ข้อมูลล่าสุดจากรัฐบาลญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่า จำนวนบ้านร้างในประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 80% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญเกิดจากการลดลงของประชากรในพื้นที่ชนบทซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงขึ้น
กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นเผยผลสำรวจเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พบว่า บ้านร้างทั่วประเทศ 3.85 ล้านหลัง ณ เดือนตุลาคม 2023 เพิ่มขึ้น 3.6 แสนหลังจากการสำรวจครั้งก่อนในปี 2018
บ้านร้างหมายถึงที่อยู่อาศัยที่ถูกทิ้งร้างเป็นเวลานาน ไม่รวมบ้านเช่า บ้านพักตากอากาศ และอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ โดยคิดเป็น 5.9% ของบ้านทั้งหมดในญี่ปุ่น ณ เดือนตุลาคม สูงขึ้น 30% จากปี 2018
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘บ้านร้าง’ กลายเป็นของดี ชาวต่างชาติแห่ซื้อบ้านราคาถูกในญี่ปุ่น บางหลังราคาแค่ 7.5 แสนบาทเท่านั้น
- บ้านผีสิงของญี่ปุ่นกำลังฟื้นคืนชีพ เข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ธรรมดา
จำนวนบ้านว่างโดยรวมเพิ่มขึ้น 5 แสนหลัง เป็น 8.99 ล้านหลัง คิดเป็นสัดส่วนถึง 13.8% ของบ้านทั้งหมดในญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่
บ้านร้างมักจะชำรุดทรุดโทรมง่าย มีความเสี่ยงเกิดแมลงรบกวน ทรุดพัง และปัญหาอื่นๆ ตัวเลขจำนวนบ้านประเภทนี้เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบทที่ประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง วากายามะและโทคุชิมะมีสัดส่วนบ้านว่างสูงสุดในญี่ปุ่นเท่ากันที่ 21.2%
การสำรวจยังรวมถึงอพาร์ตเมนต์และคอนโดมิเนียมที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน พบว่า มากกว่า 5.02 ล้านยูนิต หรือ 16.7% อยู่ในสภาพว่างเปล่า ณ เดือนตุลาคม ในจำนวนนี้ 846,800 ยูนิตถูกจัดว่าเป็นบ้านร้าง ซึ่งเพิ่มขึ้น 8.6% จากปี 2018 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 60% จาก 20 ปีก่อน
ยูนิตว่างเปล่าสามารถสร้างปัญหาให้แก่อพาร์ตเมนต์หรือคอนโดมิเนียมทั้งอาคารได้ อาทิ ขัดขวางการตัดสินใจซ่อมแซมครั้งใหญ่ นอกจากนี้เจ้าของห้องชุดมักไม่จ่ายค่าบำรุงรักษาและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ส่งผลให้มีเงินทุนสำหรับค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงลดลง
มีคอนโดมิเนียมประมาณ 1.25 ล้านยูนิตทั่วญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ตัวเลขนี้คาดว่าจะพุ่งขึ้นถึง 3.5 เท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ทำให้การปรับปรุงและซ่อมแซมยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น
รัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งกำลังประเมินสถานการณ์ โดยในปี 2022 เมืองนาโกย่าเริ่มเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารคอนโดรายงานสถานการณ์ภายในอาคารต่อทางการ
ในปี 2018 เมืองโยโกฮามาเริ่มส่งสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ไปยังอาคารคอนโดมิเนียมที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือในการจัดตั้งสมาคมการจัดการและปรับปรุงสัญญาที่จำเป็น
ญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายในปี 2015 ที่อนุญาตให้หน่วยงานท้องถิ่นออกคำเตือนเกี่ยวกับบ้านว่างที่เสี่ยงต่อการพังทลาย และสั่งรื้อถอนหากบ้านไม่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น จนถึงขณะนี้มีบ้านประมาณ 40,000 หลังที่ตกเป็นเป้าหมายของกรอบกฎหมายนี้ตามข้อมูลของกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว
แต่กฎหมายดังกล่าวจะใช้เป็นหลักกับบ้านทั้งหลังหรืออาคารที่อยู่อาศัยทั้งโครงการที่อยู่ในสภาพว่างเปล่า ทำให้ยากที่จะนำไปใช้กับยูนิตว่างในอาคารขนาดใหญ่
เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ดีขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการคอนโดมิเนียมในปี 2022 เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถออกคำแนะนำและคำเตือนแก่เจ้าของยูนิตที่บริหารจัดการไม่เหมาะสมได้
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากกระทรวงที่ดินระบุว่า “มีเพียงไม่กี่กรณีเท่านั้นที่ได้รับการจัดการ” ภายใต้กฎหมายนี้
อาคารที่อยู่อาศัยมักมีผู้อยู่อาศัยหลากหลายช่วงอายุและหลากหลายรูปแบบครอบครัว เพื่ออำนวยความสะดวกในการสร้างฉันทมติ รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังทำงานเพื่อเสริมสร้างสมาคมการจัดการและลดอุปสรรคในการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารให้ดียิ่งขึ้น
อ้างอิง: