นักเดินทางตัวยงต่างรู้ดีกว่านอกจากตั๋วเครื่องบินหรือบัตรโดยสารยวดยานพาหนะจะเป็นสิ่งแรกที่ควรมีของทริปเดินทาง ทว่าเอกสารสำคัญที่สุดของการเที่ยวข้ามพรมแดนคือ ‘พาสปอร์ต’ สมุดเล่มสีแดงเลือดหมู (สำหรับคนไทย) หลักฐานแสดงตัวตนว่าคุณเป็นใคร มาจากไหน เชื้อชาติอะไร เปรียบได้ดั่งบัตรประชาชนบนโลกสากลของเรานั่นแหละ
อายุของพาสปอร์ตแต่ละประเทศนั้นไม่เท่ากัน 5 ปี 10 ปี บ้างแล้วแต่กำหนด สำหรับประเทศไทย เราก็กำลังปรับเปลี่ยนสู่ระบบ 10 ปี อย่างเป็นทางการภายในปีนี้ ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะมีไม่กี่คนหรอกที่จะใช้พาสปอร์ตหมดเล่ม ส่วนใหญ่แล้วมักหมดอายุเสียก่อน เผลอๆ บางคนใช้ครั้งเดียวก็ต้องทิ้งเล่มเสียแล้ว กฎข้อบังคับส่วนใหญ่กำหนดว่าหนังสือเดินทางต้องมีอายุมากกว่า 6 เดือนถึงเดินทางออกนอกประเทศได้ แต่เอ๊ะ…เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมพาสปอร์ตต้องมีอายุมากกว่า 6 เดือน ขาดแค่ 2-3 วันได้ไหม และทำไมในทางปฏิบัติจึงหมดอายุการใช้งานเร็วกว่าเวลาจริง
สากลโลกเขากำหนดไว้ 6 เดือน
จริงๆ พาสปอร์ตยังคงทำหน้าที่จวบจนวันสุดท้ายที่ระบุไว้ในตัวเล่ม เพียงแต่ว่าหน้าที่บางประการของมันถูกตัดทอนลง ซึ่งหน้าที่นั้นก็ใหญ่เสียด้วย นั่นคือใช้เป็นใบเบิกทางผ่านข้ามพรมแดน มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศทั้งหมดทั่วโลก กำหนดอายุพาสปอร์ตว่าต้องมีอายุขั้นต่ำ 6 เดือนจวบจนวันเดินทางกลับ ถึงอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศได้ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะต้องการเผื่อเหลือเผื่อขาดกรณีมีเหตุฉุกเฉินสารพัดอย่างที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นการพลัดหลง การติดค้างอยู่สนามบินในเที่ยวบิน เผื่อเวลาเปลี่ยนเครื่อง ฯลฯ ซึ่งขนาดเผื่อไว้ 6 เดือนแล้ว ก็ยังมีนักเดินทางหลายคนตกค้าง มีปัญหาให้สถานทูตช่วยเหลือตลอดเวลา
และด้วยตัวเลข 6 เป็นจำนวนเดือนที่ประชาคมโลกส่วนใหญ่กำหนดไว้ ทางสายการบิน รวมถึงผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวต่างๆ จึงใช้เลข 6 เป็นบรรทัดฐานในการป้องกัน บางแห่งเคร่งครัดถึงขั้นทำธุรกรรมใดๆ ล่วงหน้าไม่ได้เลยถ้าหนังสือเดินทางอายุไม่ถึง 6 เดือน แต่บางแห่งทำได้ แค่วันเดินทางต้องผ่านเงื่อนไขเท่านั้น
ในกรณีขาดแค่ 2-3 วันจะลักไก่ได้ไหม
คำตอบคือได้ แต่ไม่เสมอไป อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าส่วนใหญ่แล้วใช้เลข 6 เดือนเป็นบรรทัดฐานในการตรวจคนเข้าเมือง แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่สามารถรับตราประทับเข้าเมืองได้โดยมีอายุพาสปอร์ตต่ำกว่าเลข 6 เช่น ญี่ปุ่น หรือบางประเทศในแถบเอเชีย ฉะนั้นหากจำนวนวันพาสปอร์ตขาดแค่ 1-2 วันจึงจะครอบคลุมทั้งทริป แล้วคุณเดินทางไปประเทศดังกล่าว บางสายการบินก็จะปล่อยให้เราขึ้นเครื่องตามปกติ แต่อาจมีเอกสารยืนยันว่า ‘คุณจะต้องรับผิดชอบค่าตั๋วเองในกรณีที่ถูกปฏิเสธจากการตรวจคนเข้าเมืองประเทศปลายทาง’ หรือถ้าใครจะเถียงว่า “ไม่นะ ฉันก็เคยมาแล้ว ไม่เคยเป็นอะไร” ดิฉันขอบอกว่า นั่นเพราะคุณโชคดี ประสบการณ์ของนักเดินทางแต่ละคนที่ได้รับมักจะต่างกัน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองล้วนๆ
ตัวอย่างกำหนดขั้นต่ำของแต่ละกลุ่มประเทศ
มีหลายประเทศทั่วโลกที่พาสปอร์ตอายุไม่ถึง 6 เดือนก็เที่ยวได้ รายชื่อด้านล่างที่เรานำมานั้นเป็นรายละเอียดสากลของแต่ละประเทศว่าประเทศไหนจัดอยู่ในกลุ่มใด รายชื่อเหล่านี้ปรับเปลี่ยนอยู่เสมอขึ้นอยู่กับตามเวลาและข้อตกลงระหว่างประเทศ ฉะนั้นอย่าลืมตรวจเช็กกับสถานกงสุลของแต่ละประเทศก่อนเดินทาง นี่เป็นเรื่องสำคัญ
1. เชงเก้น (Schengen Area)
ประเทศในกลุ่มเชงเก้น หรือกลุ่มสมาชิก EU ส่วนใหญ่ยึดพาสปอร์ตอายุมากกว่า 6 เดือน สำหรับชาวเอเชีย ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณจะซื้อพาสปอร์ตในกลุ่มประเทศเชงเก้น และสหรัฐอเมริกาถึงได้อนุโลมเหลือ 3 เดือนในบางประเทศ ฉะนั้น หากคุณต้องการเดินทางด้วยรถไฟไปมาหลายประเทศทริปเดียวในพื้นที่นี้ ควรมีจำนวนอายุพาสปอร์ตอย่างน้อย 6 เดือน
2. เอเชีย (Asia)
มากกว่าครึ่งของเอเชียกำหนดอายุพาสปอร์ตไม่น้อยกว่า 6 เดือน จนถึงวันเดินทางกลับ (รวมถึงประเทศไทยเราด้วย) ยกเว้นบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ที่ต้องการอายุพาสปอร์ตครอบคลุมระยะเวลาที่อยู่ในประเทศเท่านั้น ฮ่องกง มาเก๊า คือขั้นต่ำ 1 เดือน รัสเซียและอินเดียต้องการขั้นต่ำ 6 เดือน พร้อมหน้าพาสปอร์ตว่าง 2 หน้า
3. ตะวันออกกลาง (Middle East)
บางประเทศในตะวันออกกลางต้องการแค่หน้าว่างเพื่อตราประทับเท่านั้น แต่ก็มีหลายประเทศต้องการอายุหนังสือเดินทางขั้นต่ำ 6 เดือน เช่น บาห์เรน, อียิปต์, อิรัก, อิหร่าน, อิสราเอล, จอร์แดน, คูเวต, ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เขตเวสต์แบงก์, ฉนวนกาซา และเยเมน
4. สหรัฐอเมริกาและแถบทะเลแคริบเบียน (U.S. and the Caribbean)
สหรัฐอเมริกาและประเทศในแถบทะเลแคริบเบียนกำหนดอายุพาสปอร์ตขั้นต่ำไว้ 6 เดือนสำหรับชาวเอเชีย ยกเว้นเสียว่าคุณจะถือพาสปอร์ตสหรัฐฯ หรือเม็กซิโก ที่ต้องการแค่หน้าว่างเท่านั้น และปานามา ขั้นต่ำ 3 เดือนในวันเดินทาง
5. แอฟริกา (Africa)
กำหนดอายุพาสปอร์ตขั้นต่ำไว้ 6 เดือน ไว้ 27 ประเทศ อาทิ อัลจีเรีย, บอตสวานา, คองโก, เคนยา, มาดากัสการ์, มอริเตเนีย, นามิเบีย, รวันดา, โซมาเลีย, ซูดาน, แทนซาเนีย, จิบูตี
จากข้างต้นจะเห็นได้ว่าประเทศส่วนใหญ่ล้วนกำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 6 เดือนทั้งนั้น ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัย ไม่เสียอารมณ์ และลดความเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้ทริปในฝันของคุณล่ม เราแนะนำให้คุณตรวจเช็กวันหมดอายุพาสปอร์ตก่อนจองตั๋วเครื่องบิน หรือออกเดินทางล่วงหน้า ถ้าสุ่มเสี่ยงเกิดความไม่มั่นใจ ก็ไปทำใหม่เสียเถิด ลงเงินเสียทริปไปหลายบาทแล้ว ถ้าไม่ได้ไปคงต้องนั่งน้ำตาตก เดี๋ยวนี้สถานกงสุลมีสถานที่ทำพาสปอร์ตรองรับการให้บริการหลายสาขา ใช้เวลาทำ 20 นาทีเสร็จ จองคิวผ่านทางออนไลน์ได้ด้วย ฉะนั้น ทำเสียเถอะ ปลอดภัยไว้ก่อนเป็นดี
อ้างอิง:
- www.amtrav.com/blog/2017/05/11/three-and-six-month-passport-validity-rules-what-you-need-to-know
- fastportpassport.com/blog/six-month-validity-passport-rule
- www.thepointsguy.com/2017/08/six-month-passport-validity-rule
- www.fastportpassport.com/blog/six-month-validity-passport-rule
- www.traveltips.usatoday.com/countries-require-six-months-passport-validity-100788.html
- www.consular.go.th
สถานที่ให้บริการทำหนังสือเดินทาง
กรุงเทพมหานคร
กรมการกงสุล แจ้งวัฒนะ
สถานที่ตั้ง: ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่
โทร. 0 2203 5000 กด 1 (เมื่อเข้าสู่ระบบกรมการกงสุล กด 5 เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่)
สำนักงานหนังสือเดินทาง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
(รับทำเฉพาะหนังสือเดินทางราชการเท่านั้น)
สถานที่ตั้ง: ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (อาคารบี ประตูฝั่งทิศตะวันออก) ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่
โทร. 0 2203 5000 ต่อ 49007, 49009
สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว บางนา-ศรีนครินทร์
สถานที่ตั้ง: ชั้น 2 โซน E ศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค บางนา-ศรีนครินทร์ โทร. 0 2136 3800
สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปิ่นเกล้า
สถานที่ตั้ง: อาคาร SC Plaza สถานีขนส่งกรุงเทพ (สายใต้ใหม่) ถนนบรมราชชนนี โทร. 0 2422 3431
สำนักงานหนังสือเดินทาง ศูนย์บริการการไปทำงานต่างประเทศ
(รับทำหนังสือเดินทางเฉพาะผู้ที่มีใบส่งตัวจากกรมการจัดหางานเท่านั้น) สถานที่ตั้ง: อาคารประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ดินแดง
โทร. 0 2245 9439
สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว MRT คลองเตย
สถานที่ตั้ง: สถานีรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) คลองเตย ถ.พระราม 4 คลองเตย
โทร. 0 2024 8896
ต่างจังหวัด
สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว เชียงราย
สถานที่ตั้ง: อาคารองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หลังใหม่ ถนนศูนย์ราชการ ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย
โทร. 0 5317 5375
สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว เชียงใหม่
สถานที่ตั้ง: ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ถ.โชตนา ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่
โทร. 0 5389 1535-6
สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว พิษณุโลก
สถานที่ตั้ง: ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ถ.เทพารักษ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก
โทร. 0 5525 8173
สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว นครสวรรค์
สถานที่ตั้ง: ศูนย์บริการร่วมจังหวัดนครสวรรค์ ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ถ.พหลโยธิน อ.เมือง จ.นครสวรรค์
โทร. 0 5623 3453
สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว อุดรธานี
สถานที่ตั้ง: ศูนย์อเนกประสงค์ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี (ตรงข้ามกับศาลหลักเมือง) ถ.อธิบดี อ.เมือง จ.อุดรธานี
โทร. 0 4221 2827
สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ขอนแก่น
สถานที่ตั้ง: หอประชุมอำเภอเมืองขอนแก่น ถนนศูนย์ราชการ อ.เมือง จ.ขอนแก่น
โทร. 0 4324 2707
สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว อุบลราชธานี
สถานที่ตั้ง: อาคารศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ชั้น 1 ด้านหลังฝั่งทิศตะวันตก จ.อุบลราชธานี
โทร. 0 4534 4581-2
สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว นครราชสีมา
ที่อยู่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ถ.มหาดไทย อ.เมือง จ.นครราชสีมา
โทร. 0 4424 3132
สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จันทบุรี
สถานที่ตั้ง: อาคารลานค้าชุมชน ถ.เลียบเนิน ต.วัดใหม่ อ.เมือง จ.จันทบุรี
โทร. 0 3930 1706-9
สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว สุราษฎร์ธานี
สถานที่ตั้ง: ศาลาประชาคม ถ.หน้าเมือง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี
โทร. 0 7727 4940
สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ภูเก็ต
สถานที่ตั้ง: ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ถ.นริศร อ.เมือง จ.ภูเก็ต
โทร. 0 7622 2080
สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว สงขลา
สถานที่ตั้ง: ศูนย์ราชการจังหวัดสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา
โทร. 0 7432 6508-10
สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ยะลา
สถานที่ตั้ง: ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)
ถ.สุขยางค์ อ.เมือง จ.ยะลา
โทร. 0 7327 4526
สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว พัทยา
สถานที่ตั้ง: ศูนย์การค้าพัทยาอเวนิว ชั้น 1 ถ.พัทยาสาย 2 ต.หนองปรือ
อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
โทร. 0 3842 2438