×

ไทยพร้อมจะเปลี่ยนจากผู้ใช้เป็นผู้สร้างหรือยัง? ทำไมช่วงเวลาต่อจากนี้จึงเป็นยุคทองของอาเซียน ที่สตาร์ทอัพไทยไม่ควรพลาดโอกาส

24.05.2024
  • LOADING...

Makers United 2024 งานครบรอบ 10 ปีสตาร์ทอัพไทยประจำปีนี้มาในธีม Land of Makers หรือการเปลี่ยนประเทศไทยจากประเทศผู้ใช้ (User) ให้เป็นประเทศผู้สร้าง (Maker) นวัตกรรมเทคโนโลยี โดย THE STANDARD WEALTH ขอหยิบยกประเด็นของเวที ‘Is Thailand ready to become the land of makers?’ จากการวิเคราะห์ของ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ที่เผยอินไซต์เกี่ยวกับอุปสรรคของประเทศไทยในอดีต และในปัจจุบันเราจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไรต่อไป?

 

อดีตที่เคยฉุดรั้งไทยให้เป็นแค่ ‘ผู้ใช้’ แต่ไม่ใช่ ‘ผู้สร้าง’

 

จิรายุสเล่าว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ใช้นวัตกรรมจากสตาร์ทอัพของประเทศอื่นและไม่ใช่ผู้สร้างนวัตกรรมเองในตลอดอดีตที่ผ่านมามีทั้งหมด 5 ข้อ ได้แก่

 

  1. การเข้าถึงเงินทุนที่จำกัด เพราะในอดีตโครงสร้างพื้นฐานยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น นักลงทุนส่วนใหญ่จึงมักมองข้ามตลาดในแถบประเทศกำลังพัฒนา ทำให้การทำสตาร์ทอัพในยุคแรกกระจุกตัวอยู่แค่ในกลุ่มเล็กๆ

 

  1. อีกหนึ่งปัญหาที่ยังเป็นอุปสรรคมาจนถึงปัจจุบันคือ Human Capital หรือทรัพยากรคนที่มีความสามารถตรงกับความต้องการตลาด โดยไทยสามารถผลิตบุคลากรสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ปีละประมาณ 10,000-30,000 คน ในขณะที่เวียดนามผลิตได้ปีละประมาณ 500,000 คน ทำให้ไทยเจอกับแรงงานขาดแคลน ซึ่งนำมาสู่อุปสรรคในการพัฒนาเทคโนโลยี

 

  1. การไม่มีเครือข่ายของผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน ผู้ที่จะคอยให้คำแนะนำว่าควรบริหารการเปลี่ยนแปลงหรือจัดการกับล้มเหลวอย่างไร ทำให้ช่วงการเรียนรู้ระหว่างนั้นไม่เพียงแต่จะค่อยเป็นค่อยไป แต่รวมถึงความเจ็บปวดด้วย

 

  1. ระบบการศึกษา จิรายุสกล่าวว่า การศึกษาทำให้คนไทยเก่งเยอะ แต่กลับมีน้อยคนที่จะกล้าโดดเด่นและแตกต่างด้วยการคิดนอกกรอบ เพราะระบบการศึกษาสอนให้ผู้เรียนปฏิบัติตามกฎที่วางไว้ ผิดพลาดให้น้อยที่สุด และต้องทำคนเดียวให้ได้ เพราะนั่นคือนิยามของ ‘ความเก่ง’ แต่โลกธุรกิจความเป็นจริงการทำงานเป็นทีม ผิดพลาดได้ก็ต้องลุกได้ ฉะนั้นการจะทำสำเร็จได้ต้องไม่กลัวความผิดพลาด พร้อมทั้งยังบอกว่าการที่เขาพาบิทคับขึ้นเป็นยูนิคอร์นตัวที่ 2 ของไทยได้ ไม่ได้มาจากความเก่ง แต่มาจากความกล้าและไม่ยอมแพ้

 

  1. ประเด็นสุดท้ายที่รั้งสตาร์ทอัพไทยไว้คือขนาดจำนวนประชากร ซึ่งจิรายุสเรียกว่าเป็นตัวเลข ‘คำสาป’ เพราะขนาดประชากร 70 ล้านคนเป็นขนาดตลาดที่ไม่ใหญ่จนสามารถจะดันให้สตาร์ทอัพเป็นยูนิคอร์นได้ง่ายๆ แต่ขนาดก็ไม่ได้เล็กจนเกินไปที่ทำให้ต้องคิดโมเดลธุรกิจสำหรับรองรับตลาดทั่วโลกตั้งแต่เริ่มอย่างที่สวิตเซอร์แลนด์ทำ เพราะสวิตเซอร์แลนด์มีขนาดประชากรที่น้อยมาก ธุรกิจจึงจำเป็นต้องหาทางขายสินค้าทั่วโลกตั้งแต่แรก

