ช่วงนี้หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า ‘สเปกแซฟฟิก’ อยู่บ่อยๆ หรืออาจเคยเห็นการนิยามตัวเองของคนบางกลุ่มว่า “เราเป็นแซฟฟิก ไม่ใช่เลสเบี้ยน’ หรือไม่ก็เพิ่งจะได้ยินคำนี้เป็นครั้งแรก
ในสังคมปัจจุบันที่ความหลากหลายทางเพศมีการเปิดกว้างมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน แน่นอนว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย และไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราจะยังไม่เข้าใจหรือตามไม่ทัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำว่า ‘แซฟฟิก’ ก็เป็นคำศัพท์ที่เพิ่งเอากลับมาใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งเราอาจได้ยินอยู่บ่อยครั้งในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์แซฟฟิกหรือสเปกแซฟฟิก ฯลฯ แล้วแซฟฟิกไม่ใช่เลสเบี้ยนเหรอ? ทำไมหลายคนเลือกที่จะนิยามตัวเองว่าแซฟฟิก ไม่ใช่เลสเบี้ยน
แซฟฟิกคืออะไร? ถือว่าเป็น LGBTQIA+ ไหม?
คำว่า ‘แซฟฟิก’ (Sapphic) มีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งมาจากชื่อของ ‘แซฟโฟ’ (Sappho) นักกวีหญิงชาวกรีกท่านหนึ่ง คำนี้ถูกใช้เพื่ออธิบายประเภทบทกวีของเธอที่หลายๆ คนตีความว่าเป็นบทกวีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง ส่วนอัตลักษณ์ทางเพศของเธอยังคงเป็นที่ถกเถียงจนถึงปัจจุบันว่าเธอเป็นเลสเบี้ยนหรือไม่ เนื่องจากไม่มีหลักฐานหรือรายละเอียดที่ชัดเจน แต่บทกวีของเธอมักจะกล่าวถึงความรู้สึกของเธอต่อผู้หญิงคนหนึ่ง จึงเกิดเป็นคำว่า ‘แซฟฟิก’ ขึ้นมา
แซฟฟิกเป็นนิยามของอัตลักษณ์ทางเพศที่มีความเชื่อมโยงกับความเป็นหญิง อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ ได้ว่า แซฟฟิกเป็นร่มคันใหญ่ และใต้ร่มคันใหญ่นี้ก็มีไบเซ็กชวล แพนเซ็กชวล เควียร์ และทรานส์เจนเดอร์ ฯลฯ จึงถือได้ว่าแซฟฟิกก็อยู่ในกลุ่ม LGBTQIA+ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Cisgender (บุคคลที่อัตลักษณ์ทางเพศสอดคล้องกับเพศกำเนิด) หรือ Transgender (บุคคลข้ามเพศ) ก็สามารถเรียกตัวเองว่าแซฟฟิกได้ ไม่จำเป็นต้องมีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นหญิงเท่านั้น
ในความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงสองคนไม่ได้แปลว่าจะเป็นคู่รักเลสเบี้ยนเสมอไป คนใดคนหนึ่งอาจเป็น Bisexual หรือ Pansexual หรือกำลังค้นหาตัวตนอยู่ การแปะป้ายว่าคู่รักหญิง-หญิงเป็นเลสเบี้ยนอาจเป็นการลบตัวตนของไบเซ็กชวลว่าไม่มีอยู่จริง หรือที่เรียกว่า ‘Bisexual Erasure’ ได้ ดังนั้นไม่ใช่แซฟฟิกทุกคนจะเป็นเลสเบี้ยน และไม่ได้หมายความว่าเป็นแซฟฟิกแล้วจะมีความรักแค่กับเพศหญิงเท่านั้น การที่หลายๆ คนเลือกที่จะนิยามตัวเองว่าเป็นแซฟฟิก อาจเป็นเพราะเขารู้สึกว่าคำนี้ครอบคลุมความเป็นตัวเขามากกว่านั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การเคารพซึ่งกันและกันคือสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนหรือนิยามตนเองว่าอย่างไร ทุกคนก็ควรได้รับการเคารพและมีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน การเคารพในทุกๆ ความสัมพันธ์และอัตลักษณ์อาจสำคัญกว่าการมาชี้ว่าความสัมพันธ์นี้นิยามว่าอย่างไร หรืออัตลักษณ์ของบุคคลนี้คืออะไร
ภาพ: Carlo Prearo / Shutterstock
อ้างอิง: