“ทำไมวัยรุ่นจะสะพายซอสีชมพูเดินห้างไม่ได้”
คือคำถามที่ ครูเอ้-อัษฎาวุธ สาคริก ทายาทรุ่นเหลนของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ฝากไว้ในพอดแคสต์นี้ ซึ่งก็เหมือนตั้งคำถามไปถึงวัฒนธรรมอื่นๆ ของประเทศด้วยว่า ของคลาสสิกที่มีอยู่ก็น่าคงไว้ แต่ของใหม่ๆ ที่อยากจะสร้างสรรค์ทำไมถึงยังไม่มี
คุยกับ ครูเอ้ และ พีท-ปิติพงษ์ ผาสุขยืด นักแสดงจาก โหมโรง เดอะมิวสิคัล ในเรื่องดนตรีไทยและเบื้องหลังละครเวทีเรื่องนี้
ที่มาของละครเวที โหมโรง เดอะมิวสิคัล
ครูเอ้ อัษฎาวุธ เขียนหนังสือชีวประวัติของหลวงประดิษฐ์ไพเราะขึ้นมาเล่มหนึ่ง ขายไม่ได้เลย จนกระทั่งวันหนึ่งพี่อิท อิทธิสุนทร ผู้กำกับภาพยนตร์เดินทางมาหาครูเอ้ที่บ้านเพื่อเอาหนังสือเล่มนี้ไปสร้างเป็นหนังเรื่อง โหมโรง (2547) ขึ้นมา ซึ่งจุดกระแสดนตรีไทยขึ้นมาได้ระยะหนึ่งเลย
ซึ่งในความเห็นของครูเอ้ ดนตรีไม่มีแบ่งไทย-สากล อย่างในภาพยนตร์และละครเวทีก็มีฉากเล่นเปียโนคู่กับระนาด ซึ่งทำได้ แต่ก็อาจต้องมีทางทฤษฎีบ้าง เช่น การจูนคีย์ให้เข้ากัน ฯลฯ
ดนตรีไทยกับชีวิตคนไทย
พีทเคยเล่นดนตรีไทยอยู่ในช่วงเรียนในโรงเรียนประถม ก็เห็นว่าการเล่นดนตรีไทยขาดสังคมและการสนับสนุน ด้วยความเห็นของผู้ปกครองที่คิดว่าดนตรีไทยเชย อีกทั้งยังไม่มีพื้นที่ให้แสดงออก การแข่งขันน้อย อย่างเวลาดูใน โหมโรง จะเห็นว่ามีการดวลกัน ซึ่งมันสนุก แต่พอปัจจุบันไม่มีการแข่งการดวลที่แพร่หลาย หลายคนก็ไม่รู้สึกว่ามันสนุก
ละครเวทีโหมโรง
ครั้งนี้เป็นครั้งที่สามแล้วที่มีละครเวทีเรื่อง โหมโรง ซึ่งครั้งแรกที่ทำรู้สึกว่ายาก ทั้งการขนย้ายเครื่องดนตรีไทย ระนาดนี่ก็หนักนะ ขนยาก แต่ก็พอทำได้ แต่สิ่งที่ยากคือพระเอกที่ต้องเล่นระนาดได้ ร้องเพลงได้ หน้าตาเป็นพระเอกได้ หลังจากแคสต์อยู่นานก็ได้ อาร์ม กรกันต์ มาเล่นจนได้
เพลงละครเวทีก็ได้ทั้ง สังข์-ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม ผู้กำกับละครเวที โหมโรง, บอย ตรัย, ประภาส ชลศรานนท์ ฯลฯ ช่วยๆ กันทำหลายฝ่าย
ด้วยความที่ในภาพยนตร์ไม่ได้มีเพลง ก็ต้องแต่งเพลงขึ้นมาใหม่ และการเลือกว่าจุดไหนจะมีเพลงก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
บางครั้งการเล่าด้วยเพลงมันเร็วหรือช้ากว่าการพูดธรรมดา อย่างเช่นฉากที่นายศรเล่นระนาดอยู่แล้วโตขึ้นมาเป็นหนุ่มในทันที หรือว่าฉากที่นายศรพบกับแม่โชติแล้วตกหลุมรักกัน เขาก็จีบกันด้วยเพลง ไม่ได้บอกรักกันต่อหน้าด้วยซ้ำ พูดถึงดอกลั่นทม แต่ก็ทำให้คนดูทั้งหมดเข้าใจไปกับเพลงด้วย
ก้าวต่อไปจากโหมโรง
ครูเอ้เพิ่งได้คุยกับสังข์ ผู้กำกับว่า อยากมีโปรเจกต์ที่สานต่อแนวคิดของ โหมโรง สังข์พูดว่า “อย่าให้มันหายไปนะ” แต่เรื่องเล่าคราวนี้อาจไม่ได้ย้อนกับไปดูชีวประวัติของศิลปินไทยในอดีตแล้ว แต่มาดูในปัจจุบันนี่แหละว่าอยู่กันอย่างไร ดนตรีไทยมีพื้นที่อย่างไร ตั้งคำถามกับปัจจุบันนี่แหละ
ทำไมเด็กจะหิ้วซอเดินห้างไม่ได้ จะมีซอสีชมพูสีแดงไม่ได้ล่ะ ในฐานะคนทำละครเราก็ทำได้เท่านี้ล่ะ ทำสิ่งที่เราทำได้ ก็ต้องฝากไปถึงคนที่ทำสิ่งอื่นๆ ได้ด้วย ที่จะเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่สวยงามและน่าสนใจ จะสนับสนุนไปทางไหนดี
มันก็ต้องปรับหลายฝ่าย ทั้งคนเล่นดนตรี ครูดนตรี สังคมด้วย ช่างทำเครื่องดนตรีด้วย ก็ต้องเข้าใจว่าพอมันเป็นงานศิลปะมันก็ไม่สามารถไปกรอบมันให้อยู่แค่ในขนบไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นมันก็จะได้อยู่แค่นั้นแหละ
เอาง่ายๆ ทุกวันนี้แค่ถามว่าอยากได้ระนาดไปซื้อที่ไหน ก็จบแล้ว นึกไม่ออก
มายาคติของดนตรีไทย
จริงๆ เครื่องดนตรีจะสีอะไรก็ได้นะ จะเป็นแฟชั่นก็ได้ ไม่มีปัญหา
แต่เอาเข้าจริง การบอกว่าอย่าแตะ อย่าเปลี่ยนแปลงมันก็มีประโยชน์ของมัน แต่เรากลับไม่มีการอธิบายต่อว่า แล้วถ้าจะแตะต้องทำอย่างไร มันถูกบล็อกไว้แค่อย่าแตะ ทำให้ไม่มีคนคิดอะไรใหม่ๆ เพลงใหม่ๆ เครื่องดนตรีใหม่ๆ การผสมวงใหม่ๆ
แต่ถามจริงๆ ดนตรีไทยมันต้องเป็นแฟชั่นไหม ก็อาจจะไม่จำเป็นนะ เหมือนชาเขียวที่คุณจะกดตู้กินก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันถ้าคุณอยากรู้วิธีการชงชาเจ๋งๆ แบบคลาสสิก คุณก็ต้องขึ้นเขา แต่งตัว ทำพิธีอะไรก็ว่าไป
เอาเป็นว่าเอาให้อยู่แล้วกัน ให้มันอยู่ถูกที่ถูกทาง
คนไทยติดกับความคิดว่า หนึ่ง ดนตรีไทยสูงส่ง แตะต้องไม่ได้ สอง ดนตรีไทยมากับเรื่องผี ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเริ่มจากไหน แต่ภาพยนตร์ไทยทำซ้ำเรื่องความน่ากลัวของดนตรีไทย ผีไทยเสมอ ถ้าดึกๆ เสียงกีตาร์ลอยมาเราคงไม่กลัวเท่าเสียงซอนะ
แต่สุดท้ายถ้าลองเสพแล้วไม่ชอบดนตรีไทย ก็ไม่เป็นอะไรนะ ไม่ชอบก็คือไม่ชอบ แต่อยากให้ลองให้รู้ก่อน เพราะเราถูกบล็อกด้วยความไม่รู้
จริงๆ ทางเลือกมี แต่เราโดนจำกัดด้วยสื่อที่เราเสพ
อนาคตของดนตรีไทย
การสร้างพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ของตัวศิลปินหรือพื้นที่ของผู้ที่เสพ ผู้ที่ฟัง ผู้ที่อยากจะเรียน ก็ต้องให้เข้ามาเจอกัน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามสื่อสารสิ่งที่มีในปัจจุบันว่าต้องปรับอะไรบ้าง ให้มันมาประสานกัน ระหว่างของคลาสสิกกับของใหม่
