เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 มิถุนายน) เดนมาร์กเตรียมออกกฎหมายเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคเกษตรกรรมเป็นประเทศแรกของโลก เพื่อให้กลุ่มประเทศนอร์ดิกสามารถบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมภายในปี 2030
โดยเกษตรกรจะถูกเก็บภาษี 43 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1,500 บาท ต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตันที่ถูกปล่อยออกมา โดยจะเริ่มเก็บในปี 2030 และภาษีจะขึ้นเป็น 107 ดอลลาร์หรือประมาณ 3,600 บาทต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตัน ในอีก 5 ปีถัดไป
ซึ่งก่อนหน้านี้มีประเทศอย่างนิวซีแลนด์ที่เสนอมาตรการเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นประเทศแรกของโลก ก่อนที่จะกล่าวในช่วงต้นเดือนนี้ว่า อาจต้องชะลอการออกมาตรการดังกล่าวไปจนถึงปี 2030 ก่อน
โดยนโยบายดังกล่าวของเดนมาร์กคาดว่าจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 1.8 ล้านตันภายในปี 2030 เป็นไปตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 70%
นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแผนการให้เงินสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวไปยังภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรราว 3.8 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท)
ตั้งแต่ช่วงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลของเดนมาร์กยังผ่านการเจรจาและพูดคุยกับตัวแทนจากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอาหาร รวมไปถึงองค์กรต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้ได้โมเดลและตัวเลขการคิดภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมออกมา
จากข้อมูลของรัฐบาลเดนมาร์กยังชี้ว่า ประเทศมีการส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์จากนมเป็นสัดส่วนมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ทำให้หากไม่มีการจัดการใดๆ เลย ภายในปี 2030 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรในเดนมาร์กจะคิดเป็นสัดส่วนถึง 46% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในประเทศ
อ้างอิง: