×

จรวดหลายลำกล้องนำวิถี DTI-1G ฝีมือคนไทย ทดสอบยิงเข้าเป้า ก้าวสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

04.06.2024
  • LOADING...

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ DTI แถลงว่าสถาบันฯ ประสบความสำเร็จในการทดสอบยิงจรวดหลายลำกล้องนำวิถี DTI-1G ที่ประเทศจีน ทั้งจากรถยิงที่ประกอบจากการจัดหาเทคโนโลยีจากจีน และรถยิงที่ผลิตในประเทศโดยอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ลูกจรวดเข้าเป้าทุกลูก ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของ DTI โดยในขั้นต่อไปคือการส่งมอบระบบจรวดหลายลำกล้องให้กับกองทัพบก ซึ่งถือว่าบรรลุเป้าหมายของโครงการที่ดำเนินการมาเป็นเวลากว่าสิบปี

 

จรวดหลายลำกล้อง หรือ Multiple Launch Rocket System (MLRS) เป็นอาวุธพื้นสู่พื้นที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ลักษณะของระบบจรวดหลายลำกล้องมุ่งหวังทำลายเป้าหมายเป็นพื้นที่ เนื่องจากจรวดจะมีความแม่นยำต่ำกว่าปืนใหญ่ แต่สามารถยิงได้ทีละหลายนัดให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายที่กำหนด ต่อมาจึงมีการพัฒนาให้จรวดมีระบบนำวิถีเพื่อสร้างความแม่นยำให้มากขึ้น

 

 

ระบบจรวดหลายลำกล้องที่เราน่าจะคุ้นเคยกันก็เช่น M142 HIMARS และ M270 MLRS ของสหรัฐอเมริกาที่ปฏิบัติงานอยู่ในยูเครน เช่นเดียวกับ BM-21 Grad, BM-27 Uragan และ BM-30 Smerch ของรัสเซียที่ใช้ในยูเครนเช่นกัน ในอาเซียนนั้นมีหลายประเทศที่ใช้งานระบบจรวดหลายลำกล้อง เช่น เมียนมามีระบบจรวด SY-400, Type-81 และ Type-90 ที่ผลิตในจีน M-1991 ที่ผลิตในเกาหลีเหนือ หรือ MAM-01 และ MAM-02 ที่เมียนมาผลิตเอง สปป.ลาว และกัมพูชามี BM-21 และ Type-81 ใช้งาน เช่นเดียวกับเวียดนาม ส่วนมาเลเซียมี Astros ที่ผลิตในบราซิล ส่วนอินโดนีเซียใช้งาน Astros II ส่วนฟิลิปปินส์กำลังมีโครงการจัดหาจรวดหลายลำกล้องเข้าประจำการเช่นกัน

 

สำหรับประเทศไทย กองทัพบกไทยมีจรวดหลายลำกล้องรุ่นแรกเข้าประจำการคือ YW306 ซึ่งเป็นจรวดหลายลำกล้องขนาด 130 มม. ที่ติดตั้งบนยานเกราะ Type-85 ที่ผลิตในจีน ต่อมาภายหลังการปะทะกับกัมพูชาในกรณีพิพาทปราสาทพระวิหารซึ่งกัมพูชาใช้จรวด BM-21 ยิงต่อสู้กับปืนใหญ่ของไทย ทำให้กองทัพบกไทยนำบทเรียนในการรบมาจัดหาจรวดหลายลำกล้อง SR4 จากจีน ซึ่งใช้จรวดขนาด 122 มม. แบบเดียวกับ BM-21 เข้ามาใช้งาน

 

เช่นเดียวกันเมื่อกว่าสิบปีก่อน กองทัพบกมีความพยายามในการจัดหาจรวดหลายลำกล้องแบบใหม่เข้าประจำการ ซึ่งกระทรวงกลาโหมเห็นว่าจรวดเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญและควรจะผลิตได้เอง จึงกำหนดให้โครงการนี้เป็นโครงการยุทธศาสตร์ของประเทศ และจัดหาจรวดหลายลำกล้อง WS-1B จากจีน พร้อมร่างแผนแม่บทการพัฒนาจรวดเพื่อความมั่นคงเพื่อเป็นแผนที่นำทางให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีจรวดในประเทศไทย และจัดตั้งศูนย์วิจัยเทคโนโลยีจรวดขึ้น ซึ่งต่อมาได้ยกระดับเป็นสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศนั่นเอง

 

จึงกล่าวได้ว่าจรวดกลายลำกล้องเป็นต้นกำเนิดให้ประเทศไทยมีหน่วยวิจัยที่ทำหน้าที่วิจัยเทคโนโลยีป้องกันประเทศโดยเฉพาะ โดยนอกจากการจัดหาเทคโนโลยีการประกอบและผลิตจรวดหลายลำกล้อง WS-1B ขนาด 302 มม. ที่ถูกตั้งชื่อว่า DTI-1 แล้ว ยังมีการจัดสร้างสายการผลิตลูกจรวดที่นครสวรรค์และลพบุรี ซึ่งใช้เครื่องมือที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเป็นหนึ่งในสายการผลิตจรวดไม่กี่สายการผลิตในอาเซียนเพื่อรองรับการวิจัยหรือผลิตจรวดในอนาคต รวมถึงทำวิศวกรรมย้อนกลับเพื่อให้สามารถออกแบบ พัฒนา และผลิตจรวดหลายลำกล้องในประเทศไทยได้

 

แต่ทั้งนี้ ข้อจำกัดของจรวด WS-1B คือแม้จะมีระยะยิงที่ไกลคือ 180 กิโลเมตร แต่ยิงได้เพียงทีละ 4 นัด และมีความแม่นยำไม่มากนักเนื่องจากจรวดไม่นำวิถี ซึ่งการทำสงครามในปัจจุบันนั้นจะต้องระมัดระวังผลกระทบของสงครามต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงทำให้เกิดแนวคิดการพัฒนาจรวดกลายลำกล้องนำวิถีขึ้น และนำมาสู่โครงการ DTI-1G ที่ทำการจัดหาเทคโนโลยีจรวดหลายลำกล้องนำวิถีจากจีน และจัดหาระบบควบคุมการยิงจากจีนมาติดตั้งเพื่อให้จรวดมีความแม่นยำ ซึ่งอย่างที่เราเห็นในการทดสอบที่สนามทดสอบในจีนก็คือการนำวิถีประสบความสำเร็จไปด้วยดี

 

นอกจากนั้น DTI ยังมีโครงการพัฒนาจรวด D11A ซึ่งเป็นการจัดหาเทคโนโลยีจรวด PULS จากอิสราเอลเช่นกัน โดยระบบจรวดแบบนี้จะมีข้อได้เปรียบคือสามารถใช้จรวดได้หลายขนาดบนแท่นยิงเดียวกัน รวมถึงยังพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตจรวดขนาด 122 มม. แบบ DTI-2 เพื่อใช้งานกับจรวด SR4 ของกองทัพบกด้วย

 

จรวดในลักษณะนี้แม้ว่าจะไม่ได้ง่ายที่จะพัฒนา แต่ก็ถือว่าไม่ได้ยากเกินกำลังของประเทศไทยนัก โดยเฉพาะไทยที่ใช้วิธีจัดหาหรือซื้อเทคโนโลยีการออกแบบและผลิตจรวดจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งเป็นทางลัดเพื่อไม่ต้องทำวิจัยใหม่ตั้งแต่ต้น และถ้าไทยสามารถออกแบบและผลิตได้เอง ก็ถือว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาวุธจริงๆ จากการที่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยสามารถพัฒนาระบบอาวุธใช้งานได้

 

แต่แม้ว่างานการวิจัยและผลิตจรวดกลายลำกล้องที่ผ่านมาจะถือว่าประสบความสำเร็จ ก็ยังมีงานที่ต้องทำอีกมากในการทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการผลิตจริงๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีระบบนำวิถีที่ควรจะมีการวิจัยเทคโนโลยีนี้เพื่อให้ไทยมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง การพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตวัตถุดิบที่เป็นต้นกำเนิดของการผลิตจรวดให้สามารถผลิตได้ในประเทศหรือเพิ่มความหลากหลายของแหล่งที่มาของวัตถุดิบ และที่สำคัญก็คือการสนับสนุนจากภาครัฐหรือกองทัพในฐานะผู้ใช้ โดยเฉพาะในเมื่อประเทศไทยมีขีดความสามารถในการผลิตระบบอาวุธได้ในประเทศแล้ว กองทัพก็จำเป็นที่จะต้องสนับสนุนในการจัดหาเข้าประจำการ และควรจัดหาเข้าประจำการด้วยจำนวนที่มากพอที่จะคุ้มค่าในการผลิตและพัฒนา คือไม่ใช่จัดหาแค่เพียง 1-2 ระบบเท่านั้น แต่ควรพิจารณาจัดหาเข้ามาให้มากพอ และไม่ควรจัดหาจรวดหลายลำกล้องจากต่างประเทศเข้ามาอีกแล้ว เพราะไม่เช่นนั้นการลงทุนวิจัยและพัฒนาของไทยก็จะสูญเปล่าอย่างน่าเสียดาย

 

ซึ่งตรงนี้ก็เป็นโจทย์ของรัฐบาลและกระทรวงกลาโหมในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้จริงจังและต่อเนื่องต่อไป

 

ภาพ: สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI)

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X