 

ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งให้หลายสตาร์ทอัพของไทยไม่ประสบความสำเร็จ หรือที่ประสบความสำเร็จก็มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ…แต่นั่นคืออดีต

 

ภาพ: Thai Startup

 

ลมเปลี่ยนทิศ อาเซียนเข้าสู่ ‘ยุคทอง’ โอกาสที่สตาร์ทอัพไทยควรคว้าไว้

 

แม้ว่าในอดีตไทยและหลายประเทศในอาเซียนมักถูกมองข้ามในเรื่องการนำเงินมาลงทุนจากบริษัทระดับโลก แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวล้ำไปข้างหน้า และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างเหล่าประเทศมหาอำนาจ ตอนนี้ฉากทัศน์และทัศนคติของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีต่อภูมิภาคอาเซียนกับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจรวมทั้งความน่าดึงดูดในการลงทุนได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

 

“หลังจากนี้อาเซียนจะเข้าสู่ยุคทองคำ ทวีปเราจะไม่ถูกมองข้ามอีกแล้ว บริษัทลงทุนยักษ์ใหญ่ของสิงคโปร์อย่าง Temasek เคยบอกว่า ช่วงก่อนโควิดบริษัทวางแผนลงทุนในสหรัฐอเมริกามากที่สุดเป็นอันดับ 1 และจีนเป็นอันดับ 2 แต่หลังโควิดพวกเขาเตรียมเงินที่จะลงทุนในอาเซียน มูลค่าไม่แพ้กับสหรัฐฯ” จิรายุสกล่าวถึงโอกาสที่กำลังจะมา

 

โดยเหตุผลสนับสนุนแรกที่อาเซียนจะเข้าสู่ยุคทองคำเป็นเพราะความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มประเทศมหาอำนาจทั้งสหรัฐฯ และจีน ที่กำลังขัดแย้งกันและต้องการจะกระจายซัพพลายเชนออกจากกันและกัน หรือหลายประเทศในภูมิภาคยุโรปที่กำลังเจอกับภาวะสงคราม แต่อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความสงบสันติ และคนส่วนใหญ่ในภูมิภาคก็มีอายุเฉลี่ยน้อย ยกเว้นไทย

 

ไม่ใช่ว่าไทยจะไม่มีโอกาส แต่คำถามคือไทยจะคว้าโอกาสทองนี้ได้อย่างไร?

 

การมาของ AI กำลังเข้ามาแก้ปัญหาคนขาดแคลน และประหยัดเวลาในการทำงานหลายด้าน โดย Jensen Huang ผู้ก่อตั้ง NVIDIA เคยกล่าวไว้ว่า ในอนาคตเราอาจไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะทางเทคนิคแล้ว แต่ต้องเรียนทักษะ Prompt Engineering เพื่อสั่งให้ AI ช่วยเขียนโค้ดแทนเรา ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะมาช่วยทำให้ทรัพยากรคนที่มีอย่างจำกัดถูกใช้ไปทำงานอื่นที่สร้างประโยชน์กว่า

 

อีกหนึ่งปัจจัยที่จะมาช่วยสตาร์ทอัพไทยในวันนี้และต่อไปในอนาคตคือการที่เรามีสตาร์ทอัพรุ่นแรกผู้ประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งจะทำให้การส่งต่ออินไซต์และประสบการณ์สามารถถูกเข้าถึงจากสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ได้ดีขึ้น

 

และเรื่องสำคัญลำดับสุดท้ายคือความกล้าของคนไทยที่จะเข้ามาเปลี่ยนค่านิยมแบบเดิมที่อาจไม่มีประสิทธิภาพให้ทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งจิรายุสเล่าว่า ทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่มีแนวความคิดที่กล้ามากขึ้น เนื่องจากพวกเขาได้ออกไปเห็นโลกภายนอก เข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากกว่าคนในยุคที่แล้ว ทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมมากขึ้น

 

ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ซีอีโอของบิทคับ ผู้ทำสตาร์ทอัพรุ่นแรกๆ มองว่าเป็นสภาพแวดล้อมที่แตกต่างและเอื้อกับธุรกิจรุ่นใหม่ให้มีโอกาสมากกว่าสมัยก่อน ซึ่งจะเข้ามาเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศของผู้สร้างหรือ The Land of Makers

 

นอกจากนี้ ในวาระ 10 ปีของสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup) อีกหนึ่งพัฒนาการของสมาคมคือการเปิดใช้งาน Thai Startup Directory https://data.thaistartup.org/ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ช่วยให้สาธารณะเข้าถึงระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยได้ดีขึ้น ทั้งจำนวนธุรกิจ ประเภทธุรกิจ นักลงทุน และสถานะการระดมทุนของสตาร์ทอัพไทย ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยเป็นที่รู้จักอย่างครอบคลุมมากขึ้น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising