×

เร่งรัดให้ไทยปลดล็อกกับดักโลกที่แบ่งขั้ว และวางแนวทางความร่วมมือใหม่ เพื่อเร่งการพัฒนามนุษย์ หยุดความเหลื่อมล้ำในไทย

23.05.2024
  • LOADING...
ความเหลื่อมล้ำ

การพัฒนามนุษย์อย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นบนโลกได้อย่างไร ในเมื่อหลังการแพร่ระบาดของโควิด ช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจนกลับยิ่งขยายวงกว้าง และความเหลื่อมล้ำภายในประเทศยิ่งเพิ่มทวีคูณ

 

ถึงแม้จะมีการคาดการณ์ว่า ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) จะเพิ่มสูงขึ้นในปี 2566 จนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ความเหลื่อมล้ำกลับกำลังเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง หลังช่องว่างได้ลดลงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แต่หลังจากปี 2563 เป็นต้นมา ช่องว่างระหว่างประเทศที่ร่ำรวยที่สุดกับประเทศที่ยากจนที่สุดกลับขยายกว้างมากขึ้น ในปี 2566 แม้ว่าประเทศที่ร่ำรวยกว่าจะฟื้นตัวจากวิกฤตได้ แต่คาดการณ์ว่าประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries) ครึ่งหนึ่งจะมีดัชนี HDI ต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤต ซึ่งเดิมทีก็ต่ำอยู่แล้ว 

 

ยิ่งไปกว่านั้น ทั่วโลกยังเสี่ยงที่จะเผชิญความสูญเสียอย่างถาวรในการพัฒนามนุษย์ และไม่อาจบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้ภายในปี 2573 ในตอนนี้ แนวโน้มการพัฒนามนุษย์ของทุกภูมิภาคอยู่ต่ำกว่าแนวโน้มในช่วงก่อนปี 2562 ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDG ร้อยละ 30 ในระดับโลกต้องล่าช้าหรือถดถอยลง ซึ่งรวมถึงการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร การขจัดความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความเหลื่อมล้ำทางเพศ ส่วนความคืบหน้าของเป้าหมาย SDG อีกร้อยละ 50 ก็ด้อยประสิทธิภาพลงหรือยังไม่มากพอ

 

แม้จะมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องร่วมมือกันดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียอย่างถาวรในการพัฒนามนุษย์ แต่ทั่วโลกกำลังติดกับดัก เนื่องจากนานาประเทศมิอาจแก้ไขอุปสรรคที่มีร่วมกันได้ ผลกระทบที่สั่นสะเทือนจากวิกฤตฉับพลันของโลก พร้อมกับทัศนคติว่าสถาบันต่างๆ ไม่สามารถปกป้องผู้คน ได้จุดชนวนการแบ่งขั้วทางการเมือง สุมไฟให้แนวทางนโยบายแบบปกป้องและกีดกันทางการค้า โดยมุ่งเน้นประโยชน์ภายในประเทศเป็นหลัก

 

สิ่งนี้น่ากังวลใจ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงอุณหภูมิโลกในปี 2566 ซึ่งพุ่งสูงสุดจนทำลายสถิติ หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ซึ่งพัฒนาไปไกลรวดเร็ว แต่แทบไร้กฎข้อบังคับเข้ามาควบคุม 

 

กับดักที่ผูกรั้งโลกอยู่นี้ กอปรกับความล้มเหลวในการจัดการภาวะพึ่งพาอาศัยกัน ล้วนส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเกิดขึ้นของความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงในหลายพื้นที่ทั่วโลก กระทั่งลุกลามบานปลายจนเกิดเป็นความขัดแย้งระยะยาวและอาจขยายวงมากขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงภัยคุกคามมากมายซึ่งส่งผลไกลข้ามพรมแดน และส่งผลรุนแรงมากขึ้นภายในประเทศ สิ่งนี้เป็นภัยต่อสุขภาวะและศักยภาพของมนุษย์ในการเลือก (Human Agency) แม้แต่ในประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ระดับสูงมาก ผู้คนน้อยกว่า 1 ใน 4 รู้สึกมั่นคงในชีวิต และครึ่งหนึ่งของผู้คนทั่วโลกรู้สึกว่าแทบไม่สามารถควบคุมชีวิตของตนเองได้

 

แม้ว่าประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าสูงในการลดความยากจนและดูแลให้เกิดการพัฒนามนุษย์อย่างต่อเนื่อง แต่ผู้คนยังไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียม หากเปรียบเทียบกับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด ประเทศไทยมี HDI ที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับประเทศ OECD 38 ประเทศ โดย HDI ประจำปี 2565 ของประเทศไทยอยู่ที่ 0.803 ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 0.797 และเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงก่อนโควิดในปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 0.801 ทำให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูงมาก และอยู่ในอันดับที่ 66 จาก 193 ประเทศและเขตแดน อย่างไรก็ดี ยังคงมีความเหลื่อมล้ำและการกีดกันเชิงโครงสร้างอย่างแพร่หลาย รวมถึงความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่ง ตลอดจนเศรษฐกิจที่ยังคงมีภาคส่วนนอกระบบขนาดใหญ่ โดยเมื่อคำนึงถึงความเหลื่อมล้ำ HDI ของประเทศไทยได้ลดลงร้อยละ 15.2 เหลือเพียง 0.681 

 

ไม่เพียงเท่านั้น HDI ของประเทศไทยยังลดลงร้อยละ 6.6 เหลือเพียง 0.750 เมื่อคำนึงถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และรอยเท้าวัสดุ (Material Footprint) ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อม 3 ประการที่ยังคงคุกคามต่อเนื่อง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ระดับ PM2.5 ที่สูงขึ้นก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง แรงกดดันที่มนุษย์มีต่อโลกทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มคนที่ยากจนและกลุ่มชายขอบจะได้รับความสูญเสียและความเสียหายมากกว่าคนกลุ่มอื่น 

 

ในขณะเดียวกัน การแบ่งขั้วทางการเมืองที่มากขึ้นและความไม่มั่นคงของมนุษย์ก็เป็นเรื่องน่ากังวลยิ่งขึ้นทั้งสำหรับประเทศไทยและประเทศอื่นทั่วโลก จากรายงาน Future of Growth Report 2024 โดย World Economic Forum คะแนนการแบ่งขั้วทางการเมืองของประเทศไทยอยู่ที่ 0 จาก 4 ซึ่งหมายความว่ามีการแบ่งขั้วทางการเมืองในระดับสูง สิ่งนี้บั่นทอนศักยภาพของประเทศในการเสริมสร้างความร่วมมือในสังคม และเป็นอุปสรรคขัดขวางการดำเนินการร่วมกัน

 

ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ การพัฒนามนุษย์อย่างยั่งยืนและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 จำเป็นต้องอาศัยการปลดล็อกกับดักและร่วมกันสร้างแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ทั่วโลกเผชิญร่วมกันและมีความเชื่อมโยงถึงกัน

 

รายงานฉบับล่าสุดของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติภายใต้ชื่อ ‘ปลดล็อกกับดัก: ความร่วมมือในมุมมองใหม่ในโลกที่แบ่งขั้ว’ (Breaking the Gridlock: Reimagining Cooperation in a Polarized World) ได้เสนอแนวทาง 3 ประการ เพื่อการพัฒนามนุษย์ในระยะยาว ได้แก่ การร่วมกันสร้างสินค้าสาธารณะของโลก (Global Public Goods) การเอาชนะการแบ่งขั้วทางการเมือง และการปิดช่องว่างด้านศักยภาพในการเลือก (Agency Gap) 

 

การสร้างสถาปัตยกรรมเพื่อสินค้าสาธารณะของโลกในศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและความช่วยเหลือด้านการพัฒนาสำหรับประเทศรายได้น้อย พร้อมกับการเสริมสร้างแนวทางใหม่ในการร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการจัดหาแหล่งทุนเพื่อสร้างสินค้าสาธารณะของโลก แม้ว่าทั่วโลกยังคงมีความต้องการและมีมุมมองที่แตกต่างกัน แต่กลยุทธ์นี้สามารถสร้างประโยชน์มหาศาล เหนือกว่าแนวคิดแบบผลรวมเป็นศูนย์ (Zero-sum Thinking) ซึ่งจำกัดว่าเมื่อมีผู้ได้ประโยชน์ย่อมต้องมีผู้เสียประโยชน์ ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมความมั่นคงทางสภาพภูมิอากาศ และการเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่แหล่งพลังงานสะอาด จะช่วยมอบผลประโยชน์สุทธิสูงถึง 45 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลกภายในปี 2593 อีกตัวอย่างหนึ่งคือ สินค้าสาธารณะของโลกด้านดิจิทัล เพื่อการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเท่าเทียมมากขึ้น อันจะนำไปสู่การพัฒนามนุษย์อย่างเท่าเทียม

 

การลงทุนในสินค้าสาธารณะซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ต้องอาศัยการสนับสนุนจากกรอบการเงินที่เหมาะสม เช่น กรอบการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Integrated National Financing Framework: INFF) ซึ่งจัดหาและจัดสรรทรัพยากรทางการเงินผ่านเครื่องมือหลากหลายประเภท ตั้งแต่ภาษีและงบประมาณ ไปจนถึงหนี้สาธารณะ มาตรการจูงใจ และเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เพื่อสร้างผลสัมฤทธิ์ด้านการพัฒนาที่มากขึ้น ประเทศไทยได้เปิดตัวกรอบการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ INFF เมื่อเดือนเมษายน 2566 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เพื่อวางกลยุทธ์ทางการเงินที่จะมาสนับสนุนวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย

 

การเอาชนะการแบ่งขั้วทางการเมืองและการปิดช่องว่างด้านศักยภาพในการเลือก คือก้าวสำคัญในการปลดล็อกกับดักและแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนามนุษย์ ซึ่งต้องอาศัยการแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความคิด ความเชื่อ และแรงจูงใจของผู้อื่น ตลอดจนเพิ่มความสามารถของผู้คนในการกำหนดอนาคตของตนเอง ปัญหาการแบ่งขั้วทางการเมืองสามารถบรรเทาได้ด้วยการกำกับดูแลในแนวทางใหม่ๆ ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ขยายขอบเขตแห่งความร่วมมือเพื่อแก้ไขอุปสรรคที่กำลังเผชิญร่วมกัน ตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปิดช่องว่างด้านศักยภาพในการเลือกนั้นจำเป็นต้องให้สถาบันต่างๆ มุ่งเน้นผู้คนเป็นศูนย์กลาง (People-centered) ทำให้ทุกคนเป็นเจ้าของร่วม (Co-owned) และมุ่งเน้นอนาคตเป็นสำคัญ (Future-oriented) โดยวางกลไกที่จะช่วยให้เราเดินหน้าต่อไปภายในโลกที่ผันผวนใบนี้ สิ่งนี้เน้นย้ำความสำคัญของแนวทางแบบทั่วทั้งรัฐบาล (Whole-of-government) และทั่วทั้งสังคม (Whole-of-society) เพื่อให้คนทุกกลุ่มมีโอกาสเข้าร่วมในกระบวนการตัดสินใจทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น 

 

สำหรับในประเทศไทยนั้น การขับเคลื่อนการพัฒนามนุษย์และ SDGs ไม่ใช่เพียงการดำเนินการในระดับประเทศ แต่การขับเคลื่อน SDG ในระดับท้องถิ่น (SDG Localization) เป็นสิ่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ ดังที่คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2562 ด้วยการใช้แนวทางแบบล่างขึ้นบน (Bottom-up Approach) และความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับผู้มีบทบาทในท้องถิ่นทั้งที่เป็นรัฐบาลและไม่ใช่รัฐบาล ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนแนวทางแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ความต้องการและสอดคล้องกับบริบทในท้องถิ่นได้ดียิ่งขึ้น เพื่อการพัฒนามนุษย์อย่างยั่งยืน

 

แนวทางเหล่านี้จะช่วยลดการแบ่งแยก และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือที่ช่วยสร้างประโยชน์และขับเคลื่อนการดำเนินการร่วมกันทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ อีกทั้งยังจะช่วยให้เราจับมือกันปลดล็อกกับดักได้อย่างสันติ ภายใต้วิสัยทัศน์การพัฒนาที่มอบอิสรภาพแก่มนุษย์ ทำให้คนทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี มีศักยภาพในการเลือก และมีความสุข โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติยังคงสนับสนุนรัฐบาลและผู้มีบทบาทด้านการพัฒนาฝ่ายอื่นๆ ต่อไป เพื่อเสริมสร้างความสามารถของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง เพื่อให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนา โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ

 

อ่านรายงานได้ที่: https://www.undp.org/thailand/publications/human-development-report-2023-24

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X