วันนี้ (9 เมษายน) ที่ทำเนียบรัฐบาล คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงมิให้ใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานบางส่วนแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับการงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งมีข้อเท็จจริงที่กระทรวงแรงงานเสนอว่า
- ปัจจุบันได้มีกฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 วรรคสอง
- กระทรวงแรงงานได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ผ่านระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) ระหว่างวันที่ 12-27 พฤษภาคม 2566 รวมทั้งจัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎหมายคือ ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อเพิ่มความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจอยู่ด้วย ดังนี้
- ให้นายจ้างประกาศเวลาทำงานปกติให้ลูกจ้างทราบ แต่วันหนึ่งต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้ว สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง (มาตรา 23)
- ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักระหว่างการทำงานวันหนึ่งไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง (มาตรา 27 วรรคหนึ่ง)
- ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน (มาตรา 34)
- ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานระหว่างเวลา 22.00 น. ถึงเวลา 06.00 น. ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด (มาตรา 39/1 วรรคหนึ่ง)
- ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงตั้งครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วัน (มาตรา 41)
- ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ (มาตรา 43)
- ให้นายจ้างแจ้งการจ้างและแจ้งการสิ้นสุดการจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต่อพนักงานตรวจแรงงาน (มาตรา 45 (1) (3) และวรรคสอง)
- ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มีสิทธิลาเพื่อเข้าประชุม สัมมนา รับการอบรม รับการฝึก หรือลาเพื่อการอื่น ซึ่งจัดโดยสถานศึกษาหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 30 วัน (มาตรา 52)
- ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน (มาตรา 59)
- ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (มาตรา 36)
- ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (มาตรา 90)