×

เมื่อเศรษฐกิจมีสัญญาณบวกชัด ถึงเวลาหุ้นจีน-ฮ่องกงไปต่อ

06.07.2024
  • LOADING...
หุ้นจีน

เข้าสู่ครึ่งปีหลังกันอย่างรวดเร็วจริงๆ ครับ หลายๆ ตลาดหุ้นรอบตัวเราดูมีสัญญาณเชิงบวกกันทั้งนั้น ยกเว้นตลาดหุ้นไทยที่ยังอ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลพยายามออกมาตรการต่างๆ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมา แต่ตลาดหุ้นไทยก็ฟื้นตัวได้เพียงช่วงสั้นๆ และกลับมาเหมือนเดิม คือ SET Index อยู่ระดับต่ำกว่า 1,300 จุด

 

คงต้องบอกว่าเป็นเรื่องยากจริงๆ ครับ ชั่วโมงนี้ยังไม่ใช่เวลาของตลาดหุ้นไทยเราครับ

 

เพราะโดยหลักการ ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นหรือลงได้ต้องมาจาก 2 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรกคือกำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโตหรือไม่ และเรื่องที่สองคือมุมมองของนักลงทุนที่มีต่อตลาดหุ้นนั้นๆ ในอนาคต หรือความคาดหวังของนักลงทุนนั่นเอง

 

วันที่หุ้นไทยอ่อนแอ…สแกนหาตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน ใครได้ไปต่อ

 

ในปัจจุบันการลงทุนในต่างประเทศทำได้ง่ายขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นถ้านักลงทุนต่างชาติมองเข้ามา ประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม อินเดีย ญี่ปุ่น หรือจีน เขาก็มองเห็นว่าประเทศไทยมีปัจจัยเชิงบวกไม่มากพอที่จะเศรษฐกิจเติบโตในอนาคต ซึ่งก็หมายถึงผลประกอบการของบริษัทเอกชนต่างๆ ก็ไม่สดใส

 

จริงๆ ไม่ใช่แค่นักลงทุนต่างชาติ แต่นักลงทุนไทยเองก็มีขายหุ้นไทยออกมาแล้วโยกเงินออกไปลงทุนต่อต่างประเทศ สะท้อนความคาดหวังจากนักลงทุนตกลงไม่ว่าจะเป็นต่างชาติหรือคนไทย ภาพเหมือนเป็นคอมโบที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยดิ่งลง เพราะนอกจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะไม่เติบโตแล้ว ความคาดหวังจากนักลงทุนที่มีต่ออนาคตหุ้นไทยก็ยังแย่อีกด้วย

 

ในเมื่อภาพประเทศไทยยังมองไม่เห็นจุดจบจะอยู่ตรงไหน เพราะเศรษฐกิจเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างระดับหนึ่งและมีหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข ทั้งเรื่องเศรษฐกิจไม่เติบโต เรื่องที่ไม่มีความหวังในอนาคตจากมุมมองของนักลงทุน เรื่องของผลตอบแทนเปรียบเทียบ รวมไปถึงเรื่องการเมืองที่อาจจะไม่มีเสถียรภาพ

 

แต่ผมต้องบอกให้เข้าใจก่อนว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่หรือจะล้มละลายนะครับ เพียงแค่ว่าไม่เติบโตหรือโตต่ำๆ 2-3% เท่านั้น และกำไรของบริษัทจดทะเบียนก็ยังพอมีให้เห็นอยู่ แต่แค่ตัวเลขไม่เติบโต เวลาที่เห็นว่ากำไรบริษัทไม่เติบโต มุมมองของนักลงทุนก็ปรับความคาดหวังลงตามไปด้วย ซึ่งก็สะท้อนผ่านค่า P/E ถูกปรับลงมาอย่างที่เราเห็นกันครับ

 

ผมมีข้อมูลตลาดหุ้นไทยโดยเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา ค่า P/E อยู่ประมาณ 19 เท่า ขณะที่ปัจจุบันอยู่ประมาณ 17.5 เท่า เรียกได้ว่า P/E ลดลงมา แต่ P/E ที่ 17 เท่า ก็ยังไม่เรียกว่าถูกเมื่อเทียบกับประเทศอื่น คือถ้ามอง P/E ที่ประมาณ 19 เท่า และปกติตลาดหุ้นไทยให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ระดับ 5% แม้ P/E ที่ 20 เท่า มันก็ยังสมเหตุสมผลในการถือหุ้นไทยอยู่ครับ

 

แต่ทว่ามีอีกเรื่องหนึ่งที่แทรกเข้ามาคือเรื่องดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ที่ยังทรงตัวอยู่ระดับ 5.25-5.50% เพราะฉะนั้นนักลงทุนต่างชาติจะมองว่าถ้าจะถือหุ้น P/E 20 เท่า และได้รับอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ 5% แต่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้ดอกเบี้ยเทียบเท่ากับปันผล 5% แถมมีความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้น ดังนั้นนักลงทุนต่างชาติจึงไปถือพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ได้ผลตอบแทนจากปันผล 5% เท่ากันและเสี่ยงน้อยกว่า ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติถอนเงินออกไปด้วย

 

ส่วนคำถามที่ว่าตอนนี้ตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้านว่าใครน่าสนใจกว่ากัน หากดูตลาดหุ้นไทย จะมีความใกล้เคียงกันทั้ง P/E และดัชนีของตลาดหุ้นเวียดนาม แต่มีความต่างที่เป็นประเด็นที่สำคัญ นั่นก็คือการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามอยู่ระดับที่สูงกว่าประเทศไทย ทั้งนี้ เศรษฐกิจเวียดนาม (GDP) ไตรมาสแรกนี้ เติบโต 6.93% และไตรมาส 2 โต 5.8% ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ ไตรมาสแรก GDP โต 1.5% ขณะที่สภาพัฒน์คาด GDP ไทยปี 2567 เติบโต 2.5%

 

ในเมื่อเศรษฐกิจเวียดนามมีโอกาสเติบโตสูงกว่าไทย นักลงทุนจึงมองว่าเวียดนามเป็นตัวเลือกในการลงทุนที่ดีกว่าไทย แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นเวียดนามยังมีความเสี่ยงที่สูงกว่าเนื่องจากเป็นตลาดหุ้นชายขอบ ซึ่งจะมีความผันผวนสูง ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดเกิดใหม่

 

หากเปรียบเทียบความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นจีนที่เป็นตลาดเกิดใหม่เช่นกันก็พบว่า ตลาดหุ้นจีนก็มีค่า P/E ที่ต่ำกว่าประเทศไทยเช่นกัน ส่วนปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนพบว่า แม้จะมีวิกฤตอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้น แต่ GDP จีนก็ยังสามารถเติบโตได้สูง โดยปี 2566 GDP ขยายตัว 5.2% และปีนี้ ทั่วโลกคาดการณ์ GDP จีนขยายตัว 5% หลังจากที่ไตรมาสแรกเติบโตได้ถึง 5.3% สะท้อนถึงเศรษฐกิจจีนที่ยังแข็งแกร่งแม้จะมีวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์รุมเร้า

 

และแน่นอนว่าประเทศไหนที่เศรษฐกิจเติบโตดี กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นก็เติบโตดีตามไปด้วย และตลาดหุ้นจีนก็เป็นอีกตลาดของโลกที่มีผลประกอบการเติบโตดี

 

ตลาดหุ้นจีน-ฮ่องกง ขานรับสัญญาณเศรษฐกิจจีนส่อแววสดใส

 

ผมขออัปเดตสถานการณ์ภายในประเทศจีนในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดหุ้นชุดใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง พบว่าชีพจรเศรษฐกิจจีนในบางภาคส่วนมีสัญญาณฟื้นคืนชีพแล้วครับ และในภาคอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มเห็นการพลิกฟื้นขึ้นมา ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจหลายๆ ตัว ณ เดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของไตรมาสสองนี้ สะท้อนให้เห็นภาพ ‘จุดเริ่มต้นของจุดสิ้นสุด’ ชัดเจนมากๆ ครับ

 

ผมขอพูดถึงประเด็นใหญ่สุดของจีนเวลานี้ เราเริ่มเห็นผลของมาตรการต่างๆ ที่ออกมาชุดใหญ่และต่อเนื่องเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ หลังจากที่ติดหล่มวิกฤตอสังหาริมทรัพย์มาหลายปีแล้ว ล่าสุดยอดขายบ้านใหม่ของจีนหดตัวในอัตราที่ชะลอลงในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาครับ

 

ข้อมูลเบื้องต้นจากบริษัท ไชน่า เรียล เอสเตท อินฟอร์เมชัน คอร์ป (CRIC) ทำวิจัยอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า ยอดขายบ้านใหม่ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของจีนจำนวน 100 แห่ง ปรับตัวลดลง 17% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ 4.39 แสนล้านหยวน (6 หมื่นล้านดอลลาร์) ในเดือนมิถุนายน ถือว่าดีกว่าเดือนพฤษภาคมที่ร่วงลง 34% นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ยอดขายบ้านเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 36% จากเดือนพฤษภาคม

 

ทั้งนี้ เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมืองใหญ่ที่สุดของจีน 3 แห่ง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และกวางโจว ได้ประกาศผ่อนคลายข้อกำหนดการซื้อบ้าน ด้วยการปรับลดอัตราส่วนการวางเงินดาวน์ซื้อบ้านและปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หลังจากที่รัฐบาลกลางเปิดตัวโครงการช่วยฟื้นฟูภาคอสังหาริมทรัพย์จีน นอกจากนั้นเมื่อเร็วๆ นี้ กรุงปักกิ่งได้กลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ของจีนระดับ Tier 1 แห่งสุดท้ายที่ประกาศดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกัน

 

เมื่อยอดขายบ้านใหม่ที่หดตัวในอัตราที่ชะลอลง อาจช่วยบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน ขณะที่ดัชนี Shanghai Stock Exchange Property Index ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ปรับตัวขึ้นถึง 3.1% ในการซื้อขายช่วงเช้าวันที่ 1 กรกฎาคมด้วย และหุ้นใหญ่อสังหาริมทรัพย์หลายๆ ตัวก็ปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกันครับ

 

เรามาดูภาคการผลิตของจีนเป็นอย่างไรบ้าง เริ่มจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมิถุนายนอยู่ที่ระดับ 49.5 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับในเดือนพฤษภาคม โดยดัชนีที่อยู่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนยังคงอยู่ในภาวะหดตัว ซึ่งในภาคการผลิตนี้อาจจะยังเป็นจุดอ่อนของจีน และยังจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการกลับมาเต็มที่ได้ และต้องติดตามดูรัฐบาลจะออกมาตรการใดๆ เพิ่มเติม รวมถึงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนให้ภาคการผลิตฟื้นตัวได้ทั่วถึงและเต็มที่กว่าปัจจุบัน

 

ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการ ซึ่งเป็นมาตรวัดความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมด้านการบริการและการก่อสร้างนั้น อยู่ที่ระดับ 50.5 ในเดือนมิถุนายน ลดลงจากระดับ 51.1 ในเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ภาคบริการอยู่เหนือระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการของจีนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

 

จีนยังมีข้อมูลที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจ มีอนาคตเติบโตสูง นั่นก็คืออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนรายงานว่า รายได้และกำไรของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนมีการเติบโตระดับเลขสองหลักเมื่อเทียบรายปี ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ กำไรสุทธิอยู่ที่ 5.75 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 16.3% เมื่อเทียบรายปี ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 4.93 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 11.6% เมื่อเทียบรายปี นอกจากนี้รายได้รวมของการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศอยู่ที่ 3.33 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 12.9% เมื่อเทียบรายปี และคิดเป็น 67.5% ของรายได้รวมของทั้งอุตสาหกรรมดังกล่าว

 

ขณะที่รายได้รวมของการบริการประมวลผลคลาวด์และคลังข้อมูลขนาดใหญ่อยู่ที่ 5.14 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบรายปี และรายได้ของผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ รวมถึงผลิตภัณฑ์และการบริการความปลอดภัยทางสารสนเทศเพิ่มขึ้น 9.2% และ 8.5% เมื่อเทียบรายปี

 

การเติบโตของภาคบริการบ่งชี้ว่าจีนเดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจตามเป้าหมายประเทศที่ต้องการเป็น China Innovation ตอกย้ำจีนเร่งถีบตัวขึ้นมาสู่มหาอำนาจทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งของโลก หวังเบียดพี่ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ท่ามกลางสมรภูมิ Tech War นี่คือศักยภาพการเติบโตของจีนในระยะยาว

 

อีกภาคธุรกิจที่กำลังติดลมบนของจีนคือธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นภาคที่มีขนาดใหญ่ เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำจีน ได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปภาคพลังงานและอุตสาหกรรมในภาคส่วนอื่นๆ โดยจะยกระดับอุตสาหกรรมดั้งเดิมให้มีความทันสมัยมากขึ้นผ่านการใช้เทคโนโลยี รวมทั้งการสนับสนุนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้ออำนวยต่อบริษัทต่างชาติ ซึ่งจะมีการเสนอในที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะเปิดฉากขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ ทำเอาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นรับข่าวกันคึกคัก

 

นอกจากนี้ภาคท่องเที่ยวของจีนก็เริ่มกลับมาคึกคัก โดยจีนเปิดเผยตัวเลขนักท่องเที่ยวปีนี้กลับมาฟื้นตัวแรงกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดแล้ว และภาคส่งออกของจีนมีการปรับตัวส่งออกในอาเซียนเติบโตสูงกว่าฝั่งยุโรปด้วย ซึ่งทำให้ภาคส่งออกจีนเริ่มกลับมาเป็นบวก ด้านนำเข้าก็เติบโตเกินคาด สะท้อนถึงดีมานด์ต่างประเทศที่ดีขึ้น

 

เมื่อเร็วๆ นี้ JPMorgan มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจจีนปรับตัวดีขึ้นแล้ว สภาพแวดล้อมทางธุรกิจในจีนมีแนวโน้มกลับมาสดใสมากขึ้น การใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวจีนกำลังแสดงสัญญาณการฟื้นตัว และภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัว จะเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนให้ดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง 

 

หากดูตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน (YTD) ดัชนี CSI300 พุ่งขึ้นราว 5% แล้ว ตลาดหุ้นจีนทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน JPMorgan ยังคาดการณ์ว่าดัชนีจะพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ เนื่องจากหุ้นจีนถือเป็นตลาดที่มีราคาถูกมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ดึงดูดแรงซื้อของนักลงทุน

 

ผมเห็นภาพหุ้นจีนมีข่าวใหญ่ปังๆ เข้ามาพลิกภาพให้สดใสครับ หลังจากที่ร่วงลงต่ำสุดมานานจากวิกฤตต่างๆ ที่ถาโถมตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่ทุกวันนี้หุ้นจีนค่อยๆ ไต่ขึ้นมาจากจุดต่ำสุดแล้ว และแน่นอนว่าหุ้นฮ่องกงที่เกาะเกี่ยวคู่กันมาก็กำลังไต่ขึ้นมาจากจุดต่ำสุดตามไปด้วย โดยปี 2567 พบว่าดัชนี Hang Seng ปรับตัวขึ้นมากกว่า 22% นับจากจุดต่ำสุดเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นฮ่องกงกันมากกว่าตลาดหุ้นจีนครับ

 

ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนก็เร่งตีเหล็กที่กำลังร้อนๆ ด้วยการเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนอีกครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการประกาศ ‘นโยบายการปฏิรูปตลาดหุ้นจีน’ ซึ่งเป้าหมายหลักในการปฏิรูปคือควบคุมคุณภาพ เพิ่มความโปร่งใส ลดความเสี่ยง และพัฒนาตลาดทุน ซึ่งจะทำให้มุมมองของชาวโลกต่อการลงทุนหุ้นจีนเปลี่ยนไป

 

การปฏิรูปครั้งนี้เป็นครั้งที่สามแล้ว จากที่การปฏิรูปที่เป็นแนวโน้มระยะยาวเคยเกิดขึ้นในปี 2547 ทำให้หุ้นจีนทะยานกว่า 340% ในช่วง 4 ปีหลังประกาศ ส่วนการปฏิรูปครั้งที่สองคือปี 2557 ตลาดหุ้นจีนพุ่งขึ้น 150% ในช่วง 1 ปีหลังการประกาศ

 

ถ้าใครที่ติดตามผมมาตลอดจะเห็นว่าผมแนะนำให้ลงทุนหุ้นจีนตั้งแต่ปลายปีที่แล้วครับ ซึ่งตอนนี้ลูกค้าผมแฮปปี้กันครับ เพราะเห็นตัวเลขผลตอบแทน YTD ที่ลงทุนใน Jitta Ranking หุ้นจีน หุ้นฮ่องกง หุ้นเทคโนโลยีจีน กำไรกันฉ่ำๆ 14-16% ถือว่าครึ่งปีแรกก็ Perform ได้ดีมากๆ ถ้าอยากดูว่ามีหุ้นท็อปๆ ตัวไหนบ้าง สามารถเข้าไปดู Ranking ได้ใน Jitta.com ครับ

 

หุ้นเหล่านี้ทำผลตอบแทนสวยๆ ได้ ไม่ใช่เพราะโชคช่วย แต่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และอนาคตก็มีแนวโน้มเติบโตสดใสตามเศรษฐกิจใหม่ของจีนที่กำลังยกระดับเป็น China Innovative

 

นอกจากผมที่เชียร์หุ้นจีนรัวๆ ตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็มีอีกหลายๆ ค่ายที่ออกมาเชียร์หุ้นจีน อย่าง JPMorgan มีมุมมองเป็นบวกต่อตลาดหุ้นจีน โดยคาดว่าผลประกอบการที่แข็งแกร่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนตลาดหุ้นจีน ซึ่งยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นในการลงทุนหุ้นจีน-ฮ่องกงกันมากขึ้น

 

ค่าย UBS Group ก็ได้แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักลงทุน (Overweight) ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง ชี้ว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงฟื้นตัว

 

ตอนนี้ผมบอกได้เพียงว่าน้ำขึ้นให้รีบตักครับ ถ้าคุณเห็นหุ้นจีนคุณภาพ ราคายังไม่สูงมากนัก เป็นโอกาสเข้าลงทุนถือเก็บระยะยาวได้ครับ หรือหากเลือกไม่ถูกสามารถติดต่อหลังไมค์หาผมได้ครับ

 

จัดพอร์ต Core & Satellite และ DCA ถัวไม่ให้ติดดอย

 

ส่วนใครที่พอร์ตติดดอยสูงเยอะไปหมด ผมมีคำแนะนำทางเลือกทางรอดให้ครับ

 

คำแนะนำอย่างแรกที่สุด คือคุณต้องทบทวนพอร์ตของตัวเอง เมื่อไรที่รู้สึกตึงเครียด แสดงว่าพอร์ตของคุณยังถูกจัดไม่เหมาะสมตามความเสี่ยงที่คุณรับได้ครับ

 

ข้อที่สอง คือต้องปรับพอร์ตใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงการลงทุนดูว่าจะอยู่ในทรัพย์สินอะไรบ้าง และจะแบ่งสัดส่วนอย่างไร ผมแนะนำให้คุณพยายามจัดพอร์ต Core & Satellite ซึ่งเป็นสองส่วนที่ช่วยให้คุณกระจายความเสี่ยงการลงทุน (Asset Allocation) และฝ่าความผันผวนได้ระหว่างทาง เหมาะสำหรับคนที่ลงทุนระยะยาว

 

การจัดพอร์ต Core คือเป็นพอร์ตที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี มีความผันผวนต่ำหรือเสี่ยงต่ำ เพราะมี Asset Allocation ที่ดี อาจจะเป็นหุ้น พันธบัตร หรือบางพอร์ตก็จะมีทองคำด้วย จะเป็นทรัพย์สินที่เติบโตไปเรื่อยๆ ทนต่อหลายๆ สภาวะ ส่วนพอร์ต Satellite จะลงทุนสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนเติบโตสูง แต่ในระยะสั้นอาจจะผันผวนก็เป็นได้ ยกตัวอย่างเช่น พอร์ตหุ้นจีน ฮ่องกง เวียดนาม กลุ่มเทคโนโลยี หรือกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์

 

อย่างไรก็ตาม คุณจะต้องหมั่นรีวิวว่าพอร์ต Core ยังถูกต้องอยู่หรือไม่ มีการทำ Asset Allocation อยู่หรือไม่ แล้วตัวหุ้นใน Satellite ยังมีการเติบโตอยู่ไหม ประเทศไหนมีการเติบโตมากกว่า จะไปลงทุนทางนั้นดีไหม โดยปกติจะจัดสัดส่วนเป็นพอร์ต Core 80% ของพอร์ตรวม และพอร์ต Satellite อีก 20% เรียกว่าเป็นสัดส่วนมาตรฐานของพอร์ต Core & Satellite ที่ใช้กันทั่วโลก

 

แม้แต่คุณปู่ Warren Buffett ไอดอลสาย VI ระดับโลก ก็มีการจัดพอร์ต Core & Satellite เหมือนกันครับ

 

สำหรับคนที่จะจัดพอร์ต Core & Satellite ควรมีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุนก่อนนะครับ เพราะเป็นกลยุทธ์การลงทุน Asset Allocation ซึ่งจะมีทรัพย์สินหลายๆ อย่าง เช่น หุ้นรายประเทศ หุ้นรายกลุ่มหรือธีมเมกะเทรนด์ หุ้นรายตัว ประเภทสินทรัพย์ผลตอบแทนต่ำแต่เสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้และพันธบัตรรัฐบาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทองคำ ฯลฯ ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีปัจจัยต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งด้านบวกและลบ เพราะฉะนั้นคุณจะต้องทำการบ้านอย่างหนัก ศึกษาสินทรัพย์ต่างๆ ที่จะลงทุนว่ามีอนาคตให้ลงทุนระยะยาวหรือไม่ 

 

ข้อที่สาม ข้อสุดท้าย การมีวินัยการลงทุนด้วย DCA (Dollar Cost Averaging) เป็นการลงทุนแบบสม่ำเสมอที่คุณต้องมีโดยเฉพาะในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างหุ้นที่มีความผันผวนเยอะ ซึ่งเราไม่รู้ว่าตอนที่เราลงทุนมันคือจุดสูงสุดหรือจุดต่ำสุดอย่างไร แต่เราจะรู้ว่าในระยะยาวตลาดหุ้นจะเป็นขาขึ้น การ DCA คือการกระจายความเสี่ยงด้านราคา ทำให้เราไม่ต้องมาคอยคิดวนไปเวียนมาว่าเข้าลงทุนถูกหรือผิดจังหวะครับ

 

ถ้าจัดพอร์ตตามหลักการนี้ ผลลัพธ์ของพอร์ตคุณจะทำผลตอบแทนออกมาได้ดีกว่านักลงทุนทั่วไป 

 

สำหรับคนที่จะ DCA ก็มีกฎที่ควรทำคือ ควรจะลงทุนถัวเฉลี่ยในสินทรัพย์ที่ดีที่มีโอกาสเติบโตในระยะยาวด้วยครับ เพราะถ้าคุณลงทุนถัวเฉลี่ยหรือ DCA ในสินทรัพย์ที่ผิด ผลลัพธ์ก็ออกมาไม่ดีได้เหมือนกันครับ ผมจึงย้ำเสมอว่าก่อนลงทุนจะต้องทำการบ้านอย่างหนักและรอบคอบ รวมทั้งสอบถามผู้ให้คำแนะนำการลงทุนด้วยนะครับ 

 

ปกติการ DCA มีข้อดีถึง 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่ เงินต้นจะเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ถ้าลงทุนในสินทรัพย์ที่ถูกต้อง มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี การ DCA ก็จะทำให้ผลตอบแทนทบต้นที่ดีกว่าการไม่ DCA และระยะเวลาในการลงทุนจะยาวขึ้น คุณจะไม่กดดันในยามที่ตลาดมีความผันผวน ในปีที่ตลาดไม่ดี คุณก็จะผลกระทบจากความผันผวนที่น้อยกว่าตลาด ทำให้คุณเครียดน้อยกว่าด้วย

 

กลยุทธ์การ DCA ในสินทรัพย์ที่ดี นอกจากจะฝ่าความผันผวนแล้ว ยังช่วยไม่ให้พอร์ตคุณติดดอย และยังเป็นเหมือนน้ำมันเครื่องเร่งให้คุณถึงเส้นชัยผลตอบแทนได้ไวขึ้นครับ

 

แม้ในการลงทุนจะมีความเสี่ยงแฝงอยู่เสมอ แค่คุณจะจัดการความเสี่ยงนั้นได้ คุณจะสามารถลงทุนได้ในระยะยาวอย่างมีความสุขครับ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising