ในการแข่งขันฟุตบอล FIFA World Cup จะเห็นได้ชัดว่ามีขาประจำที่ตบเท้าเข้าชิงและคว้าแชมป์ตลอดการแข่งขัน 87 ปีที่ผ่านมา โดยทีมจากยุโรปคว้าแชมป์ไป 11 ครั้ง และทีมฝั่งอเมริกาใต้อีก 9 ครั้ง
บราซิลครองแชมป์สูงสุด 5 สมัย ตามมาด้วยเยอรมนีและอิตาลีที่คว้าแชมป์ไปเท่ากัน ทีมละ 4 สมัย
ชาติมหาอำนาจเหล่านี้ต่างมีแนวทางการเล่น หรือ ‘Way’ ของตัวเอง ในขณะที่ฟุตบอลทีมชาติไทยอยู่ระหว่างหาทางของตัวเอง เพื่อลดช่องว่างมาตรฐานฟุตบอลระหว่างอาเซียนกับเอเชีย
คำถามคือ อะไรคือ ‘Way’ ของทีมชาติไทย?
THE STANDARD สัมภาษณ์ วิทยา เลาหกุล หรือ ‘โค้ชเฮง’ ประธานพัฒนาเทคนิคสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ถึงแผนการสร้าง Thailand Way ที่เจ้าตัวบอกว่า ต้องใช้เวลายาวนานและต้องเริ่มต้นกับนักฟุตบอลเยาวชนรุ่นต่อไป
บอลไทยที่ไร้ ‘ทิศ’ และ ‘ทาง’ ที่กำลังจะสร้าง
ที่ผ่านมาโค้ชเฮงเชื่อว่าฟุตบอลไทยยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน รวมถึงโครงสร้างฟุตบอลของเขายังไม่แข็งแรงพอ ซึ่งที่ผ่านมาในฐานะประธานพัฒนาเทคนิคสมาคมฯ ได้พยายามจัดโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมา โดยนำระบบอะคาเดมีของสโมสรชลบุรี เอฟซี มาเป็นต้นแบบพัฒนาเยาวชน ก่อนที่จะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ
โค้ชเฮงมองว่าการพัฒนา Thailand Way จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบการฝึกซ้อมที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างนักเตะที่มีมาตรฐาน ซึ่งโครงสร้างและแนวทางการเล่นของนักฟุตบอลไทยตั้งแต่อายุ 12-18 ปี ต้องอยู่ในรูปแบบเดียวกันหมด
นั่นคือการดึงความหลงใหลในกีฬาฟุตบอล ซึ่งเป็นจุดเด่นที่นักเตะไทยมีอยู่แล้วมาพัฒนาผ่านลีกเยาวชนและลีกอาชีพ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
“เราต้องเน้นลูกสั้น รวดเร็ว ดุดัน และมีความเด็ดขาด ซึ่งเราต้องปลูกฝังให้โค้ชทุกคนเน้นย้ำในการฝึกซ้อม เพื่อสร้างโครงสร้างที่ดีตั้งแต่เยาวชน”
วิทยา เลาหกุล ประธานเทคนิคสมาคมฯ ร่วมเป็นประธานเปิดงาน Chang Advance Football Clinic 2017
นักเตะเยาวชนคือจุดเริ่มต้น
ส่วนการประเมินผลงาน Thailand Way ทางสมาคมจะใช้ผลการแข่งขันและแนวทางการเล่นมาปรับปรุงร่วมกับ เอคโคโน บริษัทด้านการจัดการฟุตบอลจากบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ที่เข้ามาดูแลทีมเยาวชนทีมชาติไทยตั้งแต่อายุ 14-21 ปี และตรวจสอบว่าเอคโคโนได้ทำงานสอดคล้องกับแนวทางที่สมาคมได้วางไว้หรือไม่ โดยเฉพาะคอนเซปต์การเล่นฟุตบอล
โค้ชเฮงยืนยันว่าการสร้าง Thailand Way ไม่ใช่การศึกษาแนวทางจากประเทศญี่ปุ่นในทวีปเอเชียด้วยกันเท่านั้น แต่ทางสมาคมได้ศึกษาแนวทางของชาติมหาอำนาจอย่าง เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และสเปน มาร่วมในแผนการพัฒนาให้เข้ากับฟุตบอลไทยมากที่สุด
โดยกรณีศึกษาล่าสุดที่สมาคมกำลังเก็บข้อมูล คือฟุตบอลเยาวชนทีมชาติอังกฤษชุดอายุไม่เกิน 20 ปี ที่สามารถคว้าแชมป์โลก U-20 ได้สำเร็จ ด้วยแนวทางของพวกเขาเอง ทำให้มีสมาคมกีฬาฟุตบอลทั่วยุโรปต่างจับตามองพัฒนาการของเยาวชนชุดนี้
นอกจากนี้การพัฒนานักเตะยังจำเป็นต้องสร้างทีมที่มีมาตรฐาน และการแข่งขันที่มีคุณภาพในระดับสูง ซึ่งจำเป็นต้องส่งผู้เล่นที่มีศักยภาพออกไปแข่งขันในต่างประเทศ เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพของตัวนักเตะเอง และทั้งหมดนี้ก็คือการพัฒนาฟุตบอลไทยให้มีจุดเด่นแบบ Thailand Way
ชนาธิป สรงกระสินธ์ กลางรุกทีมชาติไทยลงฝึกซ้อมครั้งแรกกับทีมคอนซาโดเล ซัปโปโร ทีมในเจลีก ประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งเป้าหมายหลักของแผนการนี้คือ การพาเยาวชนทีมชาติไทยรุ่นอายุ 13-14 ปี ผ่านเข้าไปแข่งขันฟุตบอลโลก U-17 รอบสุดท้ายให้ได้ เพื่อเป็นการเปิดทางให้กับทีมชาติไทยชุดใหญ่ในอนาคต ซึ่งจะคล้ายกับฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ U-20 ที่สร้างความหวังให้กับทีมชาติอังกฤษชุดใหญ่ที่ห่างหายจากแชมป์โลกมายาวนานกว่า 51 ปี
หนทางและความสำเร็จที่ต้องใช้เวลา
การพัฒนาฟุตบอลหรือสร้างเอกลักษณ์ให้กับชาติมหาอำนาจในวงการนั้นเป็นการใช้เวลาอย่างยาวนานและมีวิวัฒนาการหลายขั้นตอน ซึ่งประกอบด้วยความสำเร็จในหลายปัจจัย
ยกตัวอย่างเช่น ทีมชาติสเปนยุครุ่งเรืองที่อาศัยนักฟุตบอลที่ขึ้นมาพร้อมกันในระบบอะคาเดมีของสโมสรบาร์เซโลนา ทำให้มีความเข้าใจกันทั้งทีม บวกกับพรสวรรค์เฉพาะตัวของนักเตะที่สามารถต่อบอลเท้าถึงเท้าได้ไม่เกิน 1-2 จังหวะ ส่งผลให้เกิดสไตล์การเล่นที่เรียกว่า Tiki-Taka ขึ้นมา และนั่นก็พาพวกเขาไปสู่แชมป์ยุโรป 2 สมัย และแชมป์โลกอีกหนึ่งสมัย
จากที่ได้สัมภาษณ์โค้ชเฮงนั้น ทำให้เห็นการพัฒนา Thailand Way อย่างชัดเจนว่า ทางสมาคมต้องการสร้างนักเตะที่มีศักยภาพขึ้นมาตั้งแต่เยาวชนเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะทำการขัดเกลาผ่านระบบลีกอาชีพและการแข่งขันที่มีมาตรฐานในระดับสูง
การมีระบบพัฒนานักฟุตบอลไทยที่ชัดเจนและเป็นแบบแผนอาจจะไม่สามารถการันตีสิ่งที่แฟนบอลต้องการได้ในเวลา 1-5 ปี แต่หากศักยภาพนักฟุตบอลไทยมีคุณภาพมากขึ้น โอกาสที่เราจะไปค้าแข้งในต่างแดนก็มากขึ้น และ อย่างน้อยที่สุดเราจะสามารถลดช่องว่างระหว่างอาเซียนกับเอเชียได้
ซึ่งในเวลานั้น เราถึงจะไปยืนอยู่จุดเดียวกับญี่ปุ่น และมองต่อไปว่าเราจะลดช่องว่างระหว่างเอเชียกับยุโรปได้อย่างไร
ภาพประกอบ: Karin Foxx
Photo: FA Thailand
อ้างอิง:
Tiki-Taka ฟุตบอลสไตล์ที่เน้นส่งและเคลื่อนไหวระยะสั้น โดยส่งบอลผ่านช่องหลากหลายวิธี