อัตราเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมปรับตัวขึ้น 0.83% เนื่องมาจากราคาเชื้อเพลิงและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ด้านกระทรวงพาณิชย์คงคาดการณ์ทั้งปีไว้ที่ 0.0-1.0% เท่าเดิม ประเมินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าเพิ่ม หลังจากก่อนหน้านี้ World Bank เคยเตือนว่าดิจิทัลวอลเล็ตอาจกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนและอาจเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้
วันนี้ (7 สิงหาคม) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของไทยในเดือนกรกฎาคม 2567 สูงขึ้น 0.83% (YoY) เนื่องมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก และการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มอาหาร โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ผลไม้สด ข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเฉลี่ย 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม) ของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้น 0.11% (AoA)
เมื่อเทียบเป็นเดือนต่อเดือนพบว่า CPI เดือนกรกฎาคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2567 สูงขึ้น 0.19% (MoM)
ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.52% (YoY) เร่งตัวขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2567 ที่สูงขึ้น 0.36% (YoY)
เปิดแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป
กระทรวงพาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคม 2567 จะใกล้เคียงกับเดือนกรกฎาคม 2567
โดยปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง ได้แก่
- ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า จากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ
- ราคาเนื้อสุกรยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากมีอุปทานเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ราคายังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- ราคาผักสดมีแนวโน้มลดลง หลังเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ
- ฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง
สำหรับปัจจัยที่คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่
- ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ราคาสินค้าและบริการในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบินตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
- ราคาผลไม้ปรับตัวสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากอุปสงค์ที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทุเรียนและเงาะ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่าง 0.0-1.0% (ค่ากลาง 0.5%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
คาดว่าดิจิทัลวอลเล็ตไม่ทำให้ราคาสินค้าพุ่ง
พูนพงษ์กล่าวว่า คาดการณ์เงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้รวมผลของดิจิทัลวอลเล็ตเข้าไป เนื่องจากดิจิทัลวอลเล็ตเป็นโครงการที่จะเพิ่มกำลังซื้อมากกว่า ไม่ใช่โครงการที่จะเพิ่มต้นทุนการผลิต เพราะฉะนั้นราคาสินค้าจึงไม่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ในทางกลับกันน่าจะมีการจัดทำโปรโมชันแข่งกันลดราคามากกว่าด้วยซ้ำ
พูนพงษ์ยืนยันอีกว่า กระทรวงพาณิชย์และกรมการค้าภายในจะดูแลราคาสินค้าอยู่แล้วไม่ให้สูงหรือต่ำเกินสมควร
ก่อนหน้านี้ ในรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย (Thailand Economic Monitor) ของ World Bank ระบุว่า ความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (ที่ยังคงมีความไม่แน่นอน) อาจกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนและอาจเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้ จึงอาจทำให้การผ่อนคลายนโยบายการเงิน (Monetary Policy Accommodation) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากดิจิทัลวอลเล็ตอาจเปลี่ยนแปลงสมดุลของความเสี่ยงจากการเติบโตทางเศรษฐกิจไปสู่ภาวะเงินเฟ้อได้