แอชตัน คุชเชอร์ นักแสดงวัย 40 ปี ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรร่วมกับภรรยาเก่า เดมี มัวร์ ตั้งแต่ปี 2009 และล่าสุดมีรายงานว่าองค์กรของเขาได้ช่วยเหลือเด็กที่กำลังจะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จำนวนเกือบ 6,000 คนในปีที่ผ่านมา
อ้างอิง: themindsjournal.com
แอชตัน คุชเชอร์ ใช้ชื่อองค์กรในตอนแรกว่า DNA Foundation ซึ่งภายหลังเป็นที่รู้จักในชื่อ Thorn: Digital Defenders of Children เขาร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ รวมทั้งช่วยเหลือเด็กที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ และถูกคุกคามทางเพศ โดยใช้เทคโนโลยีที่ชื่อว่า Technology Task Force ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทใหญ่ๆ ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ อย่าง Google, Facebook และ Microsoft
ในรายงานของปี 2017 ขององค์กร (www.wearethorn.org/impact-report-2017/) ระบุว่า Thorn ได้หยุดการกระทำผิด และได้ช่วยเหลือคนที่สุ่มเสี่ยงต่อการเข้าสู่วงจรค้ามนุษย์มากกว่า 140,000 คน ผ่านการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเหมาะสม รวมไปถึงการสร้างแคมเปญ Stop Sextortion (www.wearethorn.org/stop-sextortion/) ที่สอนให้เด็กและเยาวชนได้รู้จักการป้องกันตัวเองจากภัยคุกคามทางเพศออนไลน์ เช่นการแชร์รูปภาพโป๊เปลือย หรือสื่อที่ไม่เหมาะสมบนโลกอินเทอร์เน็ต พร้อมบอกช่องทางในการขอความช่วยเหลือสำหรับเด็กและเยาวชนที่เคยโดนหลอก หรือเคยกระทำผิดมาก่อน
“ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีดังกล่าว สำนักกฎหมาย และกลุ่มผู้สอบสวนสามารถเข้าช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อในการค้ามนุษย์ได้ถึง 5,791 ราย และยังช่วยเด็กจำนวน 103 คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์การล่วงละเมิดทางเพศ เรากำลังสร้างเครื่องมือที่จะลุกขึ้นสู้กับสิ่งแวดล้อมที่โหดร้าย และหยุดการคุกคามก่อนมันจะเกิดขึ้นจริง”
แอชตัน คุชเชอร์ และภรรยา มีลา คูนิส
อ้างอิง: www.etonline.com
แอชตัน คุชเชอร์ ให้สัมภาษณ์กับ 48 Hours รายการโชว์สอบสวนคดีทางช่อง CBS เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเกี่ยวกับงานขององค์กร Thorn
“ผมพูดเรื่องนี้ทีไรก็อดที่จะสะเทือนใจไม่ได้ทุกที สิ่งที่พวกเราทำคือการสร้างเทคโนโลยีที่จะช่วยต่อต้านการค้ามนุษย์ และการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กและเยาวชน คุณจะกระโดดเข้าไปช่วยคนหนึ่งคน หรือคุณจะเลือกสร้างเครื่องมือ เพื่อให้คนหนึ่งคนสามารถช่วยเหลือคนอีกหลายๆ คนต่อไปได้”
แอชตัน คุชเชอร์ และลูกสาว Wyatt
อ้างอิง: heguiltycode.com
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา แอชตัน คุชเชอร์ ได้ขึ้นให้การต่อหน้า Senate Foreign Relations Committee เพื่อกดดันให้รัฐบาลลงมือแก้ไขปัญหาคดีการค้ามนุษย์ทั้งในเด็กและสตรีที่เกิดขึ้นรอบโลก แอชตันยังได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ความยาว 15 นาทีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในโลกปัจจุบัน ร่วมกับ Elisa Massimino ประธานและผู้บริหาร องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Human Rights First
“ผมมาวันนี้เพื่อที่จะปกป้องสิทธิที่จะแสวงหาความสุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ประชาชนทุกคนในประเทศมีสิทธิ์ที่จะตามหาความสุข และผมเชื่อว่ามันเป็นหน้าที่ของประชาชนชาวอเมริกันทุกคนที่จะส่งต่อสิทธิ์นั้นให้กับผู้อื่น ให้แก่กันและกัน และให้กับคนทั้งโลก แต่สิทธิที่จะมีความสุขของหลายคนถูกพรากไป มันถูกกระทำชำเรา มันถูกคุกคาม ถูกหลอก ถูกบีบบังคับ มันถูกขายเพื่อใช้เป็นความสุขระยะสั้นๆ ให้กับคนอื่น”
อ้างอิง: ghost.represent.com
แอชตัน คุชเชอร์ ยังกล่าวว่ามีบางคนออกมาตอกกลับ ให้เขาไปทำงานการแสดงเหมือนเดิมเถอะ ซึ่งแอชตันก็ตอบกลับไปว่า งานขององค์กร Thorn นี่แหละคืองานหลักในชีวิตของเขาตอนนี้
.@SenJohnMcCain: “Ashton, you were better looking in the movies.” pic.twitter.com/Mn1iZM1kMa
— CSPAN (@cspan) 15 กุมภาพันธ์ 2560
ในประเทศไทยมีองค์กรมากมายที่ให้การช่วยเหลือปัญหาการค้ามนุษย์ อย่างเครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ ANTI-HUMAN TRAFFICKING NETWORK (ATN) ที่รวบรวมทั้ง มูลนิธิพิทักษ์สตรี, มูลนิธิเพื่อนหญิง, มูลนิธิกระจกเงา, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ทำงานปฏิบัติการเพื่อยุติการค้ามนุษย์ และช่วยเหลือเหยื่อทั้งเด็ก เยาวชน สตรีจากการค้ามนุษย์อีกด้วย โดยผู้ที่ต้องการติดต่อเหตุร้ายที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ก็ติดต่อทางเบอร์สายด่วน 1191 ตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300
- Technology Task Force ที่ Thorn ใช้ในการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ถูกพัฒนาขึ้นในปี 2010 ซึ่งรวบรวมเทคโนโลยีหลายๆ อย่าง ยกตัวอย่างเช่น Hash Sharing Platform ที่เป็นอุปกรณ์แชร์ผ่านคลาวด์ ซึ่งจะช่วยในการระบุและทำลายภาพการคุกคามทางเพศของเด็กที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต และ BEFREE หรือ shortcode (รหัสย่อจากตัวเลขโทรศัพท์ที่นิยมใช้ในอเมริกา) สำหรับการส่งข้อความแจ้งเหตุการค้ามนุษย์ การคุกคามทางเพศในเด็ก หรือพฤติกรรมต้องสงสัยต่างๆ ซึ่งผู้ที่ต้องการติดต่อสามารถส่งข้อความเพื่อถาม-ตอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น