เศรษฐกิจโลกชะลอ เศรษฐกิจไทยทรุด! ส่งออกไทยเดี้ยงโตเพียง 1.5% กกร. หั่น GDP ไทยปี 2567 โตสุดแค่ 2.7% แนะรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบ กระตุ้นกำลังซื้อ โอดขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศยิ่งซ้ำเติมธุรกิจ
วันที่ 8 พฤษภาคม เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า สถานการณ์การค้าโลกในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การค้าโลกปี 2567 จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 3.3% เหลือ 3%
ดังนั้น กกร. จึงปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทย (GDP) จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 2.8-3.3% เป็น 2.2-2.7% เนื่องจากภาคการส่งออกมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้เพียง 0.5-1.5% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2.0-3.0% ส่วนคาดการณ์เงินเฟ้อก็ปรับลดลงเหลือ 0.5-1.0% จากเดิม 0.7-1.2%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
“ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวจากการส่งออกสินค้าและการผลิตที่ฟื้นตัวได้ช้า มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกของปีลดลง 0.2% ซัพพลายเชนมีปัญหา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างและการค้าโลก ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรก”
โดยสะท้อนจากภาคอุตสาหกรรมที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2567 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 และอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) อยู่ที่ 62.39% ซึ่งลดลง 4.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
หวังนักท่องเที่ยวปีนี้ทะลุ 35 ล้านคน
แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว แต่นักท่องเที่ยวจากยุโรปและตะวันออกกลางมีแนวโน้มลดลงจากผลกระทบของสงคราม อย่างไรก็ตาม คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีจะยังอยู่ที่ราว 35 ล้านคนตามที่คาดไว้เดิม
ทั้งนี้ กกร. มองว่า รัฐบาลควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการมีมาตรการสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจและกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้
เอกชนผวา รัฐขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ
ด้าน พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีของการขึ้นค่าแรง ภาคเอกชน กกร. ‘ไม่เห็นด้วย’ กับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท เพราะเป็นอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง เพราะจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ ซึ่งจะกระทบขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ
“ขณะนี้ภาคธุรกิจเผชิญความผันผวน เช่น ค่าเงินบาท ราคาพลังงาน มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และสงครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศไทยอย่างมาก”
5 ข้อเสนอต่อรัฐบาล
- กกร. เห็นด้วยกับการยกระดับรายได้ของแรงงานไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
- กกร. ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ควรใช้กลไกจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัดและคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี)
- ควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน (Pay by Skills)
- ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ
- นอกเหนือจากการยกระดับรายได้ของแรงงานแล้ว ภาครัฐควรเข้ามาดูแลค่าครองชีพของแรงงาน ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า และดูแลดอกเบี้ยเงินกู้ ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ กกร. จะมีการทำหนังสือถึงกระทรวงแรงงานวันที่ 13 พฤษภาคม เพื่อขอคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ โดยขอให้ยึดกลไกการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี)