วันนี้ (14 กรกฎาคม) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีที่ยังเป็นข่าวอยู่นั้น ในการเลือกตั้งดังกล่าวมีการร้องกล่าวหาผู้สมัครตามใบรับคำร้อง อบจ.ปทุมธานี เลขที่ อบจ.1/2567 วันที่ 14 มิถุนายน 2567 รายละเอียด กกต. ควรทราบดีแล้วนั้น
เรืองไกรกล่าวว่า การร้องผ่านมาประมาณ 1 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ปรากฏข่าวการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวว่ามีผลเป็นประการใด ทั้งที่ตามพยานหลักฐานและเอกสารประกอบ รวมทั้งภาพและคลิปในคำร้องดังกล่าวมีพอสมควร กรณีจึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ตรวจสอบเรื่องนี้โดยเร็ว วันนี้ตนจึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ กกต. ตรวจสอบตามใบรับคำร้อง อบจ.ปทุมธานี เลขที่ อบจ.1/2567 ดังต่อไปนี้
- พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง (3) และ (4) และมาตรา 126 วรรคสอง บัญญัติว่า
“มาตรา 65 ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้… (3) ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ (4) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด”
ขณะที่มาตรา 126 วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 65 (3) (4) หรือ (5) หรือมาตรา 69 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี”
- เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 เว็บไซต์มติชน หัวข้อ ‘บิ๊กแจ๊ส ร้องคู่แข่ง ชิงนายกปทุม ทำผิดกม. งานบวชที่ทักษิณมา เข้าข่ายจัดมหรสพชัด ช่วยหาเสียง’ ลงข่าวไว้บางส่วนดังนี้
“เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดปทุมธานี ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต. วัฒนา วงศ์จันทร์ ผู้ประสานงานผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กกต. เนื่องจากมีผู้สมัครนายก อบจ.ปทุมธานี คาดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้ง โดยมี กิตติ์ธเนศ จันวิวัธน์เวช รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดปทุมธานี เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน เพื่อตรวจสอบและดำเนินตามขั้นตอนต่อไป”
- การร้องตามข่าวข้างต้นนั้น สำนักงาน กกต. จังหวัดปทุมธานี ได้รับเอกสารคำร้องลงวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ไว้แล้ว ตามใบรับคำร้องเลขที่ อบจ.1/2567 วันที่ 14 มิถุนายน 2567 โดยผู้ร้องมีคำขอท้ายคำร้องว่า เป็นการหาเสียงที่ฝ่าฝืนมาตรา 65 (3) และ (4) และไม่ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2563 ข้อ 16 และข้อ 23 (5) รายละเอียด กกต. ควรทราบแล้วนั้น
- เนื่องจากคำร้องดังกล่าวมีการกล่าวหาบุคคลหลายคน และมีข้อเท็จจริงทั้งเอกสาร ภาพถ่าย และคลิปประกอบที่ชัดเจนพอควร แต่เวลาล่วงมาประมาณ 1 เดือนแล้ว ปัจจุบันยังไม่ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับการตรวจสอบกรณีดังกล่าวมีผลเป็นประการใด อีกทั้งคำร้องดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงบทกำหนดโทษตามมาตรา 126 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ซึ่งรวมโทษที่ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปีไว้ด้วย กรณีจึงมีความจำเป็นต้องร้อง กกต. ใช้มาตรา 106 เข้ามาดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความถูกต้องครบถ้วนตามตัวบทกฎหมาย และเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมกับทุกฝ่าย
- จากการค้นหาใน Google พบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13545/2556 ซึ่งมีการย่อสั้นไว้ว่า
“ในการโฆษณาหาเสียงของจำเลยทั้งสิบสอง มีการเล่นดนตรีพื้นบ้านประเภทสะล้อซอซึง บนรถยนต์บรรทุกในขบวนรถหาเสียง การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มจาวเชียงคำยืนปราศรัยอยู่บนรถยนต์บรรทุกหกล้อ โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ยืนอยู่บนรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 1 เมื่อขบวนรถหาเสียงเข้าพื้นที่เลือกตั้งเขตของตน การเล่นดนตรีพื้นบ้านประเภทสะล้อซอซึงในพฤติการณ์ดังกล่าวจึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสิบสองซึ่งเป็นผู้สมัครกระทำการเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งแก่ตนเอง โดยทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงใดๆ”
- กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13545/2556 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 มาตรา 57 และมาตรา 118 มีความคล้ายกันกับบทบัญญัติในมาตรา 65 และมาตรา 126 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ซึ่งรายละเอียด กกต. ทราบดีอยู่แล้วนั้น
เรืองไกรสรุปในท้ายหนังสือว่า “จึงเรียนมาเพื่อขอให้ กกต. นำมาตรา 106 มาดำเนินการตรวจสอบการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีกับพวก ตามใบรับคำร้องที่ อบจ.1/2567 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ว่ามีผู้ใดที่กระทำการหาเสียงที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 65 (3) และ (4) หรือไม่ และมีผู้ใดที่ฝ่าฝืนความผิดตามมาตรา 126 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 หรือไม่ ทั้งนี้ ขอให้นำคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13545/2556 มาเป็นแนวทางในการตรวจสอบด้วย”