วัฒนธรรมเองก็ต้องรองรับปัจจุบันด้วย คุณต้องสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ แทนที่จะร้องเพลงเนื้อหาเก่าๆ เดิมๆ ที่ห่างไกลไปแล้ว ก็ต้องร้องเพลงที่ร่วมสมัยด้วยในส่วนหนึ่ง ส่วนที่เป็นคลาสสิกก็อยู่ไป อนุรักษ์ไป
ทำไมลูกทุ่งอยู่ได้ แข็งแรง เพราะเขาพูดเรื่องปัจจุบัน มีปัญหา มีคอนเทนต์อะไรก็ใส่ลงในเพลง แล้วมันก็อยู่ได้ และถ้าคนชอบก็จะลงลึกไปเรื่อยๆ เอง
จริงๆ ท่านครู (หลวงประดิษฐ์ไพเราะ) เป็นตัวอย่างของคนที่บิด เป็นกบฏ แต่กบฏด้วยพื้นฐานของความรู้ ความรัก ความเคารพ บางคนเนี่ยเป็นกบฏโดยที่ไม่มีความรู้ มันก็เฉไฉผิดทาง ก็โดนต้านได้ง่าย ฉะนั้น ช่วยรักมันหน่อย หาความรู้กับมันหน่อย แล้วเราจะกบฏได้
รายละเอียดในละครเวที โหมโรง
การดีไซน์ดนตรีใน โหมโรง ก็มีการแบ่งให้ต่างกันอยู่ อย่างในฉากประชันกัน เสียงระนาดของขุนอินก็เล่นแบบวางมือห่างกัน 1 ออกเตฟ โด-โด แล้วก็ตีให้ดุดันแข็งแรง ส่วนนายศรก็วางให้มีการรัว มีเทคนิคต่างๆ มากกว่า
ซึ่งถ้าย้อนไปถึงในภาพยนตร์ เราดีไซน์มากกว่าขึ้นอีก เช่น ไม้ที่ใช้ตี ที่มีการเปลี่ยนไม้ เปลี่ยนผืนระนาดให้เสียงออกมาต่างกัน
พีทรู้สึกว่าละครเวทีเรื่องนี้ใช้ทีมงานเยอะมาก แต่กลับมีระเบียบดีมาก ทุกคนรับผิดชอบหน้าที่ตัวเองได้ดี มีครั้งหนึ่งที่พื้นฉากแตก ทีมงานก็ซ่อมกันหลังเวทีตรงนั้นเลยให้ทันใช้งานฉากต่อไป
แต่กระนั้นก็ยังมีคนที่เล่นหลายๆ บทอยู่ อย่างเช่น คุณพ่อของจูนจูนที่เล่นหลายบท ทั้งเล่นเป็นพ่อทิวตอนแก่ และยังเล่นเป็นสมเด็จฯ ของขุนอินอีกด้วย
อีกรายละเอียดที่หลายคนไม่รู้คือเครื่องดนตรีครึ่งแรกของละครจูนเป็นคีย์บีแฟลต (Bb) ทั้งหมด แต่พอเข้าครึ่งหลังก็เปลี่ยนเป็นเครื่องที่จูนเสียงคีย์ซี (C) เอาไว้ เพื่อให้อารมณ์ขึ้นอีกนิดหนึ่ง ซึ่งคนไม่รู้หรอก แต่จะรู้สึกได้
ตอนนี้ละครเวที โหมโรง เดอะมิวสิคัล ก็เหลือแค่ 5 รอบแล้ว ถ้าใครสนใจดูละครสนุกๆ ก็สามารถไปจองตั๋วดูกันได้ รอบสุดท้ายวันที่ 3 มิถุนายนนี้
ฟังรายการ Eargasm Deep talk พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน
Credits
The Host แพท บุญสินสุข
The Guest อัษฎาวุธ สาคริก, ปิติพงษ์ ผาสุขยืด
Show Creator แพท บุญสินสุข
Show Producer นทธัญ แสงไชย
Episode Editor นทธัญ แสงไชย
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Music Westonemusic