วันนี้ (25 เมษายน) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เดินทางมายื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) กรณีที่ พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ลงนามในคำสั่งให้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน โดยมองว่าเป็นไปโดยมิชอบ
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวว่า วันนี้ได้ยื่นเรื่องร้องเรียน 2 ส่วน คือ ก.พ.ค.ตร. และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่ออุทธรณ์เกี่ยวกับคำสั่งให้ออกจากราชการ ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่รักษาการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ลงนาม
โดย พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ได้แสดงแผนผังชุดข้อมูล ‘ขบวนการ 4×100 สยบปีกพระพรหม’ พร้อมอธิบายว่า คำว่า 4×100 ในภาคใต้หมายถึงกลุ่มของสารเสพติด หรือที่หมายถึงความประพฤติชั่ว ในที่นี้พบว่ามีขบวนการที่เกี่ยวกับตนประกอบด้วย 4 ชุด คือ
- ชุดตรวจค้นบ้าน ตระกูล 4 ต.เต่า (ต่อ, เต่า, ตุ้ม, ไตร)
- พนักงานสอบสวนคดีเว็บพนันออนไลน์ สถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ
- พนักงานสอบสวนคดีเว็บพนันออนไลน์ สถานีตำรวจนครบาลเตาปูน
- ชุดรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ในแต่ละกลุ่มร่วมกันทำเป็นขบวนการตั้งแต่การเข้าตรวจค้นบ้าน การใช้อำนาจสอบสวนคดี นำไปสู่การออกหมายเรียก ออกหมายจับ จนรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตั้งคณะกรรมการสอบสวน และมีคำสั่งให้ตนออกจากราชการไว้ก่อนในวันที่ 18 เมษายน 2567 และนำส่งสำนวนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทันทีในวันที่ 19 เมษายน 2567
โดยกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีการสร้างเรื่องเกี่ยวกับเว็บพนันออนไลน์และเข้าแจ้งความ เริ่มตั้งแต่การดำเนินคดีเครือข่ายมินนี่ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ โดยให้พนักงานสอบสวนรับคดีตั้งแต่ปี 2558 และดำเนินคดีกับผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเอง 8 คน โดยใช้กลไกศาลดำเนินการกับตนพร้อมกับส่งสำนวนคดีให้ ป.ป.ช.
ซึ่งคดีเว็บพนันเครือข่ายมินนี่มี พล.ต.อ. ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ส่วนสำนวนคดีเว็บพนัน BNK Master มี พล.ต.ท. ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวย้ำว่า ทั้ง 2 สำนวนคดีเว็บพนันตำรวจไม่มีอำนาจในการสอบสวน และที่ผ่านมาตนเองได้ทำหนังสือทักท้วงไปยังผู้บัญชาการตำรวจนครบาลและรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้ว แต่ไม่มีการตอบรับ กระทั่งตนเองถูกแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2566 นำไปสู่การมีคำสั่งให้ตนออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายทั้งหมด
เนื่องจากตนถูกกล่าวหาตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2566 ขณะนั้น พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. และตนเองยังคงปฏิบัติหน้าที่รอง ผบ.ตร. อยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากตนทำให้เกิดความเสียหายต่อราชการจริงก็ต้องให้ออกตั้งแต่ขณะนั้นแล้ว ต่อมาตนยังถูกย้ายไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม รวมระยะเวลาทั้งหมด 29 วัน ตนจะมีอำนาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หรือทำให้เกิดความเสียหายได้อย่างไร
จากนั้น พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ได้อธิบายข้อกฎหมายพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ข้อ 8 มาตรา 131 ที่ระบุว่า ‘กรณีสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนต้องใช้กฎ ก.ตร. ปี 2547 มาประกอบ หากแต่ในข้อ 8 ของกฎ ก.ตร. ปี 2547 กรณีการสอบสวนไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว ได้ขัดแย้งกันในข้อกฎหมายตามที่กล่าวไป จึงต้องนำมาตรา 120 มาใช้แทน ซึ่งระบุว่า การสอบสวนข้อเท็จจริงต้องให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หลังจากนั้นจะส่งให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาเป็นผู้พิจารณา’ โดยระบุต่อว่าคำสั่งครั้งนี้มีความขัดแย้งกัน จึงต้องยกเลิกคำสั่งให้ออกจากราชการนี้ไปโดยปริยาย เพราะถือเป็นการให้ออกจากราชการโดยมิชอบ
นอกจากนี้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ยังระบุว่า ระหว่างการสอบสวนจะนำเหตุแห่งการสอบสวนมาเป็นข้ออ้างในการดำเนินการใดให้กระทบต่อสิทธิของผู้ถูกสอบสวนไม่ได้ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน แล้วมีความเห็นไปถึงผู้บัญชาการภาคหรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่าจะมีดุลพินิจอย่างไร
แต่กรณีของตนเองนั้นมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนในวันเดียวกับที่มีคำสั่งให้ตนเองออกจากราชการ ดังนั้นจึงไม่มีข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการสอบสวนที่มี พล.ต.อ. สราวุฒิ การพานิช รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะตามกฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นการกลับไปใช้กฎหมายฉบับเดิมปี 2547 ที่ให้เป็นไปตามดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา
“การกระทำดังกล่าวรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องติดคุก อีกทั้งที่ผ่านมามีตำรวจกว่า 500 นายที่ถูกดำเนินคดีแต่ไม่มีใครถูกสั่งให้ออกจากราชการเหมือนกับตนเอง นอกจากนี้ยังได้สอบถามกับผู้อำนวยการกองวินัย ซึ่งระบุว่าได้มีการประมวลเรื่องดังกล่าวไว้สองวันก่อนจะมีคำสั่งให้ตนเองออกจากราชการ คือมีการร่างคำสั่งให้ออกจากราชการเตรียมเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน และลงนามในวันที่ 18 เมษายน แสดงให้เห็นว่ามีขบวนการให้ตนเองออกจากราชการ” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าว
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะมีการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ไล่ตั้งแต่รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, ผู้บัญชาการกฎหมายฯ, ผู้บังคับการกองคดี, ผู้บังคับการสารนิเทศฯ, เลขานุการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโลยีที่มาปลดป้ายชื่อตนเองและปลดรูปจากทำเนียบผู้บังคับบัญชาออกทั้งที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตนเองออกจากราชการ ทั้งที่ พล.ต.อ. รอย อิงคไพโรจน์ ที่ไปทำงานที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นานแล้ว ยังไม่มีการปลดป้าย ถือเป็นการทำให้ตนเองเสื่อมเสีย ดังนั้นจะยื่นฟ้องดำเนินคดีทั้งหมดแต่ถ้าจะให้ตนเองเมตตาก็ต้องมาบอกกับตัวเองว่าใครเป็นผู้สั่งการ
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า การให้รอง ผบ.ตร. ออกจากราชการนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่นี่มีความรีบ รีบเพราะมีคนกระเหี้ยนกระหือรืออยากเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำเรื่องรอไว้แล้วก็ไปหลอกนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีก็ไม่ทราบจึงมีคำสั่งให้ตนเองกลับไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อนจะถูกสั่งให้ออกจากราชการ เดิมรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่ใช่คู่ขัดแย้งของตน แต่มาทำแบบนี้ถือว่าท่านเลือกเอง
ซึ่งกรณีที่หนึ่งในคณะกรรมการ ก.พ.ค.ตร. คือ พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ และอดีต ผบ.ตร. ที่เป็นคู่ขัดแย้งกับตนเองนั้น ท่านจะต้องรู้ตัวเองและขอถอนตัว แต่หากรู้ว่าท่านไม่ดำเนินการตนเองก็จะยื่นเรื่องร้องเรียนต่อไป
ทั้งนี้ ยืนยันว่ามติของ ก.พ.ค.ตร. เปรียบเสมือนศาลปกครอง มีอำนาจในการเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มิชอบได้ และหากเพิกถอนแล้วจะถือว่าคำสั่งดังกล่าวไม่เคยมีมาก่อน หากดำเนินการไม่เสร็จตามกรอบระยะเวลาก็สามารถขยายได้อีก 2 ครั้ง
ช่วงหนึ่งผู้สื่อข่าวได้ถาม พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ว่ามาถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วมีอะไรอยากบอก พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจหรือไม่ หลังจากเมื่อวานนี้ (24 เมษายน) พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ระบุว่า ถ้าอยากเป็น ผบ.ตร. ให้บอกกันดีๆ จะพาไปกราบท่านเผ่า โดย พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ถ้าไปหาท่านเผ่า ต้องพารักษาการฯ ไปกราบขอโทษนายกฯ ก่อน พร้อมฝากถึงรักษาการ ผบ.ตร. ว่าการทำแบบนี้จะตอบประชาชน ตอบลูกน้องได้อย่างไร
“ต้องเข้าใจว่าเกียรติยศมันเกิดจากสังคมเขามอบให้ มันเกิดจากคนอื่นมอบให้ แต่ศักดิ์ศรีมันต้องมีด้วยตัวเอง ต้องหัดมีศักดิ์ศรีบ้าง เมื่อไรที่ตัวเองไม่มีศักดิ์ศรีมันต้องออก แต่วันนี้มีอย่างเดียวคือจะลาออกหรือติดคุกเท่านั้นเอง” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าว
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวย้ำว่า ที่วันนี้ต้องทำแบบนี้เป็นเพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ต่อไปจะมีการทำแบบนี้อีก ทำซ้ำๆ อีก แบบนี้องค์กรจะพังเหมือนที่อัยการปรเมศวร์ อินทรชุมนุม เคยเตือนว่ามันจะพังทั้งองค์กร
นอกจากนี้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ตนไม่ใช่ผู้ต้องหา แต่เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา เพราะตราบใดก็ตามที่ ป.ป.ช. ยังไม่มีการชี้มูลความผิด ตนก็ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และยังมีคุณสมบัติที่จะเป็น ผบ.ตร. ได้ทุกอย่าง อีกทั้งตนยังถือเป็นรอง ผบ.ตร. อันดับ 1