×

เรืองไกรร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลปกครองวินิจฉัยดิจิทัลวอลเล็ตเลือกปฏิบัติ ไม่เสมอภาค ตัดสิทธิคนบางกลุ่ม ขัดรัฐธรรมนูญ

โดย THE STANDARD TEAM
17.07.2024
  • LOADING...
ดิจิทัลวอลเล็ต

วันนี้ (17 กรกฎาคม) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ในฐานะผู้เสียภาษีคนหนึ่ง เปิดเผยว่า ถึงเวลาอันควรร้องอีกแล้ว เนื่องจากมีการกระทำครบองค์ประกอบที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กรณีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

 

เรืองไกรกล่าวว่า โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต มีวงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลจะใช้เงินจาก 3 แหล่ง ขณะนี้มีออกมาแล้ว 2 แหล่งคือ งบกลางในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 1.527 แสนล้านบาท และงบกลางในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 จำนวน 1.22 แสนล้านบาท

 

เรืองไกรกล่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดเคยวินิจฉัยการไม่จ่ายเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มให้ สส. พรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบไปก่อนที่พระราชกฤษฎีกาจะออกมานั้น เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม อันเป็นการขัดต่อหลักความเสมอภาค รายละเอียดหาดูได้ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟร.4/2566

 

เรืองไกรกล่าวว่า กรณีโครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการว่าจะต้องเป็นผู้มีอายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน สัญชาติไทย มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งจะแจกให้ประชาชน 50 ล้านคนนั้น จึงทำให้คนอีกกว่า 10 ล้านคนไม่ได้รับแจกเงินตามโครงการดังกล่าวด้วย กรณีจึงเข้าข่ายเป็นการกระทำของ ครม. ที่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาค

 

เรืองไกรกล่าวอีกว่า ตนรอให้ ครม. กระทำการที่เข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว เห็นได้จากการเสนอจำนวนเงินของโครงการดังกล่าวไว้ในงบกลางของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 1.527 แสนล้านบาท และตามมาด้วยการเสนอโครงการดังกล่าวไว้ในงบกลางของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 จำนวน 1.22 แสนล้านบาท ซึ่งร่างทั้งสอง สส. กำลังพิจารณาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร

 

เรืองไกรกล่าวว่า หากเทียบเคียงตามแนวคำพิพากษาของศาลปกครอง โครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบแล้วนั้น จึงเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 4 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง

 

เรืองไกรกล่าวอีกว่า การกระทำของนายกรัฐมนตรีและ ครม. ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงร้องได้ 2 ทางคือ 

 

  1. ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (2) 
  2. ร้อง ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234 (1) 

 

ขณะนี้ควรร้องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งให้ศาลปกครองวินิจฉัยก่อน ส่วนการร้องไปที่ ป.ป.ช. นั้นควรรอให้ สส. ร่วมกระทำการก่อน แล้วค่อยร้องตามหลังก็ยังไม่สาย

 

เรืองไกรกล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้ตนจึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองและให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้าว่า มติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยจำกัดกลุ่มเป้าหมายประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการว่าจะต้องเป็นผู้มีอายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน สัญชาติไทย มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท ที่มีเป้าหมายประมาณ 50 ล้านคน โดยไม่ได้ให้สิทธิประชาชนทั่วไปอื่นอีกกว่า 10 ล้านคนนั้น เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ขัดต่อหลักนิติธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาค และมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 4 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง หรือไม่

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X