×

‘สมรสเท่าเทียม’ เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย เมื่อ LGBTQIA+ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างไร?

19.06.2024
  • LOADING...
สมรสเท่าเทียม

บรรยากาศของประเทศไทยในวันที่ 18 มิถุนายน 2024 เต็มไปด้วยรอยยิ้ม เมื่อประชาชนชาวไทยต่างร่วมแสดงความยินดีกับวันแห่งประวัติศาสตร์ไทยที่ต้องถูกจารึกไว้

 

ไทยกำลังจะกลายเป็นชาติแรกในภูมิภาคอาเซียน เป็นประเทศหรือดินแดนที่ 3 ในทวีปเอเชีย ที่มีกฎหมายรองรับการสมรสของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ต่อจากประเทศเนปาลและไต้หวัน

 

เป็นชาติที่ 38 ของโลกที่จะสามารถสมรสเท่าเทียม ที่สภาไฟเขียวร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม วาระ 3 ซึ่งต่อสู้มาอย่างยาวนานกว่า 1 ทศวรรษ!

 

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ไทยจะประกาศใช้ภายใน 120 วัน

 

ทว่าการสมรสเท่าเทียมไม่เพียงแค่เป็นเรื่องของความรักและความเสมอภาคทางสังคมเท่านั้น หากดูในแง่ของเศรษฐกิจ นี่อาจเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตยั่งยืน

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

สมรสเท่าเทียมกับเศรษฐกิจจะสำคัญแค่ไหน เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

 

กรณีศึกษาเศรษฐกิจสหรัฐฯ

 

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจากการรับรองการแต่งงานเพศเดียวกันในเขตตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ พบว่า การสมรสเท่าเทียมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้จ่ายและรูปแบบการใช้ชีวิตของกลุ่มประชากร LGBTQIA+ ยิ่งมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

 

โดยสรุปผลการศึกษาของ The Williams Institute จาก University of California ที่สะท้อนจากตัวเลขเชิงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปี 2015 ภายหลังที่ประกาศบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมทั่วประเทศ จะพบว่าสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ถึง 3.8 พันล้านดอลลาร์

 

ช่วยสร้างการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นมากถึง 45,000 ราย

 

 

โดยเฉพาะในรัฐฟลอริดา!

 

น่าสนใจว่าช่วงปีนั้นประชากรกลุ่ม LGBTQIA+ ประมาณ 540,000 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.5% ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมด ช่วง 3 ปีแรกหลังจากการรับรองการแต่งงานเพศเดียวกัน เกิดการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มาจาก

 

  • เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายสำหรับจัดงานแต่งงาน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นถึง 182.2 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6,559 ล้านบาท)
  • รายได้จากการจัดเก็บภาษีของรัฐเพิ่มขึ้น 12.1 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 436 ล้านบาท)
  • การจ้างงานเพิ่มขึ้นทั้งตำแหน่งงานชั่วคราวและตำแหน่งงานประจำ ประมาณ 875-2,626 ตำแหน่ง

 

การสมรสเท่าเทียมในสหรัฐฯ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในแง่ของการกระตุ้นการใช้จ่ายโดยรวมของประชาชน

 

เพราะหากดูธุรกิจที่มีมากขึ้นนั้น จะพบว่ามาจากธุรกิจการจัดงานแต่งงานและการท่องเที่ยวหลังจากงานแต่ง ธุรกิจจำหน่ายสินค้าของขวัญ ของชำร่วย ธุรกิจดอกไม้ ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์การก่อสร้าง

 

โดยรัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี ชาวอเมริกันมีการจ้างงานจึงเพิ่มขึ้น เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ภาคธุรกิจต่างได้รับประโยชน์จากกฎหมายสมรสเท่าเทียม

 

LGBTQIA+ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง

 

นอกจากนี้ จากรายงานของ Kearney ปี 2020 พบว่า ครอบครัวกลุ่ม LGBTQIA+ ในสหรัฐฯ มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าครัวเรือนทั่วไป

 

“โดยรายได้เฉลี่ยของครอบครัวกลุ่ม LGBTQIA+ อยู่ที่ 92,000 ดอลลาร์ต่อปี ในขณะที่รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนทั่วไปอยู่ที่ 86,000 ดอลลาร์ต่อปี”

 

นอกจากนี้ ลูกค้ากลุ่มนี้ยังมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้าแบรนด์ที่มีการสื่อสารเข้าถึงพวกเขา และเป็นตัวแทนของพวกเขา รวมถึงการรวมกลุ่มนี้เข้าไปเพื่อเป็นการตอบแทนการสนับสนุนและความเป็นมิตรที่มีต่อกลุ่ม LGBTQIA+

 

สอดคล้องผลสำรวจจาก ‘14th Annual LGBTQ Community Survey’ โดย Community Marketing and Insights (CMI) ที่ระบุว่า 72% ของกลุ่ม LGBTQIA+ มีความต้องการที่จะซื้อสินค้าแบรนด์ที่โฆษณาในสื่อของกลุ่ม LGBTQIA+ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อแบรนด์ที่สนับสนุนพวกเขาอย่างชัดเจน

 

สมรสเท่าเทียมอาจเป็นฮีโร่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

 

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ธุรกิจบริการจะมีโอกาสเติบโตจากการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และยังมีหลากหลายธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก เช่น

 

  • ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว ร้านอาหาร กลุ่มนักท่องเที่ยว LGBTQIA+ คิดเป็นร้อยละ 10 ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และค่าใช้จ่ายในกลุ่มนี้คิดเป็น 16% ของค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวทั้งหมด หรือคิดเป็นประมาณ 195 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ถือว่าเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง ชอบเดินทางท่องเที่ยว สัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลาย
  • ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแต่งงาน เช่น ธุรกิจสตูดิโอถ่ายภาพ ธุรกิจเช่าชุดแต่งงาน สิทธิในการสมรสจะช่วยเพิ่มความต้องการในการจัดงานเฉลิมฉลองการแต่งงานมากขึ้น
  • ธุรกิจประกันภัยและธุรกิจทางการเงิน เป็นอีกหนึ่งธุรกิจบริการที่จะเติบโตมากขึ้น กฎหมายสมรสเท่าเทียมสนับสนุนให้คู่รักหลากหลายเพศได้รับสิทธิในการดูแลชีวิตของคู่รัก

 

 

บริษัทให้บริการจัดงานแต่งงานของไทย Wonders & Weddings คาดการณ์ว่า ยอดจองการจัดงานแต่งงานจะเพิ่มมากขึ้น โดยการจองจัดงานแต่งงานของกลุ่ม LGBTQIA+ จะคิดเป็น 25% จากยอดจองทั้งหมด

 

“การจัดงานแต่งงานถือเป็นการฉลองก้าวสำคัญ (Milestone) ของชีวิตของหลายคน ซึ่งกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศก็ต้องการเฉลิมฉลองช่วงเวลาสำคัญนี้เช่นกัน”

 

นอกจากนี้เมื่อมองในมุมของโอกาสทางการตลาดจะพบว่า กลุ่ม LGBTQIA+ นับเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูงทั่วโลก จึงทำให้หลายแบรนด์ดังระดับโลกเริ่มผลิตสินค้าที่มีลวดลายสีรุ้งจนกลายเป็นที่ยอมรับของชาว LGBTQIA+ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์

 

  • Starbucks: จัดแคมเปญเฉลิมฉลอง Pride Month โดยออกแบบแก้วลายเรนโบว์สีสดใส แล้วข้อความบนแก้วเขียนว่า ‘LOVE’ ซึ่งแคมเปญนี้ Starbucks ร่วมมือกับมูลนิธิ Born This Way ของเลดี้ กาก้า และสามารถระดมเงินบริจาคได้สูงมาก
  • H&M: แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังระดับโลก หนึ่งในคอลเล็กชัน ‘Love For All’ เพื่อสนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+ หรือความรักในทุกรูปแบบอย่างเต็มที่ โดยรายได้ 10% จากยอดขายทั่วโลกจะนำไปบริจาคให้กับแคมเปญ Free & Equal ของสหประชาชาติ (UN) 
  • M∙A∙C Cosmetics: เครื่องสำอาง M∙A∙C สนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+ มาเป็นเวลานาน ออกแบบลวดลายสีสายรุ้ง นอกจากนี้ในช่วงเดือนมิถุนายน (Pride Month) จัดโปรโมชันเมื่อซื้อลิปสติกจะได้รับ M∙A∙C’s Limited Edition Pride Cap เป็นของขวัญ ถือว่าเป็นแคมเปญถูกใจกลุ่ม LGBTQIA+ มากๆ

 

จะเห็นว่าหลายๆ แบรนด์หันมาเจาะตลาดกลุ่ม LGBTQIA+ ซึ่งมีทั้งจัดกิจกรรมหรือแคมเปญต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่ทำแค่ช่วง Pride Month เท่านั้น หากมีความจริงใจที่จะสนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+ จริงๆ พวกเขาก็พร้อมจะสนับสนุนสินค้าหรือบริการแบรนด์นั้นๆ อีกด้วย

 

ด้วยเหตุนี้ การสมรสเท่าเทียมจึงไม่เพียงแต่เป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคมและเรื่องของความรัก แต่ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอีกทางหนึ่ง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X