อัตรา เงินเฟ้อ ไทยพลิกบวกครั้งแรกรอบ 7 เดือน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ด้านกระทรวงพาณิชย์เตือน ดัชนีราคาผู้บริโภคมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่องในช่วง 8 เดือนที่เหลือของปีนี้ เหตุฐานปีก่อนที่ต่ำ และความเป็นไปได้ว่าราคาวัตถุดิบ พลังงาน และไฟฟ้าอาจมีการปรับตัวขึ้น
วันนี้ (3 พฤษภาคม) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอัตรา เงินเฟ้อ สำคัญในเดือนเมษายน 2567 สูงขึ้น 0.19%YoY นับเป็นการกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน
อย่างไรก็ตาม CPI เฉลี่ย 4 เดือน (เดือนมกราคม-เมษายน) ของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ลดลง 0.55%AoA ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.37%YoY ทรงตัวเท่ากับเดือนก่อนหน้า
โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อพลิกกลับเป็นบวกอ่อนๆ เป็นผลจาก
- ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก
- สินค้าเกษตรหลายรายการโดยเฉพาะผักสดและผลไม้สดออกสู่ตลาดลดลงและราคาสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด
เมื่อเทียบกับต่างประเทศ (จากข้อมูลเดือนมีนาคม 2567) พบว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 137 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และอยู่ในระดับต่ำอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว, เวียดนาม, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และบรูไน)
เปิดแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไทยช่วงที่เหลือของปี
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2567 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นถึงราว 1-1.5% โดยมีสาเหตุสำคัญจาก
- ฐานราคาค่ากระแสไฟฟ้าเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดของปี 2566
- ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น ทั้งไข่ไก่ เนื้อสุกร ผัก และผลไม้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด และขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่
- ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับมีการปรับลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ
- ค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น
- ผู้ประกอบการมีแรงกดดันจากต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง ทั้งอัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายค่ากระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการบางชนิดยังคงอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่
- เศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำ
- การแข่งขันที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมทั้งการเติบโตของการค้าอีคอมเมิร์ซ ทำให้มีการแข่งขันและใช้นโยบายส่งเสริมการค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะการปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนช่วง 8 เดือนที่เหลือของปีนี้ สนค. คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะเป็นบวก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำ และความเป็นไปได้ว่าราคาวัตถุดิบ พลังงาน และไฟฟ้าอาจมีการปรับตัวขึ้น
สำหรับปัจจัยผลกระทบต่อเงินเฟ้อจากการปรับขึ้นของค่าแรง พูนพงษ์จะขอเผยรายละเอียดในการแถลง CPI เดือนหน้า
อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่าง 0.0-1.0% (ค่ากลาง 0.5%) ไว้ตามเดิม เนื่องจากเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง