นอกเหนือจากการออกแบบและงานดีไซน์ที่โดดเด่นจนทำให้โอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 กลายเป็นหนึ่งในโอลิมปิกเกมส์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ประเด็น ‘ความยั่งยืน (Sustain)’ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เจ้าภาพให้ความสำคัญและถูกพูดถึงเป็นอย่างมากเช่นกัน เพราะเมืองน้ำหอมตั้งเป้าให้ปารีส 2024 เป็นการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ก่อนโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 จะเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการในคืนนี้ THE STANDARD LIFE ขอ Wrap-Up แง่มุม Sustain ที่เกิดขึ้นในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้มาให้ดูกัน เพื่อตอกย้ำว่าโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 คือการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในประวัติศาสตร์
สนามกีฬากลางแจ้งที่เบลนด์ไปกับแลนด์มาร์ก
โดยปกติเรามักเห็นเจ้าภาพสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาชนิดต่างๆ แต่สำหรับปารีส 2024 เจ้าภาพฝรั่งเศสกลับเปลี่ยนประเทศให้กลายเป็นสนามแข่งขัน ในเมื่อจัดขึ้นที่ฝรั่งเศสทำไมไม่ใช้พื้นที่เมืองและแลนด์มาร์กต่างๆ ให้คุ้มค่า! นั่นคือที่มาของภาพสนามแข่งวอลเลย์บอลที่ตั้งคู่กับหอไอเฟล หรือสนามแข่งม้าที่พระราชวังแวร์ซายส์ การเปลี่ยนสถานที่ต่างๆ ให้กลายเป็นสนามกีฬานอกจากจะประหยัดเงินและทรัพยากรแล้ว ยังมีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร แถมยังช่วยลดมลพิษที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง และดึงผู้คนให้รู้จักฝรั่งเศสไปในตัวด้วย
ภาพ: Maja Hitij / Getty Image
สถานที่สร้างใหม่เพียง 2 แห่ง
ความตั้งใจด้าน Sustain ของปารีส 2024 มี 2 แนวทางหลักๆ คือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและชดเชยด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต ด้วย Motto ดังกล่าวทำให้ฝรั่งเศสตัดสินใจใช้สนามแข่งที่มีอยู่เดิมมากถึง 95% และสร้างใหม่เพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ ‘หมู่บ้านนักกีฬา’ และ ‘Aquatics Centre’ เพื่อพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นศูนย์กลางย่านแซน-แซ็ง-เดอนีต่อไป แน่นอนว่าทั้ง 2 โครงการมีคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำ รวมทั้งยังสามารถติดตามและวัดผลการปล่อยคาร์บอนได้ในทุกขั้นตอน
ภาพ: Richard Pelham / Getty Image
หมู่บ้านโอลิมปิกที่ออกแบบเพื่อเป็นชุมชนหลังจบ
Olympic Village หรือ ‘หมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิก’ เป็นที่อยู่อาศัยของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่รวม 23,500 คน ระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ที่นี่มีห้องพักมากถึง 2,800 ห้อง อาคารสำนักงาน ร้านค้า ร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ มากมาย หลังแข่งขันจบ 1 ใน 4 ของอพาร์ตเมนต์จะถูกแปลงเป็นที่อยู่อาศัยสาธารณะ และบางส่วนจะถูกปล่อยในราคาไม่แพงให้กับคนทำงานและนักศึกษาที่มีรายได้น้อย ผู้อยู่อาศัยกลุ่มแรกมีกำหนดย้ายเข้าไปอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2025
จากสนามแข่งสู่ศูนย์กีฬาประจำชุมชน
ไม่ใช่แค่หมู่บ้านนักกีฬา หลังการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับชาติจบ Aquatics Centre ศูนย์กีฬาทางน้ำรักษ์โลกก็จะถูกแปลงเป็นศูนย์กีฬาประจำชุมชนเช่นกัน และจะเปิดให้บริการในช่วงฤดูร้อนปี 2025 ด้านในสามารถรองรับที่นั่งได้ 2,500 ที่นั่ง มีสระว่ายน้ำสำหรับนักเรียน ศูนย์ออกกำลังกาย กำแพงปีนผา ยิมปีนผา สนามฟุตบอล 5 ต่อ 5 สนามเทนนิส บาสเกตบอล และโยคะ ศูนย์นี้ออกแบบมาให้ใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 4,680 ตารางเมตรที่ติดตั้งบนหลังคาเป็นหลัก ที่นั่งทั้งหมดทำจากขยะพลาสติกรีไซเคิล และใช้ไม้เป็นหัวใจในการก่อสร้าง เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากการก่อสร้างให้ได้มากที่สุด
ภาพ: David Goldman / Getty Image
ลดเนื้อสัตว์ และใช้ Plant-based
จัดโอลิมปิกเกมส์หนึ่งครั้ง เหล่าคนครัวต้องเตรียมอาหารไว้มากถึง 13 ล้านชุด ซึ่งเทียบเท่ากับการจัดแข่งฟุตบอลโลก 10 ครั้ง การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ถือเป็นมหกรรมการจัดเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุด ฉะนั้นอาหารจึงเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์มากที่สุดในปารีส 2024 ฝรั่งเศสจึงตัดสินใจสนับสนุนความยั่งยืนด้านอาหารด้วยการลดเนื้อสัตว์ และเพิ่มส่วนผสมจากพืชเป็น 2 เท่า รวมถึงเลือกวัตถุดิบและผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรท้องถิ่น และอยู่ในระยะ 250 กิโลเมตรจากสถานที่จัดงาน นอกจากนี้ อาหารที่กินเหลือทั้งหมดจะถูกแจกจ่ายนำไปทำปุ๋ยหมักและแปรรูปต่อไป
ภาพ: Kevin Voigt / Getty Image
ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวสร้างขยะและปัญหาแก่โลกเยอะมาก ปารีส 2024 จึงเล็งเห็นถึงปัญหานั้น ทำให้การแข่งขันในสนามต่างๆ มีใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแค่บางส่วน แล้วเน้นใช้อุปกรณ์จัดเลี้ยงที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ 100% นอกจากนี้พันธมิตรอย่าง Coca-Cola ยังได้ติดตั้งตู้กดน้ำและโซดาจำนวน 700 ตู้ทั่วสถานที่จัดงาน พร้อมทั้งจุดบริการน้ำดื่มฟรี และผู้เข้าชมกีฬาสามารถนำขวดน้ำภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดมาเติมน้ำได้ฟรีด้วย
ภาพ: Tim de Waele / Getty Image
เน้นรถสาธารณะและรถพลังงานหมุนเวียน
สถานที่จัดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์มากกว่าร้อยละ 80 ตั้งอยู่ในระยะ 10 กิโลเมตรจากหมู่บ้านโอลิมปิก ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการเดินทางของนักกีฬา และสถานที่จัดการแข่งขันทั้งหมดเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังจัดทำเลนจักรยานใหม่ยาวกว่า 400 กิโลเมตร ทำให้จำนวนพาหนะน้อยลง 40% รวมทั้งยังใช้รถไฟฟ้า ไฮบริด และพลังงานไฮโดรเจน เพื่อใช้รับส่งกองทัพนักกีฬา และกิจกรรมอื่นๆ ตลอดการแข่งขัน
ภาพ: Phil Walter / Getty Image
อันไหนลดไม่ได้ก็ซื้อคาร์บอนเครดิต
คาร์บอนเครดิตคือหนึ่งแนวทางด้านความยั่งยืนที่ผู้จัดงานวางแผนเอาไว้ โดยโอลิมปิกเกมส์จะจัดสรรเงินให้กับโครงการต่างๆ ที่ลด หลีกเลี่ยง หรือดักจับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่เทียบเท่าการปล่อยมลพิษของงานแข่งขัน เช่น โครงการปกป้องป่า การปลูกป่า หรือการใช้พลังงานหมุนเวียน
เกาะติดโอลิมปิกเกมส์ 2024 กับ THE STANDARD SPORT
เกาะติดทุกความเคลื่อนไหวกับทีมงานภาคสนามของ THE STANDARD SPORT นำคอนเทนต์สุดเอ็กซ์คลูซีฟส่งตรงจากกรุงปารีส พร้อมเว็บไซต์พิเศษสำหรับแฟนกีฬาและผู้ที่สนใจติดตามการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 โดยเราจะนำเสนอทั้งความเคลื่อนไหวของนักกีฬาไทยที่จะเดินทางไปแข่งขันทั้งหมด 51 คน จาก 16 ชนิดกีฬา และนักกีฬาชั้นนำของโลกที่ลงแข่งขันในครั้งนี้
นอกจากความเคลื่อนไหวด้านกีฬาแล้ว ยังสามารถติดตามสีสันนอกสนาม ทั้งเรื่องการออกแบบ แฟชั่น และไลฟ์สไตล์ ที่เกิดขึ้นจากกรุงปารีสใน Art of Olympic ซีรีส์ที่จะนำเสนอแง่มุมของการออกแบบที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นเหมือนกับแรงบันดาลใจอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันกีฬา
ติดตามการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 – Olympic Games Paris 2024 ได้ที่:
Website: https://thestandard.co/paris2024
Facebook: www.facebook.com/thestandardsport
YouTube: www.youtube.com/@TheStandardSport
TikTok: www.tiktok.com/@thestandardsport
Instagram: www.instagram.com/thestandardsport
ภาพ: Paris 2024 / Getty Image
อ้างอิง:
- https://olympics.com/ioc/news/paris-2024-olympic-aquatics-centre-for-the-neighbourhood-for-the-long-term
- https://olympics.com/ioc/sustainability/essentials
- https://www.archdaily.com/913790/dominique-perrault-designs-athletes-village-for-paris-2024-olympics
- https://olympics.com/ioc/news/less-better-and-for-longer-five-ways-paris-2024-is-delivering-more-sustainable-games
- https://olympics.com/ioc/news/worldwide-olympic-partner-toyota-begins-delivery-of-vehicles-to-support-paris-2024