×

คนรุ่นใหม่ก็ต้องการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม

โดย Heritage Matters
10.08.2024
  • LOADING...
ศาลเจ้าแม่ทับทิม

ประเทศไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไม่แพ้ชาติใดในโลก ทว่าปัจจุบันนี้ความแตกต่างหลากหลายที่มีอยู่ในชุมชนต่างๆ กำลังปลาสนาการไป

 

แน่ละ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีส่วนสำคัญในการทำลายโบราณสถานและชุมชน แต่ใครเล่าให้สิทธิพวกเขาแต่แรก ทำไมกลายเป็นว่าคนธรรมดาอย่างเราๆ จึงต้องเป็นฝ่ายคอยอ้อนวอนขอให้นายทุนเก็บสมบัติทางวัฒนธรรมของเราอยู่เรื่อยไป

 

ปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรมคือการละเลยหน้าที่ของภาครัฐและนักการเมือง ซึ่งมองข้ามคุณค่าทางวัฒนธรรมอันรุ่มรวยของชุมชนต่างๆ และละเลยหน้าที่ในการปกป้องดูแล ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สมาชิกสภานิติบัญญัติและเจ้าพนักงานรัฐจะต้องไม่นิ่งดูดาย และต้องแก้ไขกฎหมายอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้สมสมัยอย่างเร่งด่วน

 

ภาพจากภาพยนตร์สารคดี The Last Breath of Sam Yan

 

การค่อยๆ เลือนหายไปของมรดกทางวัฒนธรรมในชุมชนสามย่านเป็นหนึ่งในตัวอย่างรูปธรรมที่ชี้ชัดปัญหานี้ ย้อนกลับไปไม่ถึง 20 ปี หากมองจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ จะพบว่าพื้นที่บริเวณรายล้อมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘ชุมชนสามย่าน’ เต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา ศาสนสถาน โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลน (Stand-Alone) อย่างลิโด้และสกาลา สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ล้วนเผยให้เห็นการปฏิสัมพันธ์และวัฒนธรรมชุมชนของผู้คนในพื้นที่ ศาสนสถานที่ตั้งอยู่กลางชุมชนจะคึกคักตลอดช่วงงานเทศกาลประจำปี ขณะที่โรงภาพยนตร์ก็เป็นสถานที่ยอดนิยมของคนหนุ่มสาวสำหรับพักผ่อนในเวลาว่าง และเป็นตัวเลือกสำคัญในการออกเดต โรงเรียนบริเวณนี้ไม่ได้มีแค่โรงเรียนชั้นนำชื่อดังของไทยอย่างเตรียมอุดมศึกษา, สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน แต่ยังมีโรงเรียนสวนหลวงและโรงเรียนอื่นๆ ที่ก่อตั้งพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ โรงเรียนเหล่านี้เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของลูกหลานคนจีนและบุคลากรจุฬาฯ มาหลายชั่วคน 

 

ศาลเจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้าแม่ทับทิม

ภาพจากภาพยนตร์สารคดี The Last Breath of Sam Yan

 

น่าตกใจว่าภายในช่วง 10 ปี ชุมชนสามย่านภายใต้การบริหารของจุฬาฯ ถูกปรับเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ สถานที่ที่มีชีวิตชีวาเหล่านี้ส่วนใหญ่ปลาสนาการไปสิ้น ชุมชนที่เคยรายล้อมบ้างก็ถูกรื้อถอน บ้างก็ถูกขึ้นค่าเช่าจนอยู่ต่อไม่ได้ ศาลเจ้าหลายแห่งถูกทุบทำลาย โรงเรียนของชุมชนถูกแทนที่กลายเป็นคอนโดมิเนียมสูงและห้างสรรพสินค้า ตลาดสามย่านที่ยิ่งใหญ่เด่นสง่าอยู่หน้าถนนใหญ่ก็ถูกย้ายหลบไปในหลืบซอย 

 

ในระยะ 5 ปีให้หลัง การทำลายอัตลักษณ์ของชุมชนสามย่านยิ่งปรากฏชัดขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากกรณีโรงภาพยนตร์สกาลา ซึ่งเป็นผลงานออกแบบของ จิระ ศิลป์กนก ที่ได้รับรางวัลการอนุรักษ์ศิลปกรรมดีเด่นในเวลาต่อมา หลังจากที่จุฬาฯ มอบสัมปทานปรับปรุงพื้นที่ให้กับผู้ประมูลรายใหม่ได้ไม่ถึงครึ่งปี โรงภาพยนตร์สกาลาซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนที่สวยงามและยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ถูกทุบทำลายเพื่อเตรียมพัฒนาเป็นห้างสรรพสินค้าสูงหลายสิบชั้น แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีเสียงทักท้วงจากทั้งภาคประชาชนและผู้เชี่ยวชาญว่า จุฬาฯ ควรทำสัญญากับเอกชนที่จะมารับสัมปทานให้อนุรักษ์อาคารนี้ไว้ แต่ฝ่ายบริหารของจุฬาฯ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในขณะนั้นแสดงความเห็นว่า มหาวิทยาลัยมองว่าโรงภาพยนตร์สกาลาเป็นสิ่งก่อสร้างธรรมดาที่ไม่ได้รับการรับรองเป็นโบราณสถาน จึงไม่มีคุณค่าคู่ควรแก่การอนุรักษ์

 

ภาพจากภาพยนตร์สารคดี The Last Breath of Sam Yan

 

คุณค่าของมรดกวัฒนธรรมในสายตาคนรุ่นใหม่

 

ปัจจุบันหากมองจากภาพถ่ายทางอากาศก็จะพบเพียงศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองที่ตั้งโดดๆ อยู่ท่ามกลางไซต์ก่อสร้าง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นชุมชนเซียงกง ชุมชนชาวจีนที่ใหญ่เป็นอันดับสอง ซึ่งขยายตัวออกมาจากเยาวราช ศาลเจ้าเก่าแก่แห่งนี้เป็นประจักษ์พยานของชุมชนชาวจีนโพ้นทะเล และมีประวัติที่สืบย้อนได้กว่า 150 ปี โดยเมื่อคราวงานพระบรมศพรัชกาลที่ 5 ได้รับพระราชทานกระถางธูปสังเค็ดจากรัชกาลที่ 6 ซึ่งก็เป็นอีกหลักฐานช่วยยืนยันได้ว่าศาลเจ้านี้เคยเป็นหนึ่งในศาลเจ้าสำคัญของกรุงเทพฯ นอกจากนี้ คนในชุมชนและบุคลากรรุ่นเก่าของจุฬาฯ ก็ต่างยังจำกันได้ดีว่างานเทศกาลประจำปีของที่นี่จะมีงานแสดงงิ้วประชันกันที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการเล่นประชันกันระหว่างคณะงิ้วชื่อดังสองคณะ 

 

แม้ว่าศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองจะมีความสำคัญทั้งทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ แต่สถานที่แห่งนี้ไม่ได้รับความปรานีไม่ต่างกับบริเวณอื่นๆ ในสามย่าน จุฬาฯ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ได้ขอคืนพื้นที่ในปี 2563 เพื่อนำไปสร้างคอนโดมิเนียมและห้างสรรพสินค้า รวมถึงฟ้องร้องขับไล่ผู้ดูแลศาลเจ้าด้วยการเรียกค่าเสียหายกว่า 120 ล้านบาท

 

ขณะนี้ กรณีการต่อสู้ของศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองยังไม่จบลง เราจึงยังสรุปได้ไม่แน่ชัดว่าจะปรากฏเป็นความพ่ายแพ้หรือชัยชนะ แต่ก็นับเป็นเรื่องปาฏิหาริย์อย่างยิ่งที่ศาลเจ้าแห่งนี้ยืนหยัดต่อสู้คดีความในชั้นศาลเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากขบวนการภาคประชาชน นิสิต-นักศึกษาทั้งจากจุฬาฯ และมหาวิทยาลัยอื่น และผู้สนใจในวัฒนธรรมอย่างล้นหลาม ดังที่เห็นได้จากสารคดี The Last Breath of Sam Yan และปรากฏการณ์การพูดถึงความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้านี้ใน X โดยในปีที่ผ่านมา ศาลเจ้าแห่งนี้ก็ติดอันดับศาลเจ้าที่คนหนุ่มสาวนิยมมาขอพรสักการะมากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และเนื้อหาเกี่ยวกับศาลเจ้าก็ได้รับการรีโพสต์เป็นหมื่นครั้ง

 

ทำไมคนรุ่นใหม่อย่างมิลเลนเนียลและ Gen Z ถึงรักศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง สำหรับพวกเราจำนวนมาก ศาลเจ้านี้บอกถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมของเรา ในโลกโลกาภิวัตน์ที่ตึกสูงๆ หน้าตาเหมือนกันหมด ศาลเจ้านี้แตกต่างออกไป โดยยังคงจิตวิญญาณของเมืองเก่าที่ครั้งหนึ่งเราเคยใช้ชีวิตอยู่ และอยากให้ยังคงอยู่ต่อไป 

 

การพัฒนาสามย่านที่จุฬาฯ กำลังทำอยู่นี้อาจสร้างกำไรให้มหาวิทยาลัยได้รวดเร็วก็จริง แต่อาจไม่ใช่วิธีที่คุ้มค่าและยั่งยืนเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องแลกกับการสูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมมหาศาลของสามย่าน ซึ่งประเมินคุณค่าไม่ได้ 

 

ศาลเจ้าแม่ทับทิม

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา / THE STANDARD

 

ปรากฏการณ์นี้แพร่หลายทั่วสังคม

 

ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองไม่ได้เป็นสถานที่ที่มีคุณค่าเชิงวัฒนธรรมเพียงแห่งเดียวที่จะถูกทำลาย กรณีป้อมมหากาฬก็ดี กรณีโบราณสถานที่วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารก็ดี ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงการละเลยของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าของที่ดินต่อการอนุรักษ์

 

ข้อเท็จจริงนี้สอดคล้องกับที่ ยงธนิศร์ พิมลเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมให้ความเห็นไว้ว่า เครื่องมือการอนุรักษ์ในประเทศขณะนี้มีเพียงอย่างเดียวคือ พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งกำกับดูแลได้เฉพาะมรดกวัฒนธรรมบางส่วน โดยเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน แต่ไม่ครอบคลุมแหล่งมรดกทั้งหมด โดยเฉพาะมรดกของท้องถิ่นและชุมชน ทำให้เกิดความคลุมเครือและล้าสมัยไปแล้ว หน่วยงานที่ได้รับหน้าที่กำกับดูแลงานอนุรักษ์คือกรมศิลปากร 

 

แม้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวจะกำหนดนิยามโบราณสถานไว้โดยกว้าง แต่ก็ไม่แน่ชัดว่านิยามหมายถึงอะไรกันแน่ ฉะนั้น แม้ใน พ.ร.บ. จะไม่ได้กำหนดเรื่องอายุของโบราณสถาน แต่เจ้าหน้าที่ก็อาจใช้ดุลพินิจของตนอ้างว่ายังอายุไม่ถึง ยังเก่าไม่พอ เช่น กรณีศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองที่แม้จะสืบความเป็นมาได้มากกว่าศตวรรษ แต่ตัวอาคารศาลเจ้าถูกสร้างใหม่เมื่อเกือบ 60 ปีก่อน เนื่องจากหน่วยงานก็มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนจำกัด กรมศิลปากรจึงเน้นไปที่การปกป้องอนุรักษ์โบราณสถานสำคัญของชาติ ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐ ทำให้โบราณสถานหรือสถาปัตยกรรมของชุมชนถูกละเลยและลบเลือนหายไปอย่างน่าเสียดาย

 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา / THE STANDARD

 

ในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา นอกจากกฎหมายอนุรักษ์โบราณสถานอย่างเฉพาะเจาะจง รัฐมีกฎหมายมรดกวัฒนธรรมที่กำหนดประกาศกฎเกณฑ์ในการจำแนกและปกป้องมรดกทุกประเภท และกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นต่างๆ ทำให้ภาคประชาชนรู้ว่าสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของตนนั้นเข้าเกณฑ์หรือไม่ และสามารถยื่นเรื่องให้หน่วยงานในท้องถิ่นทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อตัดสินใจว่าสามารถขึ้นทะเบียนได้หรือไม่ 

 

ประเทศไทยอาจมีกฎหมายผังเมือง แต่หน่วยงานท้องถิ่นไม่ได้มีอำนาจบังคับใช้ทางกฎหมายในการอนุรักษ์ เช่น กรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจในการอนุรักษ์หรือควบคุมไม่ให้สถาปัตยกรรมชุมชนถูกทำลาย มีแต่กรมศิลปากรเท่านั้นที่มีอำนาจ

 

ในแง่หนึ่ง การละเลยเรื่องการอนุรักษ์ก็เป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศไทย รัฐบาลขณะนี้สนับสนุนการท่องเที่ยว ‘เชิงคุณภาพ’ และอยากให้มีแหล่งการท่องเที่ยวนอกจากกรุงเทพฯ ดังนั้น หากการพยายามทำให้จังหวัด เมือง และชุมชน มีส่วนร่วมในการดูแลจัดการโบราณสถานของพวกเขา ก็จะทำให้สามารถรักษามรดกเฉพาะทางวัฒนธรรมของพวกเขาไว้ได้ และมรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกเอาใจใส่ก็จะดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมถึงหล่อเลี้ยงธุรกิจรายย่อย และทำให้ผู้คนยังคงผูกพันกับชุมชนของตนได้

 

มรดกทางวัฒนธรรมมีความหมายอย่างยิ่งต่อคนรุ่นใหม่อย่างพวกเรา เราและคนรุ่นต่อๆ ไปควรมีสิทธิที่จะเข้าถึงความรุ่มรวยและหลากหลายนี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติและหน่วยงานภาครัฐต้องไม่พรากสิทธินี้ และต้องคุ้มครองรักษามรดกทางวัฒนธรรมของเราด้วยการเริ่มปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้าสมัย ก่อนที่เราจะสูญเสียมรดกอันมีค่าไปอย่างไม่มีทางเรียกกลับคืนมาได้

 

ภาพเปิด: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา / THE STANDARD

ผู้เขียน: 

  • เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล – นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน นักอนุรักษ์ และอดีตนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ
  • เสฏฐนันท์ ธนกิจโกเศรษฐ์ – อดีตประธานฝ่ายวิชาการ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ 

 


 

บทความนี้ได้รับการดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 (ต้นฉบับ: https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2797814/sam-yan-shows-need-to-save-history)

 

บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์
ปรับปรุงต้นฉบับ: ไบรอัน เมอร์เทนส์ และ ดร.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร

 

Heritage Matters โดยสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นคอลัมน์สำหรับเผยแพร่บทสนทนาและแนวคิด เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับการจัดการมรดกวัฒนธรรมของไทยและประเทศใกล้เคียง ทัศนะและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นของผู้เขียนบทความนั้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising