×

เส้นทางการ ‘เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเป็นตำนาน’ ของ Mr.P เด็กทะลึ่งอารมณ์ดี คาแรกเตอร์ดีไซน์ไทยที่ Go to the Moon ก่อนใคร [ADVERTORIAL]

31.05.2024
  • LOADING...

แรงเกินต้านจริงๆ กับกระแสของคาแรกเตอร์ดีไซน์และการตื่นตัวของวงการอาร์ตทอย ที่ส่งให้คาแรกเตอร์ของศิลปินไทยทำราคาพุ่งไปถึงดวงจันทร์

 

จะว่าไปนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เมืองไทยมีคาแรกเตอร์ดีไซน์ที่โด่งดังและสร้างชื่อเสียงบนเวทีโลก ย้อนกลับไปปี 2547 ภายในห้องทำงานของบริษัท Propaganda (พร็อพพาแกนดา) บนโต๊ะทำงานของ ตุ๊ด-ชัยยุทธ์ พลายเพ็ชร์ นักออกแบบแบรนด์รุ่นใหญ่ เขากำลังสร้างคาแรกเตอร์ดีไซน์ที่ Go to the Moon ก่อนกาลนามว่า ‘Mr.P’ โดยมี สาธิต กาลวันตวานิช เจ้าของแบรนด์ Propaganda ควบตำแหน่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์รอ Approve!

 

 

ความดังของ Mr.P ในยุคนั้นอยู่ในระดับที่ซีรีส์ต่างประเทศนำไปใช้เป็นพร็อพเก๋ๆ ประกอบฉากอยู่บ่อยๆ เจ๋งขนาดไปปรากฏตัวในมิวเซียมทั่วโลก แม้แต่แบรนด์ดังอย่าง Paul Smith ก็นำไปติดตั้งเป็นวินโดว์ดิสเพลย์ของร้าน Paul Smith แฟลกชิปสโตร์สาขาแรกในย่าน Covent Garden ใจกลางกรุงลอนดอน หรือจอไทม์สแควร์นิวยอร์กก็ไปปรากฏตัวมาแล้ว นักออกแบบและดีไซเนอร์คนไหนไม่มีสินค้า Mr.P ถ้ายุคนี้ต้องเรียกว่าตกขบวน แม้แต่ศิลปินและนักแสดงชื่อดังยังต้องมี Mr.P เป็นของตกแต่งบ้าน แน่นอนว่ามันถูกวางจำหน่ายไปกว่า 50 ประเทศทั่วโลก

 

เส้นทางการ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเป็นตำนาน

 

Mr.P ปรากฏตัวครั้งแรกเป็นโคมไฟในชื่อ ‘One Man Shy’ ภายใต้ภาพลักษณ์ของเด็กทะลึ่ง ทะเล้น มีเพียงฝาครอบศีรษะซึ่งสะท้อนนิสัยขี้อาย แต่ดันเปลือยกายล่อนจ้อนและมีจุดดึงสายตาอยู่ที่อวัยวะเพศ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสวิตช์เปิด-ปิดไฟ

 

“มันก็แค่ไอเดียที่เราโยนใส่กันในห้องทำงานว่า ‘ลองทำสวิตช์ไฟที่ไม่เคยมีในโลกดูสิ’ กลายเป็นความท้าทายกันในกลุ่มดีไซเนอร์ ด้วยบรรยากาศการทำงานของพร็อพพาแกนดาเหมือนสวนสนุกของดีไซเนอร์ ใครคิดอะไรบ้าๆ มาก็ลองทำหมด ถ้าเราพยายามกรองทุกไอเดียผ่านคำว่าถูกหรือผิด ก็จะได้ของที่ไม่ต่างจากตลาด”

 

 

ความบ้านี่แหละที่ทำให้ Mr.P เด็กทะลึ่งอารมณ์ดีถือกำเนิดขึ้น พี่สาธิตบอกว่า “เหมือนถูกหวย” Mr.P Lamp กลายเป็นสินค้าขายดีทันทีหลังวางจำหน่าย และถูกส่งออกไปขายทั่วโลกกว่า 40 ประเทศ

 

“ใครจะกล้าคิดสิ่งหยาบโลนให้ออกมาดูไม่หยาบโลน และใครจะไปคิดว่าคนจะรักคาแรกเตอร์นี้ จริงๆ มันก็เสี่ยงมากแต่ก็ท้าทายดี ทำให้เกิดก้อนความรู้ใหม่ว่าเราสามารถยกระดับการสื่อสารจากสิ่งที่ Negative ไปสู่สิ่งที่ Positive และมีคุณค่าต่อความรู้สึกของคนได้เกิดเป็น Emotional Design”

 

พี่สาธิตบอกว่า Mr.P เป็นตัวแทนความรู้สึกด้านลบของเราทุกคน

 

“มนุษย์ทุกคนมีด้านมืด Mr.P เป็นตัวแทนของวิธีคิดที่เราพลิกวิธีเล่าเรื่องให้เกิดเป็นความรู้สึกบวก โดยมีหน้าที่สร้างอารมณ์ขันในการใช้งาน (Emotional Approach) จะเห็นว่า Mr.P เสียสละอวัยวะตัวเองเพื่อให้คนอื่นใช้สอยเสมอ”

 

 

อย่าง Mr.P Lamp ก็ยอมให้คนเล่นอวัยวะเพศเพื่อให้เกิดแสงสว่าง หรือ Mr.P Tape Dispenser หนึ่งในโปรดักต์ขายดีที่สุดตลอดกาลของพร็อพพาแกนดา ก็เสียสละลิ้นให้เป็นที่ตัดเทปกาว ยังมีพวงกุญแจ กล่องใส่ทิชชู สายคล้องมือถือ ที่กั้นประตู และแก้วมัคที่พี่สาธิตบอกว่าผลิตเท่าไรก็หมด

 

“Mr.P ยังสะท้อนตัวตนความเป็นคนไทยที่มีอารมณ์ขันได้กับทุกเรื่อง คนไทยไม่คิดเยอะ มีวิกฤตฉันก็ทำตลกใส่วิกฤต และเราก็อยู่ในสังคมที่มีวัฒนธรรมของความเห็นอกเห็นใจ เรามีเมตตา พอเราเอาความเป็นตัวเราใส่เข้าไปในจิตวิญญาณของโปรดักต์ มันจะปลดล็อกคนทั้งโลก เพราะมนุษย์มีพื้นฐานที่เหมือนกัน รัก โลภ โกรธ หลง ขำในเรื่องตลกลามกเหมือนกัน”

 

 

ถ้าไม่คัน ‘พร็อพพาแกนดา’ คงไม่เกิด

 

Mr.P ไม่ได้สร้างแค่ชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในฐานะคาแรกเตอร์ดีไซน์ฝีมือคนไทย แต่ยังช่วยทำให้ตัวตนของ ‘พร็อพพาแกนดาชัดเจนขึ้น

 

“พอ Mr.P เกิดขึ้นมันฉุดแบรนด์พร็อพพาแกนดาขึ้นมาด้วย เกิดการเรียนรู้โดยไม่ตั้งใจว่าคาแรกเตอร์ดีไซน์มันสามารถสะท้อนตัวตนของแบรนด์ให้ชัดขึ้น แบรนดิ้งแข็งแรงขึ้น ทำให้พร็อพพาแกนดาเป็นแรงบันดาลใจของคนยุคนั้นให้กล้าออกจากกรอบเดิมๆ”

 

“เราทำแบรนด์พร็อพพาแกนดาตอนปี 2537 ในยุคที่กระแสงานดีไซน์กำลังถล่มเข้ามา ที่ทำเพราะคัน อยากทำ อยากพิสูจน์ว่าเราเจ๋ง ทำโปรดักต์เองไปเลย โจทย์คือ ‘ทำอย่างที่ชอบ’ ปรากฏว่าได้เรื่อง…เพราะไม่มีใครซื้อ เราเข้ามาเหมือนเป็นคนนอกที่ไม่รู้เรื่อง มาจากคนโฆษณา พวกการขายของ การผลิต หรือออกแบบเพื่อผลิต มันเป็นศาสตร์คนละแนว จะบรรจบกันได้ก็มีเรื่องของการสร้างคอนเซปต์ วิธีการเล่าเรื่อง แต่มันก็คนละสายงาน วิธีเล่าก็ต้องคนละแบบ เป็นการทำธุรกิจแบบไม่เข้าใจการตลาด ซึ่งมองย้อนกลับไปตอนนี้รู้สึกดี ถ้าเราทำงานภายใต้กรอบการตลาด ก็จะเดินตามเส้นทางที่มีคำตอบอยู่แล้ว”

 

แทนที่จะยกธงขาวตั้งแต่แรก เพราะไม่ประสาในวิชาธุรกิจ ไม่เข้าใจว่าต้องมีสต็อก ต้องมีฝ่ายจัดซื้อ ต้องมีโรงงานที่สามารถคุมการผลิตได้ แต่ด้วย DNA ‘กัดไม่ปล่อย’ ของพี่สาธิตและคนในทีม จึงปล่อยให้พร็อพพาแกนดาเดินสายการผลิตดีไซน์ไอเท็มต่อ

 

 

‘Tooth Series’ ถือเป็นไลน์โปรดักต์แรกๆ ของพร็อพพาแกนดา ที่จิกกัดโฆษณายาสีฟันซึ่งมักจะขายความขาวของฟันจนเกินจริง อยากขาวนักก็เป็น Tooth Lamp ไปเลยแล้วกัน และยังสามารถนั่งได้ เปิดตัวไม่ทันไรก็ติดท็อปลิสต์สินค้าขายดีในตลาดญี่ปุ่น พบเห็นได้ตามร้านหมอฟัน ในซีรีส์นี้ยังมีที่ใส่ไม้จิ้มฟันรูปฟันผุ ขวดเกลือและพริกไทยรูปฟัน ที่เสียบแปรงสีฟันรูปฟัน

 

“ตอนเริ่มต้นก็ไม่รู้หรอกว่าจะเกิดหรือเปล่า ก่อนจะสำเร็จแผลเต็มตัว ขายไม่ได้ ทำผิด โดนส่งคืน กว่าจะเรียนรู้มันต้องผ่านประสบการณ์ซึ่งเราเรียกมันว่าก้อนความเจ็บปวด แต่ถ้าไม่มีก้อนนี้มันจะไม่มีการเรียนรู้”

 

 

เข้าวงการดีไซน์ไม่ทันไร ได้เห็นงานต่างชาติเจ๋งๆ เริ่มศึกษาวิธีคิดของแต่ละประเทศ พี่สาธิตหันกลับมามองเมืองไทยและคิดว่า ทำไมเมืองไทยจะทำไม่ได้

 

“เริ่มมีอารมณ์รักชาติ อยากเอาชนะทั้งโลก อยากให้ประเทศไทยมีหน้ามีตา ใช้เวลาแค่ปีเดียวพร็อพพาแกนดาสามารถย้ายตัวเองจากที่ต้องอยู่ในบูธตุ๊กตาเป่าลมไปอยู่ในโซนที่แวดล้อมไปด้วยดีไซน์แบรนด์ระดับโลกได้สำเร็จ ในเวลานั้นเรายังไม่มี Mr.P แต่เราเข้าไปจากงาน Graphic on Product ความสำเร็จวันนั้นมันสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าคน 2-3 คนสามารถทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้ ปลดล็อกงานดีไซน์ของไทยได้ ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร แค่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีก็พัฒนาประเทศได้แล้ว”

 

“ขอบคุณตัวเองที่ตัดสินใจทำพร็อพพาแกนดา เพราะมันพลิกมุมมองและวิธีคิดไปเลย คนชอบ Maximum เขาพิสูจน์ได้ว่ามันดี คนชอบ Minimal ก็บอกได้ว่าอะไรคือดี ในขณะที่คนชอบทางสายกลางทำ Essentialist เหลือแต่ความจำเป็นเท่านั้นก็ไม่ผิด จะเห็นว่ามันมีความเชื่อได้หลายอย่าง และทุกความเชื่อมันโคตรดี การพัฒนาบนความเชื่อแบบเราเลยกลายเป็น DNA แท้ๆ แบบคนไทย”


Soft Power ไทยผู้มาก่อนกาล และยืนระยะได้นานจนถึงปัจจุบัน

 

พี่สาธิตย้ำว่า Mr.P ไม่ได้เป็นแค่คาแรกเตอร์ดีไซน์ที่แตกไลน์เป็นโปรดักต์สร้างรายได้ให้กับบริษัทเท่านั้น แต่ต้องการผลักดันให้ Mr.P เป็นตัวแทนความพยายามของคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ไม่รู้อะไรเลยในธุรกิจดีไซน์ แค่อยากเอาชนะโลก

 

“Mr.P มีจิตวิญญาณของคนไทยที่อยากเอาชนะโลกซ่อนอยู่ ที่ผ่านมางานดีไซน์กับภาคธุรกิจมันไปคนละทาง เมื่อไรที่ภาคธุรกิจเห็นความสำคัญของดีไซน์ที่จะเป็นเครื่องมือต่อยอดธุรกิจได้ ขณะเดียวกันฟากดีไซน์ก็ต้องทำความเข้าใจภาคธุรกิจด้วย มันจะเกิดนวัตกรรม”

 

มากไปกว่าจิตวิญญาณของคนไทยที่อยากไปยืนแถวหน้าบนเวทีโลก ตลอดมา Mr.P ยังทำหน้าที่สร้างความสุข รอยยิ้ม กระตุกต่อมคิดให้คนไทยมองคาแรกเตอร์ดีไซน์ในมิติที่ลึกขึ้น เพราะเมื่อไรก็ตามที่ Mr.P ไปปรากฏตัวที่ไหน ถ้าตั้งใจดูให้ดี Mr.P กำลังจะบอกอะไรบางอย่างกับคุณ

 

 

“ทุกครั้งที่เราทำงานกับพื้นที่นั้นๆ  Mr.P ต้องถ่ายทอดตัวตนของพื้นที่ให้ชัดขึ้นด้วย ต้องเป็นคาแรกเตอร์ที่มากกว่าคาแรกเตอร์ แต่สามารถเปลี่ยนบริบทให้มีชีวิต มีความรู้สึก”

 

เด็กสยามตัวจริงต้องจำ ‘Mr.P Absolute Siam’ Sculpture ยักษ์ที่กำลังจะเหยียบอึหมา ด้านหน้าสยามเซ็นเตอร์โฉมใหม่ได้อย่างแน่นอน พี่สาธิตเล่าว่า คอนเซปต์ของงานชิ้นนี้ต้องการสะท้อนว่า “ชีวิตเราไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบ บางครั้งต้องเหยียบโดนอึน้องหมา

 

“มันเป็นความหมายตลกที่เหมือนไร้สาระ แต่มันเป็นเรื่องที่ใครก็เลี่ยงไม่ได้ เพราะชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ คุณอาจสอบไม่ติด อกหัก ธุรกิจเจ๊ง อึหมาเป็นตัวแทนของอุปสรรค สุดท้ายต้องอยู่ให้ได้ถ้าเหยียบไปแล้ว อย่าง Mr.P Absolute Siam คือตัวแทนของสยามเซ็นเตอร์ แหล่งรวมแฟชั่น รวมความครีเอทีฟ มีแบรนด์แฟชั่นดังๆ ของไทย คาแรกเตอร์ขี้เล่นของ Mr.P ทำให้พื้นที่มีชีวิตชีวา ลดช่องว่างระหว่างลูกค้าที่เข้าศูนย์การค้า

 

“เราอยากก้าวข้ามความเก๋ เท่ หรือเทรนด์ทั้งหลายไปสู่สิ่งที่มีความหมายมากขึ้น เพราะมันจะตราตรึงและเป็นที่จดจำ”

 


Mr.P Reborn เกือบหายวับ แต่กลับมาได้

 

Mr.P สร้างความหมายและทำให้ผู้คนจดจำได้สำเร็จ เพราะถึงแม้ระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จะไม่ได้เห็นเด็กทะเล้นคนนี้ปรากฏตัวออกมาบ่อยนัก แต่คนที่เป็นแฟนคลับต้องจดจำได้เป็นอย่างดี และในวันที่ Mr.P กำลังจะกลับมาโลดแล่นอีกครั้ง พี่สาธิตบอกว่าจะได้เห็นเด็กทะเล้นคนนี้ในบทบาทใหม่ๆ ภายใต้คาแรกเตอร์เดิมอย่างแน่นอน

 

ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนนักว่าหลังจากที่ Plan B มาจับมือทำงานร่วมกันกับบริษัทพร็อพพาแกนดาแล้ว Mr.P จะได้ไปทะเล้นและสร้างรอยยิ้มให้กับโปรเจกต์ไหน ที่แน่ๆ เราคงได้เห็น Mr.P ไปปรากฏตัวตามบิลบอร์ดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เหมือนเป็นทีเซอร์เรียกรอยยิ้ม

 

“Plan B อยากจะนำคาแรกเตอร์นี้กลับมา โดยยังคงรักษาคาแรกเตอร์ของเด็กทะลึ่ง เก็บตัว ขี้อาย แต่พอแสดงออกทีก็สร้างความสุขและความสนุกให้กับคนที่เห็น การกลับมาครั้งนี้ก็เพื่อสร้างความสุขให้กับคนไทย”

 

แต่สิ่งที่เราสนใจยิ่งกว่าคือ โปรเจกต์ที่พี่สาธิตทำร่วมกับ KingBridge Tower ภายใต้ Studio Avocado บริษัทที่ปรึกษาด้านงานดีไซน์และครีเอทีฟโซลูชันที่เขาและ ณรากุญ คูสุโรจน์ ร่วมกันก่อตั้ง

 

 

“โจทย์คือจะทำอย่างไรให้การออกแบบพื้นที่มีความหมายมากขึ้น และต้องนำหลักคิดในการทำธุรกิจของสหพัฒน์ ‘มองไกล น้ำใจ สัญญา’ และคอนเซปต์ของการสร้าง KingBridge Tower นั่นก็คือ ‘The Spirit of Synergy’ ใส่ลงไปในพื้นที่ด้วย 

 

“มาสเตอร์พีซคือ Mr.P สูง 7 เมตรที่ตั้งอยู่ในล็อบบี้ เราตีความล็อบบี้ให้เท่ากับ Synergy มันต้องเป็นพื้นที่ที่เกิดปฏิสัมพันธ์ คนที่อยู่ในอาคารมีความสุข รักพื้นที่ มานั่งพัก ดื่มกาแฟ กินของว่าง สุดท้ายก็เกิดบทสนทนาดีๆ ที่อาจนำไปสู่คอนเน็กชัน เราดึงข้อได้เปรียบต่างๆ ที่ A49 ออกแบบมาต่อยอด ทั้งการสร้างอาคารแบบเปิดโล่ง กระจกสูง เปิดให้เห็นสะพานภูมิพล

 

“Mr.P ขนาด 7 เมตรที่กำลังทำท่าแบกเพดาน โดยมี Mr.P ไซส์ต่างๆ ช่วยกันแบก ตอบโจทย์คีย์หลักของอาคารคือ ความร่วมมือ ความมีน้ำใจ สะท้อนภาพของการพึ่งพา ร่วมมือกัน และยังสร้างปฏิสัมพันธ์กับบริบทของพื้นที่ เกิดพลังในการเล่าเรื่อง น่าจะเป็นงาน Sculpture ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมา”

 

 

นอกจากมาสเตอร์พีซในล็อบบี้ Mr.P จะไปสร้างรอยยิ้มและความสุขภายในอาคารอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นบริเวณ Sky Garden ชั้น 23 จะได้เห็น Mr.P ลอยฟ้า และชั้น 15 เจ้าเด็กทะลึ่ง Mr.P ZZZ กำลังหลับน้ำลายยืดเป็นสีทอง พี่สาธิตบอกว่าที่เป็นสีนี้ เพราะอยู่ตึกนี้ขนาดหลับยังเป็นเงินเป็นทอง

 

คาแรกเตอร์ดีไซน์เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน


อย่างที่เกริ่นไปข้างต้น เหตุผลที่ต้องหยิบ Mr.P กลับมาพูดถึงในฐานะต้นแบบคาแรกเตอร์ดีไซน์ที่สร้างชื่อให้กับคนไทย Mr.P ยังเป็นกรณีศึกษาที่ดีให้กับคนที่อยากรู้ว่า งานดีไซน์ที่ดีไม่ว่าจะเป็นแขนงไหน จะสร้างสรรค์อย่างไรให้อยู่เหนือกระแส เป็นตำนาน และยังได้รับความนิยมในทุกยุคสมัย

 

“ต้องสร้างบทสนทนาระหว่างโปรดักต์ แบรนด์ และผู้บริโภค” พี่สาธิตบอกพร้อมแนะให้ลองศึกษาวิธีการออกแบบ วิธีสร้างธุรกิจของแบรนด์ดังระดับโลก ทำอย่างไรจึงเข้าถึงใจคนทั่วโลกได้

 

 

“สิ่งสำคัญคือต้องมองทะลุเปลือกนอกให้เห็นถึงคุณค่าที่ซ่อนอยู่ ประโยชน์ของโปรดักต์คืออะไร เรื่องราวที่อยู่ในสิ่งเหล่านั้น หาหัวใจของมันให้เจอ เวลาจะสร้างโปรดักต์หรือดีไซน์อะไรสักอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจ ต้องมองจากมุมนี้ ต้องให้มันทำงานในระดับของความรู้สึก แล้วฟอร์มของดีไซน์จะเปลี่ยนตาม”

 

พี่สาธิตย้ำว่า พื้นฐานก็สำคัญ ควรเข้าใจเรื่องสุนทรียภาพ ความงาม จะทำให้มีแต้มต่อในการทำงาน อย่าลืมที่จะจับผิดงานตัวเอง ยิ่งถ้าเราเห็นปัญหาในเนื้องานของเราว่ามันห่วยเพราะอะไร จะทำให้เราพัฒนา

 

“ไม่อยากให้มองอะไรเป็นเทรนด์ ตามเทรนด์มันง่ายเพราะทำให้ขายดีเป็นที่นิยม ถ้าทำจากสิ่งที่เคยมีมาแล้ว แปลว่าเราทำงานบนความกลัว และพยายามที่จะไม่ให้หลุดจากขบวน แต่คนที่โดดเด่นต้องหลุดออกมาให้ได้ ผมชอบคำกล่าวของอาจารย์เกาหลีท่านหนึ่ง เขาบอกว่า การตลาดที่ดีคือ การเดินสวนทาง ไม่ก็ออกนอกลู่วิ่ง ผู้นำในทุกธุรกิจคือคนที่ออกนอกลู่ทั้งนั้น

 

“อย่าไปติดกับเทรนด์ มันจะมีภาพลวงตาว่าสิ่งเหล่านี้คือความถูกต้อง หาตัวตนให้เจอ มองทุกอย่างเป็นแรงบันดาลใจ และอย่าลืมว่าไม่ว่าจะทำอะไร คิดถึงมนุษย์ คิดถึงปัญหาของมนุษย์ หาทางแก้ปัญหาให้มนุษย์ ถ้าทำให้มนุษย์มีความสุขได้ เขาจะซื้อความสุข คุณจะสร้างธุรกิจของคุณได้” พี่สาธิตกล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising