ท่ามกลางโลกที่เผชิญความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยง ทั้งแรงกดดันเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย เศรษฐกิจโลกชะลอ ภูมิรัฐศาสตร์ ในบรรดาเพื่อนบ้าน อินโดนีเซีย ก็ยังครองเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ในเอเชีย-แปซิฟิก รั้งเบอร์ 1 ในอาเซียน ด้วยเศรษฐกิจที่พึ่งพาการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลัก และคาดว่าทั้งปี ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะเติบโตแข็งแกร่งตามเป้าที่ 5.2%
ขณะเดียวกัน The Southeast Asia Outlook 2024-2034 ระบุว่า อีก 10 ปี เศรษฐกิจอาเซียนจะเติบโตแซงหน้าจีน ด้วยแรงกดดันด้านภูมิศาสตร์ การเมือง และภาษีศุลกากร จากปรากฏการณ์สินค้าจีนที่ทะลักเข้ามายังอาเซียน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
Bloomberg รายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซียเปิดเผย GDP ไตรมาส 2 (เดือนเมษายน-มิถุนายน) ขยายตัว 5.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมากกว่าคาดการณ์การเติบโตจากการสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg ที่คาดว่าจะมีตัวเลขเฉลี่ยที่ 5%
ทั้งนี้ นับว่าเป็นการขยายตัวสูงเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกันที่เศรษฐกิจขยายตัวเกิน 5%
ปัจจัยหลักที่ทำให้การเติบโตแข็งแกร่งขึ้นมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศ สะท้อนจากความยืดหยุ่นของการบริโภคภาคครัวเรือนท่ามกลางต้นทุนการกู้ยืมที่ยังสูง ประกอบกับการส่งออกที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น และการกระตุ้นทางการคลังยังช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภคต่อเนื่อง
ซึ่งอาจสนับสนุนให้ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ได้อีกระยะหนึ่งเพื่อรักษาเสถียรภาพของสกุลเงิน (รูเปียห์) ก่อนที่จะเริ่มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินในช่วงปลายปีนี้หรือปีหน้า
นอกจากนี้ ตัวเลข GDP ไตรมาสนี้จะส่งผลให้ประเทศเดินหน้าตามเป้าหมายการเติบโตของ GDP ทั้งปีที่ 5.2%โดยรัฐบาลระบุว่าอุปสงค์ภายในประเทศยังแข็งแกร่ง การใช้จ่าย การบริโภคในประเทศ การลงทุน และการส่งออก จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจต่อไปในช่วงที่เหลือของปีนี้
อาเซียนเนื้อหอม คาดอีก 10 ปี โตแรงแซงจีน
ขณะเดียวกันรายงานข้อมูลจาก The Southeast Asia Outlook 2024-2034 ซึ่งร่วมกันจัดทำโดย Angsana Council, Bain & Company และ DBS Bank ระบุว่า คาดการณ์ว่าในทศวรรษหน้าเศรษฐกิจอาเซียนจะมี GDP และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แซงหน้าจีน
นำโดย GDP อาเซียน 6 ประเทศหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.1% โดยเวียดนามและฟิลิปปินส์จะเป็นประเทศขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคที่ 6% ไปจนถึงปี 2034 แซงหน้าเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะเติบโตช่วง 3.5-4.5% ภายใต้ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์และการเมือง
Charles Ormiston หุ้นส่วนผู้ก่อตั้ง Bain & Company วิเคราะห์ว่า ปัจจัยหลักมาจากแรงกดดันทางการเมืองและภาษีศุลกากรของแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้ง GDP และ FDI
“การเติบโตภายในประเทศที่แข็งแกร่งควบคู่ไปกับทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของภูมิภาคนี้ ทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ”
ทั้งนี้ แม้อาเซียนพึ่งพาการเติบโตทางเศรษฐกิจจากจีนเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นที่น่าติดตามระยะต่อไปคือ อาเซียนต้องรับมือกับปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้ามาแข่งขันมากขึ้น
นำไปสู่ความท้าทายและการแข่งขันของแต่ละประเทศที่พยายามปรับโครงสร้างการผลิตสู่อุตสาหกรรมใหม่ เช่น การผลิตเพื่อการส่งออกบรรจุภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ และดึงดูดการลงทุน Data Center การลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อมุ่งสู่การแข่งขันและนวัตกรรมที่เพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าขณะนี้หลายประเทศเริ่มปรับจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมสู่อุตสาหกรรมใหม่ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ได้ปรับกลยุทธ์ใหม่เพื่อการเติบโต โดยในวันนี้เวียดนามก็กำลังแซงหน้าประเทศอื่นๆ ไปแล้ว
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-08-05/indonesia-s-gdp-grows-5-05-in-second-quarter-beats-estimates?leadSource=uverify%20wall
- https://asia.nikkei.com/Economy/Southeast-Asia-to-outpace-China-s-GDP-growth-and-foreign-investment-report
- https://www.dbs.com/newsroom/Southeast_Asia_set_to_outpace_China_in_GDP_and_FDI_growth_in_the_next_decade