คนไทยดื่มนมมากขึ้น สะท้อนจากตัวเลขการบริโภคนมพาสเจอไรซ์ในไตรมาสแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้นถึง 9.7% ผลักดันให้ยอดขาย CP-Meiji เติบโตขึ้น 17.7% ย้ำไม่ใช่เพราะการปรับขึ้นราคา แต่เป็นการโตจากฮีโร่โปรดักต์ และรสชาติใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้า มั่นใจสินค้าจะไม่ขาดตลาดอีก
หากย้อนไปในปีที่ผ่านมา CP-Meiji ออกมาเคลื่อนไหวถึงปัญหาสินค้ากลุ่มนมสดพาสเจอไรซ์มีจำนวนจำกัด และไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากน้ำนมดิบขาดแคลน และเป็นช่วงที่โคนมเข้าสู่ช่วงพักรีดนม ยิ่งไปกว่านั้นเกษตรกรบางรายเจอความท้าทายเรื่องต้นทุนอาหารสัตว์ไม่สอดคล้องกับราคารับซื้อน้ำนมดิบก็หยุดเลี้ยงโคนมไป และในบางครั้งในตลาดก็มีการสู้เรื่องราคากัน
“แต่สิ่งที่บริษัทพยายามทำคือสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมั่นใจว่าเราจะซื้อวัตถุดิบแน่นอน เราทำให้เห็นว่ายอดขายมีการเติบโตขึ้นทุกปี ทั้งตลาดในประเทศและส่งออกไปตลาดต่างประเทศ พร้อมกับพยายามบริหารจัดการน้ำนมดิบมาผลิตสินค้า จนตอนนี้มีกลุ่มเกษตรกร 50 ศูนย์นมทั่วประเทศไทย ส่วนใหญ่จะมาจากภาคอีสาน ทำหน้าที่ส่งน้ำนมดิบให้โรงงานผลิตของเรา” สลิลรัตน์ พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘โฟร์โมสต์’ ใช้เวลา 1 ปีก่อนตัดสินใจยุติผลิต ‘นมพาสเจอไรซ์’ หลังมองเป็นธุรกิจที่ไม่ใช่ เล็งยื่นขอปรับราคาใหม่รับต้นทุนนมเพิ่มขึ้น
- กูลิโกะ สบช่องคนไทยรักสุขภาพ เปิดตัวนมอัลมอนด์แบรนด์ ‘อัลมอนด์ โคกะ’ เจาะตลาดที่กำลังทะยานสู่มูลค่า 3 พันล้านบาท
- อย. สหรัฐฯ ออกร่างข้อกำหนดใหม่ให้ผู้ผลิตข้าวโอ๊ต-อัลมอนด์ใช้คำว่า ‘นม’ ทำการตลาดได้ ท่ามกลางข้อถกเถียงหวั่นสร้างความสับสน
สำหรับตลาดนมพาสเจอไรซ์พร้อมดื่ม หลังจากผู้เล่นในตลาดได้ปรับราคาขายปลีก ทำให้ตลาดโต 18.8% ส่วนนมยูเอชทีโตน้อยกว่า ต้องยอมรับว่าในนมพาสเจอไรซ์ท้าทายมากพอสมควร จะเห็นว่าหลายปีที่ผ่านมามีคนออกจากวงการไป ซึ่งมีส่วนทำให้วัตถุดิบน้ำนมดิบไหลมากับเราเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
สลิลรัตน์ พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้ CP-Meiji มีนมพาสเจอไรซ์เป็นฮีโร่โปรดักต์ที่ขายดีมากสุด ตามด้วยโยเกิร์ตและนมเปรี้ยว ปัจจุบันเป็นผู้นำตลาดนมพาสเจอไรซ์พร้อมดื่มทั้งในไทย ฮ่องกง และสิงคโปร์ ส่วนตลาด CLMV (กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ก็ค่อยๆ มียอดขายเติบโตขึ้น
โดยในปี 2566 บริษัทมีมูลค่ายอดขายสุทธิอยู่ที่ประมาณ 12,200 ล้านบาท ซึ่งเติบโตจากปี 2565 กว่า 12% สัดส่วนยอดขายยังอยู่ในประเทศเป็นหลัก และในปี 2567 ตั้งเป้าเติบโตอยู่ที่ 5% หรือทำยอดขายได้ 12,700 ล้านบาท
ทั้งหมดจะมาจากจุดแข็งขององค์กรคือนวัตกรรม ที่ผ่านมาได้ลอนซ์สินค้า เมจิ นมพาสเจอไรซ์ ปราศจากน้ำตาลแลคโตส ทำให้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากนี้วางแผนพัฒนาสินค้ารสชาติใหม่ๆ ออกมาเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการสร้างแบรนดิ้ง
ขณะเดียวกันความสำเร็จตลอดการทำงาน บริษัทดำเนินงานตามนโยบายความยั่งยืนตาม CPF ซึ่งเป็นบริษัทแม่ โดย CP-Meiji วางแผนงานด้านความยั่งยืนใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ การบริหารจัดการน้ำนมดิบ มีเป้าหมายให้ฟาร์มโคนมที่ส่งนมให้ CP-Meiji ต้องผ่านมาตรฐานคุณภาพระดับ Gold Standard พร้อมเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยจัดการอบรมและให้ความรู้ เพื่อให้ได้น้ำนมที่มีคุณภาพและปริมาณตามมาตรฐาน