ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ร่วมมือกับ Carbonwize พัฒนาแพลตฟอร์มกลางจัดการข้อมูลก๊าซเรือนกระจกสำหรับบริษัทจดทะเบียน เพื่อปฏิวัติรูปแบบการจัดทำรายงานก๊าซเรือนกระจกแบบเดิมให้ง่ายต่อการใช้งาน ถูกต้องแม่นยำ และเป็นที่ยอมรับในสากล เพื่อต่อยอดการวางแผนลดก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีบริษัทจดทะเบียนเพียงครึ่งหนึ่งที่นำส่งรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะที่เพียง 1 ใน 3 ที่ผ่านการตรวจสอบข้อมูล เนื่องจากการจัดทำรายงานก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันมีความซับซ้อนในการคำนวณ มีความยุ่งยากในการเก็บรวบรวมข้อมูล และมีต้นทุนในการจัดการค่อนข้างสูง
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งเครื่องดัน บจ. SET-mai สู่ Net Zero
สำหรับคาร์บอนไวซ์ (Carbonwize) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดการคาร์บอนฟุตพรินต์ ร่วมกับ ‘ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย’ พัฒนา ‘SET Carbon’ แพลตฟอร์มการจัดการข้อมูลก๊าซเรือนกระจกกลาง โดยทั้ง Carbonwize และตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความตั้งใจร่วมกันที่จะเร่งเครื่องบริษัทจดทะเบียนบนกระดาน SET และ mai รวมกว่า 840 บริษัท มุ่งหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ผ่านก้าวแรกที่สำคัญ คือการจัดการข้อมูลก๊าซเรือนกระจก โดยระบบดังกล่าวจะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกบริษัทจดทะเบียนในการจัดเตรียมข้อมูล ผ่านการจัดหมวดหมู่ข้อมูลตามประเภทอุตสาหกรรม ระบบการคำนวณแบบอัตโนมัติ ระบบการบูรณาการข้อมูลผ่านการเชื่อมต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ
รวมถึงฟังก์ชันการจัดทำรายงานตามมาตรฐาน และการรับรองความถูกต้องของข้อมูลโดยผู้ทวนสอบ ซึ่งท้ายสุดข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำมาจัดทำรายงานประจำปี ‘56-1 One Report’ ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดไว้ อีกทั้งบริษัทยังสามารถนำรายงานไปเผยแพร่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและนักลงทุนได้อีกด้วย
โดยเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2024 Carbonwize ได้เริ่มโครงการทดสอบใช้งานระบบ SET Carbon ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และอีก 20 บริษัทจดทะเบียนจากทั้ง 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
Carbonwize ชี้ เงินลงทุนสถาบันพุ่งเป้า ESG แตะ 1.2 พันล้านล้านในอีก 2 ปี
ด้าน นัชชา เลิศหัตถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาร์บอนไวซ์ (Carbonwize) เปิดเผยว่า “Carbonwize ในฐานะผู้พัฒนาแพลตฟอร์มจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้เป็นพันธมิตรกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการเตรียมระบบจัดการข้อมูลก๊าซเรือนกระจกที่จะมาเป็นเครื่องมือช่วยบริษัทจดทะเบียนในตลาด SET และ mai รวมกว่า 840 แห่ง สอดคล้องกับพันธกิจของ Carbonwize ที่มีเป้าหมายในการขยายผลสู่บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนในประเทศไทยกว่า 700,000 ราย เพื่อมุ่งสู่เส้นทาง Net Zero
ทั้งการวัดและประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ นับเป็นเพียงก้าวแรกบนเส้นทาง Net Zero ข้อมูลก๊าซเรือนกระจกที่ถูกรวบรวมไว้บนแพลตฟอร์มจะเข้ามาช่วยสร้างความเข้าใจให้แก่บริษัทถึงแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากธุรกิจ เพื่อนำมาวางกลยุทธ์ สร้างแผนปฏิบัติการในการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ก้าวสำคัญต่อไปคือการลงมือปฏิบัติตามแผนการเหล่านั้นผ่านการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในองค์กร เพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินการสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ
นอกจากนี้ การวางรากฐานระบบการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนที่เข้มแข็งให้กับบริษัทจดทะเบียนของไทยยังเป็นการดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนสถาบัน ที่ปัจจุบันเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในบริษัทที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างโปร่งใสและชัดเจน โดยตามคาดการณ์ของ PwC สินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ของเงินลงทุนของนักลงทุนสถาบันที่โฟกัสประเด็นเรื่องความยั่งยืนจะสูงถึง 33.9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 1.24 พันล้านล้านบาท ในปี 2026 เติบโตขึ้น 12.9% คิดเป็นสัดส่วน 21.5% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด”
สำหรับความร่วมมือระหว่าง Carbonwize และตลาดหลักทรัพย์ฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับวางรากฐานระบบจัดการข้อมูลก๊าซเรือนกระจกสำหรับบริษัทจดทะเบียน ซึ่งในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมมีความท้าทายที่แตกต่างกันจากกิจกรรมทางธุรกิจที่ต่างกัน ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและการบูรณาการองค์ความรู้จากหลายภาคส่วน โดยในระยะที่ 1 Carbonwize และตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับความร่วมมือจากตัวแทนบริษัทจดทะเบียนจากหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม รวม 8 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับแพลตฟอร์ม
ทั้งนี้การวัดประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรเป็นอีกก้าวสำคัญในการก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2065 และยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งจะเข้มงวดเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น การมีฐานข้อมูลที่เข้มแข็งจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้องค์กรวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดทั้งของไทยและของนานาชาติ รวมถึงทำให้ธุรกิจขององค์กรสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น