×

แชมเปียนผู้ประกอบการหญิงที่สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก

03.06.2024
  • LOADING...

“ในฐานะที่เป็นคนตาบอด ฉันมองไม่เห็น แต่เรามีวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่”

 

นี่คือประโยคของ ซาดรีเย โกเรเจ (Sadriye Görece) ผู้ประกอบการหญิงวัย 29 ปี ที่สะท้อนความมุ่งมั่น การใช้ประสบการณ์จากการมองไม่เห็น แปรเปลี่ยนเป็นขุมความคิดและต่อยอดเป็นธุรกิจ

 

โกเรเจเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง BlindLook แอปพลิเคชันที่ใช้การประมวลผลโดย AI แล้วแปลงเป็นเสียง เพื่อช่วยให้คนตาบอดเข้าถึงสินค้าและบริการต่างๆ

 

เธอเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าความบกพร่องทางร่างกาย อายุ และเพศสภาพ ไม่ใช่อุปสรรค เธอใช้พลังของเทคโนโลยี บวกปัญญาประดิษฐ์ และวิสัยทัศน์ เปลี่ยนปัญหาจากการมองไม่เห็นให้กลายเป็นธุรกิจที่ช่วยคนตาบอดได้ในระดับโลก

 

โกเรเจคือแชมเปียนจากเวที Cartier Women’s Initiative 2024 (CWI 2024) ได้รับรางวัลผู้ชนะ ในประเภท Diversity, Equity & Inclusion

 

โกเรเจเล่าบนเวทีว่า “สำหรับคนนับล้านที่ถูกมองข้ามโดยการออกแบบกระแสหลัก BlindLook เกิดจากความเชื่อที่ว่าไม่มีใครควรยอมรับสถานะที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เรารวม AI และเสียง เพื่อให้บุคคลที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นสามารถนำทางชีวิตของพวกเขา”

 

น่าคิดว่าถ้าโลกนี้มีผู้ประกอบการหญิงที่สร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมมากขึ้นในระดับชุมชน ประเทศ และภูมิภาคทั่วโลก จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากขนาดไหน

 

เสียงของการเปลี่ยนแปลง

 

“ฉันเชื่อว่าการเป็นผู้ประกอบการจะต้องต่อสู้กับความอยุติธรรม”

 

“เราต้องรักษาระบบนิเวศให้ดี เพื่อดูแลความมั่นคงของคนรุ่นถัดไป”

 

“เราเชื่อว่าความเท่าเทียมเป็นเรื่องจำเป็น”

 

คำกล่าวเหล่านี้สะท้อนถึงจิตวิญญาณและความมุ่งมั่นของผู้ประกอบการหญิงที่ได้ขึ้นเวทีในงาน CWI 2024 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ฉันเป็นหนึ่งในสื่อมวลชนไทยที่ได้รับเชิญไปร่วมงานนี้ด้วย เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อมอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการหญิงที่สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม

 

ค่ำคืนของการประกาศรางวัลเป็นคืนที่เต็มไปด้วยพลัง

 

ผู้ประกอบการหญิงเหล่านี้คือใคร

 

แซนดี ต็อกสวิก (Sandi Toksvig) ผู้ประกาศข่าว นักเขียน นักแสดงตลก และนักสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชาวเดนมาร์ก ผู้ดำเนินรายการบนเวที จุดประกายช่วงต้นว่า “พลังของแต่ละส่วนอาจจะมีขีดจำกัด แต่เมื่อรวมกันแล้วจะไม่มีวันถูกทำลาย เหมือนกับพลังที่ดีที่มารวมตัวกันในห้องนี้คืนนี้”

 

ผู้ประกอบการหญิงจำนวน 33 คน จาก 22 ประเทศ รวมตัวกันในเวทีคืนนั้น พวกเธอมาจาก 9 ภูมิภาคของโลก แต่ละคนมีภูมิหลังที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม การศึกษา อายุ แต่ความมุ่งมั่นของความเป็นผู้ประกอบการหญิงคือความเหมือน พวกเธอใช้ประสบการณ์ส่วนตัว ปัญหาที่พบ สร้างสรรค์ออกมาเป็นธุรกิจ

 

ผู้นำและความมุ่งมั่น

 

ซีริลล์ วิญเญอรอง (Cyrille Vigneron) ประธานและซีอีโอของ Cartier เน้นย้ำถึงความสำคัญของ Cartier Women’s Initiative ที่สนับสนุนผู้ประกอบการหญิง เขาเล่าบนเวทีว่า

 

“โครงการนี้เริ่มต้นในปี 2006 และได้พัฒนาเป็นชุมชนที่น่าทึ่ง ที่เชื่อว่าแต่ละโครงการกำลังค่อยๆ เปลี่ยนโลก”

 

วิญเญอรองพูดถึงช่องว่างทางเพศสภาพ (Gender Gap) ว่า “ก่อนโควิดช่องว่างเรื่องเพศสภาพลดลงเหลือ 200 ปี แต่พอหลังโควิดอาจจะสูงขึ้นไปถึง 300 ปี แสดงว่าโลกกำลังถอยหลัง แต่เราขยับเข็มนาฬิกา และสามารถเปลี่ยนแปลงได้”

 

เวทีเศรษฐกิจระดับโลก World Economic Forum ออกรายงานในปี 2017 ระบุว่า ถ้าเศรษฐกิจโลกยังดำเนินไปอย่างปัจจุบัน ช่องว่างเรื่องรายได้และการทำงานระหว่างผู้หญิงและผู้ชายอาจจะต้องใช้เวลา 202 ปี เพื่อปิดช่องโหว่นั้นได้

 

นวัตกรรมเพื่อสร้างผลกระทบทางสังคม

 

ผู้ประกอบการหญิงเหล่านี้คือบรรดาผู้ที่ผ่านการคัดสรรแล้วจากโครงการธุรกิจทั่วโลก พวกเธอคือ ‘Fellows’ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Cartier เพื่อพัฒนาแนวคิดและการทำธุรกิจ เส้นทางของพวกเธอกว่าจะได้ไปขึ้นเวที CWI 2024 ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

 

เทคโนโลยีคือหนึ่งในปัจจัยที่เป็นพลังขับเคลื่อนธุรกิจของพวกเธอ

 

อลิสัน แฮร์ริงตัน (Alison Harrington) ผู้ก่อตั้ง Resparke จากประเทศออสเตรเลีย เล่าว่า “เมื่อพ่อตาของฉันมีอาการสมองเสื่อม เขาสูญเสียความเฉียบคมทางจิต แต่เมื่อฉันเล่นดนตรีที่เขาชอบ ฉันได้เห็นประกายในตาของเขา” Resparke ใช้เทคโนโลยีและดนตรีผสมผสานเพื่อบำบัดอาการให้กับผู้ป่วยสมองเสื่อม

 

รานิยา กาฟาร์ (Rania Gaafar) จากอียิปต์ ผู้ก่อตั้งแอป ADVA ที่ช่วยหาทางออกทางการเงินให้กับเด็กผู้หญิงที่ต้องเรียนหนังสือ เธอเล่าว่าเห็นเด็กผู้หญิงที่ต้องออกจากโรงเรียนเพราะพ่อแม่จ่ายค่าเทอมช้า เมื่อไม่มีเงิน 3,000 บาทสำหรับค่าเรียน เด็กผู้หญิงคนนั้นต้องออกจากโรงเรียนในที่สุด กาฟาร์บอกว่าทนไม่ได้และต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง ผ่านไป 10 ปี ADVA ช่วยแก้ปัญหาทางการเงินให้เด็กได้มากกว่า 25,000 คน

 

สัมภาษณ์พิเศษผู้ร่วมก่อตั้ง Trestle Labs

 

ในระหว่างงานฉันได้พูดคุยกับ อักษิตา สัจเดวา (Akshita Sachdeva) ผู้ร่วมก่อตั้ง Trestle Labs เธอได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 ในประเภท ‘Diversity, Equity & Inclusion’ อักษิตาพัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า Kibo เพื่อช่วยบุคคลที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นและการอ่าน Kibo คือโคมไฟอ่านหนังสือที่สามารถพูดได้อย่างวิเศษ ซึ่งสามารถอ่านเนื้อหาที่พิมพ์หรือเขียนด้วยลายมือในหลายภาษาได้ ทำให้ผู้ที่บกพร่องทางการมองเห็นเข้าถึงเนื้อหาได้

 

อักษิตา สัจเดวา (Akshita Sachdeva) ผู้ร่วมก่อตั้ง Trestle Labs

ซึ่งรับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 ในประเภท ‘Diversity, Equity & Inclusion’

 

การเดินทางและวิสัยทัศน์ของอักษิตา

 

“6 ปีที่แล้ว ฉันได้พบกับเด็กหญิงคนหนึ่งชื่อ ปาลี ที่ตาบอดเมื่ออายุ 17 ปี เธอต้องหยุดเรียนเทอมแรก ฉันรู้สึกทึ่งมาก ฉันนำหนังสือของเธอไปที่ห้องแล็บของฉัน ทำให้ทุกอย่างเป็นดิจิทัลและส่งคืนให้เธอ 3 เดือนต่อมา เธอโทรหาฉันและบอกว่าเธอกำลังยืนต่อแถวเพื่อกรอกแบบฟอร์มสำหรับการเรียนต่อในปีที่ 3 ขอบคุณ Kibo เธอสามารถนั่งสอบและก้าวหน้าในการเรียนได้ เหตุการณ์นี้ทำให้ฉันรู้สึกดีใจอย่างมากและยืนยันเส้นทางของฉัน”

 

ทุกวันนี้อักษิตาที่เรียนจบด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากอินเดียเมื่อปี 2016 เห็นโอกาสจากการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบ B2B โดยร่วมมือกับโรงเรียน วิทยาลัย และสำนักงาน ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

 

ความท้าทายของผู้ประกอบการหญิง

 

อักษิตาสะท้อนว่า ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการหญิงทำให้มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่น แต่ความท้าทายคือ “บางครั้งคุณต้องมีกลยุทธ์และตัดสินใจอย่างหนักแน่น การรักษาสมดุลระหว่างรูปแบบผลกระทบ (Social Impact) กับรูปแบบธุรกิจ เป็นเรื่องท้าทาย แต่เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างผลกระทบที่ยั่งยืน”

 

คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่

 

อักษิตาให้คำแนะนำแก่ผู้หญิงรุ่นใหม่ในวงการผู้ประกอบการเพื่อสังคมว่า “จงค้นหาปัญหาหรือช่องว่างที่คุณสามารถแก้ไขได้ด้วยทักษะของคุณ แม้จะยากและมีอุปสรรคมากมาย แต่จงอดทน การเดินทางนั้นจะคุ้มค่าเมื่อคุณเห็นผลงานของคุณที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้คน”

 

อักษิตามองเห็นการขยาย Kibo ไปยังทุกโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ในอินเดีย และกำลังมองหาพันธมิตรในเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง “เรามุ่งมั่นที่จะเสริมพลังให้กับบุคคลที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น 250,000 คนใน 3 ปีข้างหน้า”

 

ความมุ่งมั่นต่ออนาคต

 

CWI 2024 ไม่ได้เป็นเพียงพิธีมอบรางวัล แต่เป็นการเรียกร้องให้ลงมือทำ ผู้ประกอบการหญิงเหล่านี้ไม่เพียงแค่เป็นแบบอย่าง แต่ยังเป็นผู้บุกเบิกที่กำลังสร้างนิยามใหม่ของภูมิทัศน์ธุรกิจ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก เรื่องราวของพวกเธอสร้างแรงบันดาลใจให้เราทุกคนในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม นวัตกรรม และความยุติธรรมทางสังคม

 

วินจี ซิน (Wingee Sin) ผู้อำนวยการโครงการต่างประเทศ Cartier ย้ำว่าการสนับสนุนผู้ประกอบการหญิงเหล่านี้คือการส่งเสริมความเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม “ผู้หญิงเหล่านี้คือ ครู นักออกแบบแฟชั่น ช่างทำรองเท้า วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยี พวกเธอไม่ได้เพียงแค่ทำธุรกิจที่เป็นพลังที่ดีเท่านั้น แต่พวกเธอกำลังปฏิวัติบทบาทและอัตลักษณ์ของผู้หญิง”

 

งานครั้งต่อไปมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2025 ที่ Women’s Pavilion ในงาน World Expo ที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความสำเร็จของผู้ประกอบการหญิงที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่อไป

 

การเข้าร่วมงานนี้ทำให้ฉันรับรู้ได้ถึงพลังของความเป็นผู้ประกอบการหญิงเพื่อสังคม ที่ไม่ยอมแพ้กับการสานต่อแนวคิดของตัวเอง แม้เริ่มต้นจะดูไม่ออกว่าจะทำเงินได้จริงในโลกธุรกิจ แต่หลายคนพูดคำเดียวกันว่าเครื่องมือที่ทำให้รอดมาได้คือ ‘ความมุ่งมั่น พากเพียร และอดทน’

FYI
  • รายงาน Global Entrepreneurship Monitor 2022/2023 ระบุว่า ผู้หญิงเป็นตัวแทน 1 ใน 4 ของผู้ประกอบการที่มีการเติบโตสูงทั่วโลก โดยมีสัดส่วนที่สูงขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำ (1 ใน 3) และอเมริกาเหนือ (2 ใน 5)
  • ผู้หญิงในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางมีแนวโน้มที่จะเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่เป็นนวัตกรรมมากกว่าผู้หญิงในประเทศที่มีรายได้สูง
  • ผู้หญิงเป็นสัดส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการนวัตกรรมในโตโก (58.7%), อินโดนีเซีย (55.3%), โรมาเนีย (54.5%), โคลอมเบีย (53.3%) และอิหร่าน (52%)
  • ในปี 2022 ผู้หญิงยังมีบทบาทสูงในรัฐบาล สุขภาพ การศึกษา และบริการสังคม (17.6%) ซึ่งมีอัตราสูงกว่าผู้ชาย (10.9%) 2 ภาคนี้รวมกันคิดเป็นเกือบ 2 ใน 3 ของผู้ประกอบการหญิง และครึ่งหนึ่งของผู้ชาย
  • ผู้หญิงมีบทบาทน้อยกว่าผู้ชายในภาค ICT โดยมีเพียง 2.3% ของผู้หญิงที่ดำเนินธุรกิจในภาคนี้ เทียบกับผู้ชายที่ 5.3% อย่างไรก็ตามในบางประเทศผู้หญิงมีบทบาทสูงมากในภาค ICT เช่น ปานามา ผู้หญิงมีบทบาทในสตาร์ทอัพ ICT สูงกว่าผู้ชายถึง 6 เท่า
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X