พลังงานบวกและการเลือกมองโลกในแง่ดีคือนิสัยที่พบได้ทั่วไปในกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จ
นักจิตวิทยากล่าวว่า ทัศนคติที่ดีคือจุดเริ่มต้นสำคัญของการไปให้ถึงเป้าหมายความสำเร็จ ในทางกลับกันหลายงานวิจัยต่างเผยว่า การดูถูกตัวเองจะให้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม เพราะมันคงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จหากเราพยายามตอกย้ำกับตัวเองว่า “ทำไม่ได้” และแนวคิดแบบนี้มีผลที่จะกระทบกับชีวิตในระยะยาว ทั้งเรื่องของความเครียด ความวิตกกังวล และความมั่นใจของเรา
และต่อไปนี้คือ 3 ประโยคที่ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลกับ CNBC ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรพูดหากเราต้องการที่จะไปให้ถึงเป้าหมายความสำเร็จ
1. “ฉันไม่ดีพอกับความสำเร็จที่ผ่านมา”
งานวิจัยของ National Library of Medicine ของสหรัฐฯ เผยว่า คนราว 80% ตกเป็นเหยื่อของโรคที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง หรือที่เรียกว่า Imposter Syndrome ส่งผลให้คนที่มีอาการดังกล่าวมีแนวโน้มที่มักจะคิดด้อยค่าตัวเองอยู่เสมอว่าตนนั้นไม่คู่ควรกับความสำเร็จที่ผ่านมาหรือความสำเร็จที่ตนมีอยู่ ณ ปัจจุบัน
Christina Helena วิทยากรเวที TEDx แนะนำคนที่มีข้อสงสัยส่วนนี้กับตัวเองว่า “ให้ลองถามคำถามกับตัวเองว่าสาเหตุที่เรากำลังมีความคิดที่มองตัวเองไม่คู่ควรกับความสำเร็จที่ผ่านมาเพราะเรากำลังเปรียบเทียบนิยามความสำเร็จกับคนอื่นอยู่หรือไม่?” หากใช่ Christina แนะนำให้ยอมรับความจริงที่ว่าความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งอิทธิพลความคิดลบและความไม่มั่นใจกับคุณค่าในตัวเองจะค่อยๆ เจือจางไปเมื่อเรายอมรับแล้ว
2. “เรามันดีไม่เท่าคนพวกนั้นหรอก”
ในยุคที่โซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยการแชร์ช่วงเวลาดีๆ ให้กันและกันบนโลกออนไลน์ บ่อยครั้งคนเสพอาจเห็นแค่ด้านเดียวของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เพราะส่วนมากแล้วคนโพสต์คอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียก็มักจะซุกซ่อนความลำบากและปัญหาในชีวิตเอาไว้เบื้องหลัง
แทนที่เราจะเน้นใช้เวลาไปกับการเปรียบเทียบว่าเราไม่ดีเหมือนคนอื่น ด้านศาสตราจารย์ Emma Seppälä แห่งมหาวิทยาลัยเยล แนะนำว่าให้เราพยายามหาข้อดีของตัวเองว่ามีอะไรที่คนอื่นทำไม่ได้เหมือนกับเราไหม? เช่น เราอาจพูดไม่ได้ 5 ภาษา แต่ทักษะการใช้โปรแกรม Excel เราไม่แพ้ใคร
ข้อสำคัญคือหาจุดแข็งตัวเองให้เจอ และถ้าเราอยากได้เช็กว่าตนไม่ได้คิดไปเอง ลองถามเพื่อนรอบตัวดูก็ได้ เพราะหลายครั้งเรามักจะมองข้ามข้อดีของตัวเองแบบที่ไม่รู้เลยว่ามันกลับให้ประโยชน์กับคนอื่นจนพวกเขาเห็นคุณค่าในตัวเรา
3. “ฉันไม่เปลี่ยนหรอก ฉันก็เป็นแบบนี้แหละ”
ประโยคนี้หลายคนคงพอเดาได้แล้วว่ามันเปรียบเสมือนกำแพงกั้นไม่ให้เราก้าวข้ามข้อจำกัดในปัจจุบันไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าได้
ชุดความคิดนี้มักแรงกล้ามากกับกลุ่มคนที่มี EQ ต่ำ เนื่องจากพวกเขามีแนวโน้มที่จะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงมากกว่าโดยธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าสิ่งที่ควรทำมากกว่าคือการปรับทัศนคติใหม่ เช่น ครั้งหน้าหากมีใครมาให้ความเห็นกับงานที่เราทำ เราควรมีชุดความคิดระหว่างที่ฟังความเห็นว่า “ฉันจะใส่ใจกับความเห็นที่อีกฝ่ายมีให้ฉันมากขึ้น ฉันอยากจะเข้าใจตัวเองจากมุมมองของคนอื่น แม้ว่าบางครั้งมุมมองหรือความเห็นเหล่านั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่น่าฟังที่สุดก็ตาม”
แน่นอนว่าพูดง่ายแต่ทำยาก แต่ความสำเร็จก็อาจมาช้าหรือไม่มาเลยก็ได้หากไม่ลงมือทำและเปลี่ยนตัวเอง
ภาพ: ra2studio / Getty Images
อ้างอิง: