×

เสียงสะท้อนจาก ‘วิกฤตดอทคอม’ ถึงกระแสหุ้น AI ฟองสบู่ที่หลายคนยินดีโอบรับ

09.07.2024
  • LOADING...

หลังการเปิดตัวของ ChatGPT ในเดือนพฤศจิกายน 2022 ตามมาด้วยกระแสในระดับซูเปอร์สตาร์ของหุ้น NVIDIA ทำให้ความคลั่งไคล้ใน AI พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกของการลงทุน

 

นับตั้งแต่ต้นปี 2023 หุ้นที่เกี่ยวข้องกับ AI ให้ผลตอบแทนดีกว่าดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ และทั่วโลกถึง 30% จากการวิเคราะห์ของ JPMorgan

 

ขณะที่ Lombard Odier บอกว่า การพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงของบรรดาหุ้น AI และหุ้นเทคโนโลยี ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) ของหุ้นที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นเทคโนโลยี มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 75% ของทั้งตลาด โดยสัดส่วนดังกล่าวขยับขึ้นมาเกือบจะเท่ากับช่วงวิกฤต Dot-Com ช่วงปี 2000 

 

 

ความร้อนแรงของกระแส AI ทำให้ตอนนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่ากำลังเกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้น แต่เป็นฟองสบู่ที่ ‘กระจุกตัว’ อยู่เฉพาะในกลุ่ม AI โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตชิป ซึ่ง James Ferguson ผู้ก่อตั้ง MacroStrategy Partnership มองว่า การกระจุกตัวเช่นนี้มักจะมีจุดจบที่ไม่ดีนัก 

 

ศิริพร สุวรรณการ Senior Managing Director, Financial Advisory Head, Private Banking บอกว่า หุ้นเทคที่ขับเคลื่อนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2023 จนถึงตอนนี้ เป็นเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงฟองสบู่ Dot-com ในทศวรรษที่ 1990 และฟองสบู่ที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1930 

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ 2 ทาง คือ

 

  1. เศรษฐกิจโลกดีขึ้นต่อเนื่องจากอานิสงส์ของเทคโนโลยี AI ที่ช่วยให้ Productivity ตามมาด้วยการเติบโตของอุตสาหกรรมอื่นๆ และนักลงทุนค่อยๆ โยกย้ายเงินทุนไปยังหุ้นกลุ่มอื่น

 

  1. ฟองสบู่แตกเหมือนกับฟองสบู่ Dot-Com หลังจากที่ความคาดหวังต่อหุ้น AI สูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ท้ายที่สุดแล้วกำไรของบริษัทเหล่านั้นไม่สามารถเติบโตได้ทัน

 

“จริงๆ แล้วเราเชื่อว่า AI จะเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ที่ช่วยให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้สูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำต่อเนื่องในระยะหลัง” ศิริพรกล่าว

 

อุตสาหกรรม AI ต้องสร้างรายได้ปีละ 6 แสนล้านดอลลาร์ถึงจะคุ้ม

 

แม้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีหลายแห่งได้ลงทุนมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐาน AI แต่การเติบโตของรายได้จาก AI ยังไม่เป็นรูปธรรม 

 

David Cahn นักวิเคราะห์จาก Sequoia Capital เชื่อว่า บริษัท AI จะต้องมีรายได้ประมาณ 6 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อใช้จ่ายสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน AI อาทิ Data Center

 

บริษัทอย่าง AWS, Google, Meta, Microsoft และอื่นๆ อีกมากมาย ลงทุนอย่างหนักในโครงสร้างพื้นฐาน AI ในปี 2023 ซึ่ง David Cahn เชื่อว่าเราอาจกำลังเห็นการเติบโตของฟองสบู่ทางการเงิน

 

เสียงสะท้อนจากฟองสบู่ Dot-Com

 

บทความหนึ่งของ Reuters โดย Lewis Krauskopf บอกว่า แม้ตัวชี้วัดต่างๆ จะแสดงให้เห็นว่าความคลั่งไคล้ต่อ AI จะยังไม่เท่ากับช่วงวิกฤตดอทคอม แต่ก็สามารถมองเห็นความคล้ายคลึงกัน 

 

โดยเฉพาะความร้อนแรงของ NVIDIA ผู้ผลิตชิป AI ที่เป็นสัญลักษณ์ของตลาดในปัจจุบัน ชวนให้นึกถึง ‘4 จตุรอาชา’ อย่าง Cisco, Dell, Microsoft และ Intel

