม่เร่งแก้ไขปัญหานี้ สังคมอาจสูญเสียความเชื่อมั่นในระบบบริการสุขภาพจิต และการพบนักวิชาชีพด้านนี้อาจกลับมาถูกตีตราว่าเป็นเรื่องน่ากลัว ซึ่งขัดแย้งกับความพยายามในการส่งเสริมสุขภาพจิตในปัจจุบัน ปัญหานี้อาจพัฒนาเป็นปัญหาระดับชาติได้

 

การเรียกร้องความคุ้มครองทางกฎหมาย

 

ตัวแทนกลุ่มผู้เรียกร้องจึงยื่นหนังสือพร้อมข้อเสนอแนะ 4 แนวทางเพื่อแก้ไขเรื่องดังกล่าว ได้แก่

 

  1. พิจารณาบรรจุจิตวิทยาการปรึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบโรคศิลปะตาม พรบ.การประกอบโรคศิลปะ และระบุขอบเขตหน้าที่การให้บริการของนักวิชาชีพด้านสุขภาพจิตสาขาต่างๆ อย่างชัดเจน
  2. ทบทวนและปรับปรุงระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2559 โดยเพิ่มข้อห้ามและบทลงโทษเกี่ยวกับการละเมิดทางเพศ
  3. พิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการส่วนกลางหรือหน่วยงานเฉพาะ เพื่อรับเรื่องร้องเรียนและดำเนินการตรวจสอบ กรณีการละเมิดกฎหมายและจรรยาบรรณของนักจิตวิทยาทุกสาขา
  4. กำหนดให้ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตต้องแจ้งสิทธิ์ของผู้รับบริการตามระเบียบจรรยาบรรณ และจัดแสดงช่องทางร้องเรียนอย่างชัดเจนในสถานบริการ และ/หรือเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ

 

นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานและกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือและกำหนดแนวทางในการยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางสุขภาพจิตในประเทศไทย

 

 

สรุปผลการประชุมล่าสุดกับ กมธ.การสาธารณสุข

 

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา กมธ.การสาธารณสุข ได้เชิญลินินาเข้าพบ เพื่อหารือถึงปัญหาและข้อเสนอแนะดังกล่าว

 

ในการประชุม ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ ตัวแทนสมาคมจิตวิทยาการปรึกษาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมกำลังออกใบรับรองคุณวุฒินักจิตวิทยาการปรึกษา ซึ่งจะมีการอบรมและสอบในเดือนสิงหาคมนี้ แม้ใบรับรองนี้ยังไม่ถือเป็นใบประกอบวิชาชีพที่มีผลทางกฎหมาย แต่ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนามาตรฐานและการดำเนินการภายในสมาคม

 

ในการหารือยังได้พูดถึงระเบียบจรรยาบรรณของสมาคมที่คณะกรรมการเพิ่งอนุมัติในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นที่น่ากังวล เช่น การอนุญาตให้ผู้ปกครองหรือคู่สมรสให้ความยินยอมแทนเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งอาจสวนทางกับความพยายามในการส่งเสริมสิทธิของเยาวชน โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ปกครองอาจเป็นผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็กเอง ข้อกำหนดนี้อาจลดทอนผลสำเร็จของการแก้ไขมาตรา 21 ในพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ที่เปิดโอกาสให้เด็กเข้าถึงบริการจิตแพทย์ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง

 

 

นอกจากนี้ ระเบียบจรรยาบรรณที่กำหนดให้นักจิตวิทยาการปรึกษาที่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่านักจิตวิทยาการปรึกษาคนใดกำลังละเมิดจรรยาบรรณ แต่ยังไม่ถึงขั้นร้ายแรง ให้พยายามแก้ปัญหาอย่างไม่เป็นทางการ โดยไม่ละเมิดสิทธิ์หรือละเมิดการรักษาความลับของนักจิตวิทยาการปรึกษาที่ได้กระทำผิด ข้อนี้เป็นประเด็นที่น่าสงสัยและทำให้หลายคนเกิดคำถาม เนื่องจากอาจมีผลต่อการปกป้องผู้กระทำผิด และทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

กมธ.การสาธารณสุข เห็นว่าปัญหานี้เป็นเรื่องเร่งด่วน จำเป็นต้องบรรจุจิตวิทยาการปรึกษาใน พรบ.การประกอบโรคศิลปะ และกำหนดมาตรฐานวิชาชีพที่ชัดเจนร่วมกับมหาวิทยาลัยและกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ ยังเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานกลางในการรับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบการละเมิดจรรยาบรรณ

 

ในส่วนของการปรับปรุงระเบียบและการกำกับดูแลทางกฎหมาย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเสนอแนวทางในการจัดทำร่าง พรบ.สภาวิชาชีพจิตวิทยา หรือการเพิ่มสาขาในกฎหมายประกอบโรคศิลปะ กมธ.การสาธารณสุข ยังเสนอให้คณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะพิจารณาเสนอต่อรัฐมนตรีให้เพิ่มสาขา โดยเพิ่มข้อมูลทางวิชาการ เพื่อความชัดเจนในการกำกับดูแล

 

กลุ่มผู้เรียกร้องคาดหวังว่าจะมีการจัดตั้ง กมธ.วิสามัญ หรืออนุ กมธ.การสาธารณสุข เพื่อพิจารณาประเด็นนี้โดยเฉพาะ และหวังว่าจะได้มีส่วนร่วมในการทำงานของ กมธ. เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนและผู้เสียหาย เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X