×

InnovestX ชี้ หุ้นไทย ร่วง 6 ไตรมาสติด ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ เหตุมีปัจจัยการเมืองฉุด ทำต่างชาติกังวล 6 เดือนแรกปีนี้เทหุ้นไทยแสนล้านบาท

18.06.2024
  • LOADING...
หุ้นไทย

InnovestX มอง หุ้นไทย ร่วงหลุด 1,300 จุด ไตรมาส 2/67 ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุดของโลก ส่วนหุ้นเอเชียเริ่มฟื้น แต่หุ้นไทยไม่ไปไหน เหตุโดนการเมืองฉุด

 

สิทธิชัย ดวงรัตนฉายา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ (InnovestX) กล่าวผ่านรายการ Morning Wealth ว่า ตลาดหุ้นไทยในวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่าน ปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 1,300 จุด ซึ่งในช่วงไตรมาส 2/67 ตลาดหุ้นไทยถือว่าให้ผลตอบแทนต่ำที่สุดของโลก โดยในไตรมาส 2/67 ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลดลงเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกัน ถือเป็นการปรับตัวลดลงที่ยาวนานที่สุดของตลาดหุ้นไทย

 

ทั้งนี้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/66 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นไทยถือเป็นสินทรัพย์ที่มีระดับชั้นที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด โดยที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยมีการเคลื่อนไหวเป็นทิศทางเดียวกับดัชนี MSCI Asia ex Japan รวมถึง Emerging Market หรือ EM 

 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันตลาดหุ้นกลุ่ม MSCI Asia ex Japan รวมถึง Emerging Market หรือ EM เริ่มกลับมาให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น สะท้อนว่าตลาดหุ้นไทยมีปัญหาเฉพาะตัวจากประเด็นความไม่แน่นอนของปัจจัยการเมือง

 

ขณะที่ตลาดในอาเซียนอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ก็ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ไม่สูงมาก เนื่องจากเศรษฐกิจของอาเซียนมีการพึ่งพิงของเศรษฐกิจจีนในส่วนที่สูง ซึ่งมักจะได้รับผลกระทบจากปัญหาของเศรษฐกิจของจีนที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจ ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจอาเซียนเติบโตในระดับที่ต่ำ

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยกดดันจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อกระแสเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลออกจากตลาดหุ้นในเอเชีย 

 

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบตั้งแต่ต้นปี 2567 ถึงปัจจุบัน (Year to Date) ตลาดหุ้นอินโดนีเซียกับตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนในติดลบในระดับประมาณ 10% โดยตลาดหุ้นไทยถูกปัจจัยกดดันจากภาพการเมืองภายในประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยออกมาต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาในระดับราว 1 แสนล้านบาทต่อปี ขณะที่ช่วง Year to Date หรือช่วงเกือบ 6 เดือน นักลงทุนต่างชาติเทขายออกมาแล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยการขายรายปีในอดีตที่ผ่านมา

 

เปิดปัจจัยบวกความหวังตลาดหุ้นไทย

 

ตลาดหุ้นไทยยังมีความหวังในเชิงบวกจากทั้งประเด็นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund: LTF) ซึ่งระหว่างการดำเนินการ รวมถึงว่าที่ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนใหม่ที่อาจมีนโยบายหรือมาตรการออกมาที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลธุรกรรม Short Sell ส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น 

 

นอกจากนี้ในช่วงครึ่งปีของปีนี้อาจจะเห็นภาพของรัฐบาลดำเนินนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นผ่านมาตรการต่างๆ แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับภาพของปัจจัยการเมืองที่ยังต้องนิ่งก่อน ซึ่งยังคาดเดาสถานการณ์ได้ยากว่า ผลของคดีความทางการเมืองต่างๆ จะออกมาอย่างไร หรือยืดเยื้อออกไปแค่ไหน แต่คาดว่าประเด็นต่างๆ ในท้ายที่สุดแล้วจะต้องมีบทสรุปที่ชัดเจนออกมา

 

ดังนั้นประเมินว่าบรรยากาศของการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีโอกาสที่จะปรับดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก 

 

อีกทั้งหากดูวัฏจักรเศรษฐกิจของประเทศไทยขณะนี้มีมุมมองว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะที่ย่ำแย่คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นในอดีต โดยเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวแบบ Synchronized Recovery 

 

โดยเศรษฐกิจของไทยรวมถึงการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของไทยมีโอกาสจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มาจากฐานของปีที่แล้วที่ค่อนข้างต่ำจึงเปรียบเทียบกับกำไรของ บจ. ที่เริ่มทรงตัว บ่งชี้ว่าส่วนต่างของการเติบโตของกำไร บจ.ไทย กับสหรัฐฯ จะเริ่มแคบลง

 

สิทธิชัยกล่าวต่อว่า คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังดำเนินนโยบายการเงินในแบบตึงตัว โดยอาจยังไม่เห็นการปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ ขณะที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่มีโอกาสที่จะเห็นการปรับเปลี่ยนช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งต้องติดตามว่า ธปท. จะปรับลดดอกเบี้ยในปี 2568 หรือไม่ ซึ่งยังคาดยาก แต่คาดว่ายังมีโอกาสที่ ธปท. จะปรับลดดอกเบี้ยตามธนาคารอื่นๆ ที่มีการลดดอกเบี้ยลง

 

ทั้งนี้หากดูข้อมูลสถิติย้อนหลังในช่วงที่ภาวะดอกเบี้ยของไทยต่ำมักจะเห็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้น ซึ่งหากดอกเบี้ยของไทยเริ่มปรับลดลงมีโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น โดยจากสถิติจำนวน 4 ครั้งจากจำนวน 5 ครั้งหลังสุดที่ ธปท. ปรับลดดอกเบี้ย ตลาดหุ้นไทยมักจะตอบสนองในเชิงบวกได้ค่อนข้างดี

 

ทั้งนี้ประเมินว่า การฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยจะเป็นลักษณะแบบ Momentum Play โดยในช่วง 1-2 ไตรมาสข้างหน้า ภาพตลาดหุ้นไทยมีโอกาสจะเห็นการฟื้นตัวขึ้น โดยเริ่มทยอยตั้งแต่ไตรมาส 3/67 จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมด และมีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนกลับมาเป็นบวกบ้าง โดยหากนักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นมากขึ้นก็จะเริ่มเห็นการทำ Short Sell ลดลง และอาจจะกลับมามีส่วนในการผลักดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

 

สำหรับคำแนะนำกลุ่มผู้ที่มีหุ้นไทยอยู่แล้วให้ถือรอการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่วนพอร์ตการลงทุนในเชิงรับแนะนำให้มีหุ้นกลุ่มเทเลคอม, กลุ่มท่องเที่ยวที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับส่วนหุ้นที่เกี่ยวข้อง ส่วนพอร์ตการลงทุนเชิงรุกแนะนำให้มีหุ้นที่เกี่ยวกับปัจจัยภายนอก เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์, อาหาร, ปิโตรเคมี ทั้ง 3 กลุ่มมีโอกาสเติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงไฟแนนซ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X