ญี่ปุ่นเผชิญวิกฤตบริษัทล้มละลายกว่า 9,000 แห่งในปีงบประมาณ 2023 ซึ่งสูงสุดรอบ 9 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทเอกชนที่พึ่งพาสินเชื่อช่วยเหลือจากรัฐบาลในช่วงการระบาดของโรคโควิด ด้านนักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ว่า ตัวเลขอาจพุ่งทะลุ 10,000 แห่งในปีงบประมาณนี้
ข้อมูลที่เปิดเผยโดย Tokyo Shoko Research (TSR) ระบุว่า การล้มละลายของบริษัทที่มีหนี้สินตั้งแต่ 10 ล้านเยน (ประมาณ 2.2 ล้านบาท) ขึ้นไป เพิ่มขึ้น 32% เทียบปีต่อปี สู่ตัวเลข 9,053 แห่งในรอบปีที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2024
อัตราการล้มละลายที่เพิ่มขึ้นเกิดขึ้นในทุกภาคอุตสาหกรรม ในวงการก่อสร้างที่ราคาวัสดุก่อสร้างพุ่งสูงขึ้น การล้มละลายพุ่งสูงขึ้น 39% สู่ 1,777 แห่ง ส่วนธุรกิจค้าส่งมีอัตราที่สูงขึ้น 27% สู่ 1,048 แห่ง
ขณะที่อัตราการล้มละลายที่พุ่งสูงสะท้อนถึงความยากลำบากของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่ทั้งเผชิญกับเงินเฟ้อต้นทุนสินค้าและขาดแคลนแรงงาน แต่ก็เป็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากมาตรการช่วยเหลือช่วงโควิด และเข้าสู่วงจรปกติของการเปิดและปิดตัวของธุรกิจ
การล้มละลายกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยภูมิภาคชิโกกุ ซึ่งเป็นเกาะที่เล็กที่สุดในบรรดาเกาะหลักสี่เกาะของญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากตัวเลขที่พุ่งสูงถึง 57%
ในช่วงที่โควิดระบาด ธุรกิจต่างๆ ได้ประโยชน์จากเงินกู้ ‘ดอกเบี้ยศูนย์ เงินต้นศูนย์’ (Zero-Zero Loan) ซึ่งไม่จำเป็นต้องชำระดอกเบี้ยและเงินต้นในช่วงเวลาหนึ่ง และเมื่อช่วงเวลาผ่อนปรนเหล่านี้กำลังจะสิ้นสุดลง การชำระหนี้ก็จะพุ่งสูงขึ้นในปี 2023 ซึ่งมีบริษัททั้งหมด 622 แห่งล้มละลายในปีงบประมาณ 2023 ที่เคยได้รับเงินกู้เหล่านั้น ซึ่งมากกว่าเดิม 14%
อัตราการล้มละลายในธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งเคยมีเงินช่วยเหลือในช่วงการระบาดในรูปของเงินชดเชยการปิดร้านชั่วคราวหรือการจำกัดเวลาเปิดร้าน ก็พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 930 ร้านในปีงบประมาณ 2023
ในการสำรวจราว 3,000 บริษัท ที่จัดทำโดย Tokyo Shoko Research เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เผยว่า มีเพียง 4% ของผู้ถูกสอบถามที่ระบุว่า สามารถส่งต่อต้นทุนวัสดุและเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นไปยังลูกค้าได้ ขณะที่ 38% ระบุว่า ไม่สามารถทำได้
เจ้าหน้าที่ฝ่ายแรงงานในภูมิภาคโทโฮคุ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ระบุว่า การล้มละลายในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และระบุว่า มีจำนวนคนที่ลาออกจากงานอันเป็นผลมาจากการปลดพนักงานหรือการตัดสินใจอื่นๆ ของบริษัทอย่างเห็นได้ชัด
เจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรมการเงินในภูมิภาคคันโต ทางตอนใต้รอบๆ โตเกียว ชี้ให้เห็นว่า “จะมีจำนวนบริษัทที่ล้มละลายมากขึ้น เนื่องจากราคาวัสดุและเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น”
นอกเหนือจากการชำระคืนเงินกู้และราคาต้นทุนที่สูงขึ้นแล้ว เพดานการทำงานล่วงเวลาที่มีผลบังคับใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างและโลจิสติกส์นับตั้งแต่เดือนเมษายน ท่ามกลางความยากลำบากในการหาคนงาน เช่น คนขับรถ การล้มละลายเนื่องจากการขาดแคลนแรงงานสูงขึ้นถึง 191 แห่งในทุกอุตสาหกรรมในปีงบประมาณ 2023 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก
“การเพิ่มขึ้นของค่าขนส่งเนื่องจากการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออุตสาหกรรมต่างๆ” โนบุโอะ โทโมดะ กรรมการผู้จัดการของ Tokyo Shoko Research กล่าว
โทโมดะ ตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ที่ต้นทุนการกู้ยืมอาจเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณ 2024 หลังจากธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นขึ้นอัตราดอกเบี้ย และกล่าวว่า “จะส่งผลกระทบต่อบริษัทที่สร้างรูปแบบธุรกิจบนพื้นฐานของอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และมีความเป็นไปได้สูงที่การล้มละลายจะเกิน 10,000 แห่งในปีงบประมาณ 2024”
บริษัทที่มีผู้ก่อตั้งสูงอายุเลี่ยงการล้มละลายโดยวางแผนสืบทอดกิจการมากขึ้น ญี่ปุ่นมีธุรกิจที่ใช้การซื้อ-ขายควบรวมกิจการ (M&A) ในการสืบทอดกิจการทั้งสิ้น 765 รายการในปีงบประมาณ 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วตามข้อมูลจาก RECOF บริษัทที่ปรึกษา M&A
อ้างอิง: