ไฮคิว ไม่ได้มีแค่ปลากระป๋องโรซ่า แต่ยังซุ่มเงียบบุกธุรกิจอาหารสัตว์ระดับพรีเมียม รับเทรนด์คนไทยพร้อมเปย์สัตว์เลี้ยง ชี้รายได้แบรนด์ Felina Canino โตกว่า 50% ต่อปี แต่การแข่งขันสูง ย้ำตลาดสัตว์เลี้ยงไม่ได้แข่งแค่ราคา แต่ถ้าใครดึงแอมบาสเดอร์ชื่อดังมาช่วยจะได้เปรียบกว่า
กิตินนท์ วังพัฒนมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฮคิว ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ร้านขายอาหารสัตว์เปิดตัวจำนวนมาก เพื่อรองรับพฤติกรรมคนไทยที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้เพียงเพื่อแก้เหงาหรือเฝ้าบ้านอีกต่อไปแล้ว แต่สัตว์เลี้ยงกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เพราะ ‘สัตว์เลี้ยงคือลูก’ เหล่าทาสจึงยอมเปย์ไม่อั้นเดือนละอย่างน้อย 1,000 บาท คาดตลาดที่เกี่ยวข้องมีมูลค่า 6 หมื่นล้านในปี 2569
- คนไทยเปย์สัตว์เลี้ยงสูงมากจน ‘เนสท์เล่’ ลงทุนขยายไลน์ผลิตอาหารแมวเกรดพรีเมียมชิงเค้ก ย้ำอากาศร้อนดันยอดขายน้ำดื่ม-กาแฟชงพุ่ง
- เกิดจากแพสชันล้วนๆ เมื่อ ‘เฮียฮ้อ’ หัวเรือใหญ่ RS กลายเป็นทาสสุนัข เตรียมเปิดแฟลกชิปสโตร์บริการสัตว์เลี้ยงครบวงจร เจาะกลุ่มคนรักสัตว์
ยิ่งไปกว่านั้น พฤติกรรมของผู้รักสัตว์เลี้ยงเปลี่ยนจาก Ownership เป็น Pet Parent จนเกิดเป็น Pet Humanization ทุกคนมองหาอาหารที่ดีให้กับสัตว์เลี้ยง สร้างอานิสงส์ให้ตลาดอาหารสัตว์ระดับพรีเมียมเติบโตเร็วมาก โดยเฉพาะช่วงโควิดเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของอาหารสัตว์เลยก็ว่าได้
เพื่อรองรับโอกาสการเติบโต ‘ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร’ ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงมากว่า 40 ปี ที่ผ่านมาจะเน้นรับจ้างผลิตและส่งออกสินค้าไปในทวีปยุโรป เอเชีย และอเมริกาเป็นหลัก แต่เมื่อเทรนด์สัตว์เลี้ยงในไทยเริ่มเติบโตขึ้น ในปี 2015 จึงได้เปิดตัวแบรนด์ Felina Canino อาหารสัตว์พรีเมียมทั้งสุนัขและแมว เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ
กิตินนท์กล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่ ไฮคิว ขยายตลาดสัตว์เลี้ยงนั้น ต้องยอมรับว่าช้าไป เพราะผู้เล่นรายอื่นๆ เริ่มบุกตลาดไปแล้ว จึงต้องจับตลาดบนไปเลย ภายใต้แนวคิดคุณภาพวัตถุดิบและความหลากหลาย
ดังนั้นลูกค้าของบริษัทจะเฉพาะกลุ่มมาก โดยในปี 2024 ตลาดทำยอดขายได้กว่า 100 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากช่องทางร้านขายอาหารสัตว์และโมเดิร์นเทรด ด้วยราคาที่สูงจึงไม่ได้โตเร็วมาก
ที่สำคัญตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะระดับพรีเมียมมีการแข่งขันสูง แม้จะไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมาก เพราะฐานลูกค้าส่วนใหญ่มีกำลังซื้อ และหลายคนอาจมองว่าผู้เล่นในตลาดจะแข่งขันเรื่องราคาเป็นหลัก
แต่ตอนนี้กลับแข่งกันที่การมีเซเลบริตี้ที่มีฐานแฟนจำนวนมากเข้ามาช่วยทำหน้าที่สื่อสารแบรนด์ เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้มาทดลองสินค้า
จากปัจจัยดังกล่าว บริษัทจึงทุ่มงบดึงแบรนด์แอมบาสเดอร์ที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้แก่
- กลัฟ-คณาวุฒิ ไตรพิพัฒนพงษ์ (แบรนด์แอมบาสเดอร์ตั้งแต่ปี 2021 จนถึงปัจจุบัน) และน้องแมว ‘อาซาร์ และ ก็องเต้’
- หยิ่น-อานันท์ ว่อง (แบรนด์แอมบาสเดอร์ตั้งแต่ปี 2022 จนถึงปัจจุบัน) และน้องหมา ‘ซูลู, เอคโค่ และ ไฟว์’
- วอร์-วนรัตน์ รัศมีรัตน์ (แบรนด์แอมบาสเดอร์ตั้งแต่ปี 2023 จนถึงปัจจุบัน) และน้องหมา ‘แซมเมอร์’
มาช่วยสื่อสารแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ควบคู่ไปกับการขยายไลน์สินค้าให้หลากหลาย ทั้งอาหารเปียกและอาหารแห้ง เพื่อรองรับตลาดอาหารสัตว์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่หยุด โดยบริษัทตั้งเป้าเติบโตอยู่ที่ 50% ต่อปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะฐานยังเล็กอยู่
อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดยังมีช่องว่างการเติบโตอีกมาก แต่ถ้าเป็น SME กระโดดเข้ามาทำถือว่ายาก เพราะการผลิตอาหารสัตว์ใช้งบสูงมาก โดยแบรนด์ในไทยที่สำเร็จนั้นจะต้องมีโรงงานและฐานวัตถุดิบเป็นของตัวเอง อย่างของไฮคิวทำธุรกิจปลากระป๋อง ทำให้มีโนว์ฮาวอยู่แล้ว จึงมีความได้เปรียบในตลาด