SCB EIC ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคที่คาดว่าจะได้รับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ต พบว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามจะลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัวของตัวเองลง และนำเงินที่ลดลงดังกล่าวไปเก็บออมหรือชำระคืนเงินกู้แทน
วันนี้ (23 เมษายน) SCB EIC ได้เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคที่คาดว่าจะได้รับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ต (ตามรายละเอียดของโครงการในช่วงครึ่งหลังของปี 2566) ระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือผลการสำรวจนั้นมีผลต่อเศรษฐกิจและธุรกิจค้าปลีกดังนี้
1. เม็ดเงินโดยส่วนใหญ่จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะหมุนเข้าระบบภายใน 6 เดือน แม้ว่าก่อนหน้านี้ภาครัฐจะกำหนดระยะเวลาการใช้จ่ายมากกว่า 6 เดือนก็ตาม
โดยผู้ตอบแบบสอบถามราว 58% จะทยอยใช้เงินโครงการ 10,000 บาทครบภายใน 6 เดือน อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้มีรายได้น้อย (รายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน) หรือกลุ่มผู้สูงอายุ มีแนวโน้มจะทยอยใช้จ่ายเงิน 10,000 บาทไปจนถึงวันสิ้นสุดโครงการในเดือนเมษายน 2570 (ตามเงื่อนไขการใช้จ่ายที่ทางการประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566)
ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของรัฐบาลเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ยังไม่ได้ระบุระยะเวลาในการใช้จ่ายเงินของโครงการ ซึ่งหากภาครัฐต้องการให้เงินหมุนเวียนเร็วอย่างเต็มประสิทธิภาพ อาจต้องกำหนดระยะเวลาการใช้จ่ายให้สั้น เช่น ไม่เกิน 6 เดือน เพื่อกระตุ้นให้ผู้มีสิทธิใช้จ่ายในระยะเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ
2. กว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า จะลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัวของตัวเองลงหากได้รับเงิน 10,000 บาทจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม ผู้มีสิทธิได้เงินดิจิทัลวอลเล็ตที่ลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัว บางส่วนนำเงินที่ลดลงดังกล่าวกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการให้ญาติใช้จ่ายหรือนำไปลงทุนธุรกิจต่อ ทั้งนี้ หากรวมเงินที่เข้าสู่รระบบเศรษฐกิจข้างต้นจะพบว่า
ราว 30% ของผู้มีสิทธิได้เงินดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งกลุ่มรายได้มาก (เงินเดือน 40,000-70,000 บาท) ปานกลาง (15,000-40,000 บาท) และน้อย (< 15,000 บาท) มีการใช้จ่ายเงินส่วนเพิ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อราย
นอกจากนี้ผู้มีสิทธิได้เงินดิจิทัลวอลเล็ตส่วนใหญ่จะลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัวลง และนำเงินที่ลดลงดังกล่าวไปเก็บออมหรือชำระคืนเงินกู้ (คิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของผู้มีสิทธิที่ลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัว) ซึ่งช่วยลดภาระหนี้ของผู้มีสิทธิ หรือทำให้ผู้มีสิทธิมีเงินออมเพื่อใช้จ่ายในยามจำเป็นมากขึ้น
3. Grocery เป็นสินค้าหลักที่จะได้ประโยชน์จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
โดยผู้ตอบแบบสอบถามเลือกใช้จ่ายเงินโครงการในสินค้า Grocery เกือบ 40% ของประเภทสินค้าที่เลือกซื้อทั้งหมด ขณะที่สินค้าหมวดสุขภาพและร้านอาหารเป็นสินค้ารองลงมาที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากโครงการ
ยกเว้นในกลุ่มผู้มีสิทธิที่เป็น Gen Z มีแนวโน้มนำไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุมีแนวโน้มนำเงินบางส่วนจากโครงการไปซื้อสินค้าเพื่อตกแต่งหรือซ่อมบ้านเพิ่มเติมด้วย
กลุ่มสินค้าคงทน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ของแต่งบ้าน และโทรศัพท์มือถือ คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตบ้าง จากกลุ่มผู้มีสิทธิราว 10-17% ที่เลือกใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนติด Top 3
โดยกลุ่มผู้มีสิทธิเหล่านั้นเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มใช้จ่ายเงิน 10,000 บาทในครั้งเดียว หรือเป็นกลุ่มที่ไม่ลดการใช้จ่ายหรือเพิ่มการใช้จ่ายเงินส่วนตัว ซึ่งค่อนข้างกระจุกอยู่ในผู้มีสิทธิกลุ่ม Gen Y และ Gen Z รวมถึงผู้มีรายได้มากกว่า 15,000 บาท
4. ร้านค้าท้องถิ่นและร้านสะดวกซื้อจะเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ได้ประโยชน์จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
โดยผู้ตอบแบบสอบถามเลือกใช้จ่ายเงินโครงการในร้านค้าท้องถิ่นราว 40% และร้านสะดวกซื้อ เช่น CJ และ 7-11 ราว 26% ของประเภทร้านค้าที่เลือกใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่กลุ่มร้านอาหารและร้านขายยาเป็นกลุ่มรองที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการนี้ด้วย
นอกจากนี้ร้านอุปกรณ์ยานยนต์และร้านอุปกรณ์การเกษตรคาดว่าจะได้อานิสงส์อยู่บ้าง โดยผู้ตอบแบบสอบถามเลือกใช้จ่ายในร้านค้าเหล่านี้เป็นอันดับที่ 5 โดยผู้มีสิทธิที่รายได้สูง หรืออยู่ในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ จะนำไปใช้จ่ายในร้านอุปกรณ์ยานยนต์ ขณะที่ผู้มีสิทธิอยู่ต่างจังหวัดหรือรายได้น้อย จะเลือกใช้จ่ายในร้านอุปกรณ์การเกษตร
อย่างไรก็ดี ในส่วนของร้านค้าส่งและค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้าหรือไฮเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น แม้จะไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายของผู้มีสิทธิในโครงการ แต่คาดว่าจะได้ประโยชน์ทางอ้อมจากร้านค้าท้องถิ่นขนาดเล็กที่ต้องนำเงินรายได้จากการขายสินค้าให้ผู้มีสิทธิมาใช้จ่ายต่อไปยังร้านค้าอื่นๆ เช่น การซื้อสินค้าเพื่อสต็อกสินค้าในร้านค้า เป็นต้น
5. การกำหนดพื้นที่ใช้จ่ายเงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในร้านค้าตามที่อยู่ทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิ อาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายเงินโครงการ
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจที่คาดว่ามีสิทธิในโครงการมองว่าการกำหนดพื้นที่ใช้จ่ายเงินโครงการเป็นข้อจำกัดต่อการใช้จ่ายเงินของโครงการ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานหรืออยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จังหวัดหัวเมืองใหญ่ รวมถึงกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการ ซึ่งราว 70% ของกลุ่มเหล่านั้นมองว่าการกำหนดพื้นที่ใช้จ่ายเป็นอุปสรรค
โดยปัญหาหลักของการใช้จ่ายมาจากการไม่มีร้านค้าที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการในพื้นที่ที่กำหนด