จุลพันธ์เผย เตรียมเสนอหั่นงบดิจิทัลวอลเล็ตเหลือ 4.5 แสนล้านบาท เหตุประมาณการว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 90% จากเป้าหมาย 50 ล้านคน พร้อมปรับปรุงเงื่อนไขรายการสินค้าต้องห้ามร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Negative List) โดยเพิ่มสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์สื่อสาร เช่น สมาร์ทโฟน เข้าไป
วันนี้ (10 กรกฎาคม) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เตรียมเสนอคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต (ชุดใหญ่) ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ เพื่อปรับกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับโครงการเหลือ 4.5 แสนล้านบาท จากเดิม 5 แสนล้านบาท จากการประมาณการว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 90% จากเป้าหมาย 50 ล้านคน
โดยจุลพันธ์อธิบายว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยส่งหนังสือมายังกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการตั้งงบประมาณสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีข้อห่วงใยถึงการตั้งงบประมาณที่มากเกินไปซึ่งอาจทำให้เสียโอกาสในการนำงบประมาณไปพัฒนาประเทศในด้านอื่น
ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปศึกษาจึงพบว่า ที่ผ่านมาไม่มีโครงการใดของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่ง หรือโครงการอื่นๆ ที่มีผู้เข้ามาใช้สิทธิเกิน 90% โดยส่วนมากจะอยู่ที่ 80% ของเป้าหมายของโครงการ
โดยจากข้อศึกษาดังกล่าว กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณจึงได้เตรียมเสนอคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ ในการปรับกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับโครงการเหลือ 4.5 แสนล้านบาท จากเดิม 5 แสนล้านบาท จากการประมาณการว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 90% จากเป้าหมาย 50 ล้านคน
โดยเมื่องบประมาณในการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีการปรับลดลงจะทำให้อาจไม่มีความจำเป็นในการใช้แหล่งเงินตามมาตรา 28 หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่น โดยสามารถบริหารแหล่งเงินได้จากงบประมาณปี 2567 และ 2568 ดังนี้
เงินงบประมาณปี 2567 วงเงิน 1.65 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท และงบประมาณจากการบริหารจัดการอื่นๆ 4.3 หมื่นล้านบาท
การใช้งบจากงบประมาณปี 2568 จำนวน 2.85 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณประจำ 152,700 ล้านบาท และงบจากการบริหารจัดการอื่นๆ 132,300 ล้านบาท โดยไม่กระทบงบประมาณลงทุนและงบประมาณรายจ่ายประจำ
“งบประมาณจากการบริหารจัดการอื่นๆ มาได้จากหลายส่วน ทั้งงบกลาง งบประมาณที่หน่วยงานใช้ไม่ทันหรือผูกพันไม่ได้ ซึ่งอยู่ในกรอบที่สำนักงบประมาณบริหารจัดการได้โดยไม่กระทบกับการดำเนินงานใดๆ อย่างไรก็ตามโครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังตั้งเป้าที่ 50 ล้านคน ถ้าคนลงทะเบียนน้อยหรือมากขึ้นก็บริหารงบในส่วนนี้ได้”
ทั้งนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคมนี้ จากนั้นในวันที่ 24 กรกฎาคม คาดว่านายกรัฐมนตรีจะแถลงข่าวในช่วงเช้า เกี่ยวกับการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนและการยืนยันตัวตน และจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 30 กรกฎาคม ซึ่งกระบวนการของกฤษฎีกาจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น
เพิ่มสมาร์ทโฟนเข้า Negative List
จุลพันธ์ยังเปิดเผยอีกว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้เห็นชอบปรับปรุงเงื่อนไขรายการสินค้าต้องห้ามร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Negative List) โดยเพิ่มสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์สื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน เข้าไป เนื่องจากต้องการให้เม็ดเงินดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นการใช้จ่ายกับสินค้าที่ผลิตในประเทศ รวมทั้งต้องการป้องกันการกระจุกตัวจากการใช้จ่าย เพราะสินค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีราคาสูงและผลิตจากนอกประเทศ
เปิด Negative List ฉบับก่อน
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยหนึ่งในรายละเอียดของหลักการระบุว่า สินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ยกเว้นสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ (Negative List) ซึ่งได้แก่
- สลากกินแบ่งรัฐบาล
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ยาสูบ กัญชา
- กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม
- บัตรกำนัล บัตรเงินสด
- ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี
- น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สามารถพิจารณากำหนด Negative List เพิ่มเติมได้ โดยการใช้จ่ายตามโครงการไม่รวมถึงบริการ”