 

ราคาหุ้น NVIDIA เพิ่มขึ้นเกือบ 4,300% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ใกล้เคียงกับ Cisco ผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายที่เคยพุ่งขึ้นประมาณ 4,500% ในช่วง 5 ปีก่อนที่จะถึงจุดสูงสุดในปี 2000 จากข้อมูลของ BTIG

 

วิกฤตดอทคอมจบลงด้วยการที่ดัชนี Nasdaq ร่วงลง 80% จากจุดสูงสุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ลดลงราว 50% อย่างไรก็ดี สิ่งที่แตกต่างและเป็นมุมมองเชิงบวกคือ การเติบโตของกำไรที่สูงกว่าและความแพงของหุ้นยังไม่เท่ากับในอดีต

 

ในเดือนมกราคม ปี 2000 บริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุด 5 แห่งเวลานั้น ได้แก่ Microsoft, Cisco, Intel, Lucent และ IBM ซื้อ-ขายกันที่อัตราส่วน P/E ล่วงหน้าโดยเฉลี่ย 59 เท่า ปัจจุบันหุ้นเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุด 5 แห่ง ได้แก่ Microsoft, NVIDIA, Amazon, Meta และ Alphabet มีอัตราส่วน P/E ล่วงหน้าอยู่ที่ 34 เท่า

 

ขณะที่ความคาดหวังของนักวิเคราะห์เมื่อปี 2000 คาดการณ์ว่า กำไรต่อหุ้นของผู้นำด้านเทคโนโลยีในยุคนั้นจะเติบโต 30% ส่วนปัจจุบันนักวิเคราะห์คาดหวังว่าจะกำไรของหุ้นเทคซึ่งเป็นผู้นำ จะเติบโตเฉลี่ย 42%

 

ภาพ: JPMorgan

 

บิ๊กเทคเตือน AI คือการ ‘เดิมพัน’ ทางธุรกิจ 

 

ท่ามกลางความน่าตื่นเต้นของเทคโนโลยี AI ที่พุ่งทะยานขึ้น จนกลายมาเป็นเรื่องราวหลักให้กับซีอีโอและผู้บริหารระดับสูง เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ของบริษัทว่า พวกเขาจะปรับตัวโอบรับ AI อย่างไรให้ตนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จและสามารถดึงดูดเม็ดเงินนักลงทุนได้

 

Bloomberg รายงานว่า บริษัทอย่าง NVIDIA, Google, Meta และ Microsoft ต่างเดินหน้าทุ่มเงินทุนอย่างสุดตัวเพื่อเตรียมพร้อมรับคลื่นลูกใหม่ แต่ในเวลาเดียวกันบิ๊กเทคกลุ่มนี้ก็ไม่วายที่จะระบุเตือนผ่านเอกสาร Filing ที่บริษัทต้องนำส่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่าการลงทุน AI มิได้ปราศจากความเสี่ยง และมันคือ ‘การเดิมพัน’ ของธุรกิจที่อาจนำไปสู่ปัญหาในระดับความมั่นคงของบริษัทได้

 

คำเตือนดังกล่าวถูกใส่เพิ่มไปในเอกสาร Filing รายงานความเสี่ยงภายใต้หัวข้อ ‘ปัจจัยความเสี่ยง’ ซึ่งมีเนื้อหาที่มีใจความโดยสรุปว่า บริษัทบิ๊กเทคจะไม่มีความรับผิดชอบตามกฎหมายให้ต้องชดใช้ค่าเสียหาย หากความเสียหายเกิดขึ้นจากความเสี่ยงที่คาดการณ์ได้ เช่น จากด้านสงคราม จากการล้มลงของสถาบันการเงิน จากการถูกฟ้องร้องเพราะละเมิดลิขสิทธิ์ ฯลฯ เพื่อให้แน่ใจว่านักลงทุนยอมรับและเข้าใจข้อมูลความเสี่ยงที่เปิดเผยอย่างเป็นสาธารณะ

 

รายงานเหล่านี้จำเป็นอย่างมากสำหรับใช้เป็นเครื่องมือเตือนสตินักลงทุน ที่ตอนนี้ต้องยอมในบรรยากาศที่ตลาดกำลังเจอกับภาวะที่ทุกคนตื่นเต้น หรือบางคนตื่นเต้นแบบไม่ลืมหูลืมตา

 

ตัวอย่างความเสี่ยงที่บริษัทต่างๆ ออกมาเตือนก็ได้เกิดขึ้นบ้างแล้ว เช่น Microsoft ได้ยื่นรายงานความเสี่ยงที่ระบุว่า การพัฒนาและใช้งาน AI ของบริษัทอาจนำไปสู่การฟ้องร้องเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์, บริษัทแม่ของ Google อย่าง Alphabet เขียนระบุเตือนการใช้ AI ของบริษัทว่า “มันเป็นเครื่องมือที่เมื่อใช้แล้วอาจมีผลกระทบเชิงลบกับสิทธิมนุษยชน ความเป็นส่วนตัว ตลาดแรงงาน และข้อกังวลทางสังคมอื่นๆ” ที่มีแนวโน้มจะเป็นต้นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องคดีได้

 

ผู้ผลิตชิปอย่าง NVIDIA เองก็เจอกับสิ่งที่ตนออกมาเตือนนักลงทุนในปี 2023 ว่า “การใช้ AI ในทางที่ผิดสามารถนำไปสู่การสร้างกำแพงกีดกันการค้า ที่สุดท้ายแล้วจะกระทบกับธุรกิจได้” และนั่นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสหรัฐฯ เพิ่มมาตรการจำกัดการส่งออกไปยังจีน ทำให้สินค้าบางส่วนนั้นส่งไปขายไม่ได้

 

ทั้งหมดทั้งมวลที่บิ๊กเทคกำลังจะสื่อผ่านคำเตือนว่า “AI เป็นการเดิมพันทางธุรกิจ” นั่นเป็นเพราะสุดท้ายแล้วถ้าทุกอย่างไม่เป็นตามที่หวังหรือเกิดข้อผิดพลาด เมื่อนั้นบริษัทจะถือว่านักลงทุนยอมรับและเข้าใจความเสี่ยงแล้ว คล้ายกับอารมณ์ที่ว่า “ฉันเตือนเธอแล้ว” 

 

โอกาสอาจซ่อนอยู่ใน AI ยุค 2.0

 

ช่วงที่ผ่านมาอาจเรียกได้ว่าเป็นยุค AI 1.0 คือโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ AI เช่น Data Center หรือชิปประมวลผล ในขณะที่ซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันด้าน AI ซึ่ง JPMorgan เรียกสิ่งนี้ว่ายุค AI 2.0 โดยมุ่งเน้นไปที่ ‘ผู้ใช้’ อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การบริการลูกค้า การดูแลสุขภาพ การเงิน และโลจิสติกส์ ยังเป็นสิ่งที่ผู้คนยังไม่ได้ให้มูลค่ามากนัก 

 

ตัวอย่างเช่น Klarna บริษัท Buy Now Pay Later เพิ่งเริ่มใช้ผู้ช่วย AI ที่ขับเคลื่อนโดย OpenAI โดยการสนทนากับลูกค้า 2.3 ล้านครั้งในเดือนแรก เป็นการสนทนาโดย AI ถึง 2 ใน 3 ซึ่งทำงานเทียบเท่ากับตัวแทน 700 คน

 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบริษัทที่เป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยี AI ไปปรับใช้ เช่น

 

  • กลุ่ม Software บริษัทที่พัฒนาแพลตฟอร์ม AI, เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล และซอฟต์แวร์ AI อื่นๆ เช่น C3.ai, Palantir

 

  • กลุ่ม Applications บริษัทที่นำ AI ไปใช้ในธุรกิจต่างๆ เช่น UiPath ซึ่งเป็น AI ในการทำงานอัตโนมัติ หรือ Lemonade ซึ่งเป็น AI ในการประกันภัย

 

  • กลุ่มอื่นๆ อาทิ บริษัทที่ใช้ AI ในด้าน Cybersecurity เช่น CrowdStrike รถยนต์ไร้คนขับ เช่น Tesla หุ่นยนต์ เช่น Boston Dynamics

 

AI 2.0 ไม่ได้จำกัดอยู่แค่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ทุกธุรกิจสามารถนำ AI มาปรับใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่ใช้ AI วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า หรือโรงพยาบาลที่ใช้ AI ช่วยวินิจฉัยโรค กุญแจสำคัญคือ ใครจะสามารถเปิดรับและปรับใช้เทคโนโลยี AI ได้ดีมากกว่ากัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising