เกิดอะไรขึ้น:
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่มีการเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เมื่อวันที่ 10 เมษายน กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับเงินจากโครงการนี้ยังคงเป็นประชาชนสัญชาติไทยประมาณ 50 ล้านคน โดยมีเกณฑ์ ได้แก่ อายุ 16 ปีขึ้นไป ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
โดยวงเงินโครงการ 500,000 ล้านบาท จะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณปี 2567-2568 และงบประมาณปี 2568 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) การแจกเงินในโครงการนี้คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้ GDP ไทยขยายตัว 1.2-1.6% ทั้งนี้ ประชาชนและร้านค้าจะต้องลงทะเบียนและยืนยันตัวตนใน 3Q67 และเงินจะส่งตรงถึงประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ใน 4Q67 โดยมาตรการนี้จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนเมษายนนี้
สำหรับเงื่อนไขการใช้จ่ายภายใต้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต การใช้จ่ายรอบแรกจะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กในพื้นที่ระดับอำเภอ (878 อำเภอ) ภายในระยะเวลา 6 เดือน นับจากเริ่มต้นโครงการ โดยให้ใช้จ่ายเฉพาะกับร้านค้าขนาดเล็กภายใต้ระบบภาษี รวมถึงร้านสะดวกซื้อตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด เช่น ร้าน 7-Eleven และร้านสะดวกซื้อแบบสแตนด์อโลนภายในสถานีบริการน้ำมัน
แต่ไม่รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ การใช้จ่ายรอบที่สองจะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า โดยไม่จำกัดขนาดร้านค้าและพื้นที่ ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่จะสามารถถอนเงินได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่สองเป็นต้นไป สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการนี้ได้ ยกเว้นสินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และสินค้าออนไลน์
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มพาณิชย์ (SETCOMM) ปรับลง 1.61% ขณะที่ SET Index ปรับขึ้น 1.57%
กลยุทธ์การลงทุนและคำแนะนำ:
InnovestX Research คาดว่าโครงการนี้จะส่งผลบวกโดยตรงต่อผู้ประกอบการค้าปลีกที่ขายสินค้าจำเป็นในร้านค้าขนาดเล็ก (พื้นที่ขายไม่เกิน 200 ตารางเมตรต่อสาขา) และมียอดขายบางส่วนมาจากร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม นำโดย CPALL (ยอดขาย 56% ในงบการเงินรวมมาจากร้านสะดวกซื้อที่บริษัทมีสาขาครอบคลุมทุกอำเภอในประเทศไทย และยอดขายจาก CPAXT ที่มาจากร้านค้าปลีกรายย่อยและร้านค้าส่งในธุรกิจ B2B และร้านค้าขนาดเล็กในธุรกิจ B2C)
ตามด้วย CPAXT (ยอดขาย 24% ในงบการเงินรวมมาจากกลุ่มร้านค้าปลีกรายย่อย (ร้านขายของชำ ร้านโชห่วย) และร้านค้าส่ง (ร้านค้าส่งขนาดกลางและเล็ก) ในธุรกิจ B2B และร้านค้าขนาดเล็กในธุรกิจ B2C) และ BJC (ยอดขาย 20% ในงบการเงินรวมมาจากร้านค้าขนาดเล็กของ Big C B2B และร้าน ‘โดนใจ’ ซึ่งเป็นร้านของผู้ค้าปลีกแบบดั้งเดิมที่ซื้อสินค้าจาก Big C)
นอกจากนี้คาดว่าผู้ประกอบการทุกรายในกลุ่มพาณิชย์จะได้รับผลบวกทางอ้อมจากกำลังซื้อที่ปรับตัวดีขึ้นและ Sentiment ที่ดีขึ้น เนื่องจากยอดขายและกำไรจะปรับเพิ่มขึ้น (นำโดยผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าจำเป็น) ตั้งแต่ 4Q67 เป็นต้นไป ดังนั้นจึงเลือก CPALL, CPAXT และ BJC เป็นหุ้นเด่นที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือการเปลี่ยนแปลงในกำลังซื้อและนโยบายรัฐบาล ความเสี่ยงด้าน ESG ที่สำคัญคือการบริหารจัดการพลังงาน ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (E) และแนวปฏิบัติด้านการจ้างงาน (S)