×

รมช.-ปลัดกระทรวงการคลังยืนยัน ขาดดุลงบประมาณเพิ่มไม่กระทบเครดิตเรตติ้ง

05.04.2024
  • LOADING...

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเชื่อ ขาดดุลงบประมาณเพิ่มไม่กระทบเครดิตเรตติ้ง ด้านปลัดกระทรวงการคลังระบุ นโยบายการเงินและนโยบายการคลังควรสอดประสานกัน ชี้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ระดับ 2% ยังต่ำเกินไป

 

วันนี้ (5 เมษายน) กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า จากแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ซึ่งรัฐบาลมีการปรับประมาณการการขาดดุลการคลังเพิ่ม โดยในปี 2568 เพิ่มขึ้น 150,000 ล้านบาท จะไม่กระทบอันดับเครดิตเรตติ้งของไทย เนื่องจากทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยยังสูงกว่า 200,000 ล้านบาท เงินคงคลังยังอยู่ที่ 500,000-600,000 ล้านบาท ภาวะการคลังและอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และหนี้สาธารณะก็ไม่เกิน 70%

 

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ซึ่งรัฐบาลมีการปรับประมาณการการขาดดุลการคลังในปี 2568 เพิ่มขึ้นเป็น 865,700 ล้านบาท จาก 713,000 ล้านบาท ในแผนการคลังฉบับก่อน (เพิ่มขึ้น 152,700 ล้านบาท)

 

กฤษฎากล่าวอีกว่า แม้การไปถึงเป้าหมายงบประมาณสมดุลจะชะลอตัวออกไป อย่างไรก็ดี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้นโยบายชัดเจนเกี่ยวกับการลดรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายประจำ ส่วนการเพิ่มรายได้ ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็กำลังทำแผนปฏิรูปอยู่

 

นอกจากนี้ “แม้รายจ่ายในอนาคตน่าจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีบางส่วนที่จะลดลง เช่น การจ่ายเงินสมทบให้กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ก็ใกล้จะเต็มแล้ว ทำให้ไม่ต้องจ่ายเพิ่มแล้ว จากปกติต้องจ่ายสมทบปีละ 50,000 ล้านบาท” กฤษฎากล่าว

 

สำหรับการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ซึ่งรวมไปถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กฤษฎาระบุว่า ทุกรัฐบาลที่ผ่านมามีความตั้งใจที่จะทำ แต่ต้องพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์ที่เหมาะสมด้วย

 

ขณะที่ ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า การทำงบประมาณสมดุลยังเป็นเป้าหมายที่กระทรวงการคลังอยากเห็นอยู่ แต่เวลาอาจจะต้องเลื่อนออกไป

 

สำหรับประเด็นผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ลวรณมองว่า เวลาที่หน่วยงานจัดอันดับเครดิตประเมินจะพิจารณาจากการขาดดุล ซึ่งเป็นสิ่งที่เปิดเผยทั่วไปอยู่ใน 2 ส่วน ได้แก่ เงินที่ได้จากการขาดดุลเอาไปใช้ทำอะไร เกิดประโยชน์อย่างไร และการใช้คืนเงินว่ารัฐบาลจะมีแผนการใช้เงินคืนที่ชัดเจนหรือไม่

 

“โดยหากทางการไทยมีคำตอบที่ดี ทั้ง 2 ส่วนนี้ก็ไม่น่าจะกระทบการประเมินเครดิตเรตติ้ง” ลวรณกล่าว

 

สำหรับประเด็นหนี้สาธารณะที่ ลวรณคาดว่าขึ้นไปสู่ระดับ 66-67% ต่อ GDP ในปี 2568-2569 ตามแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ที่ ครม. มีมติเห็นชอบไปเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มองว่ายังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

 

ปลัดกระทรวงการคลังยังระบุว่า นโยบายการเงินและนโยบายการคลังควรสอดประสานกัน โดยมองว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ระดับ 2% ยังต่ำเกินไป ทำให้การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและการกระตุ้นกำลังซื้อจึงเป็นเรื่องจำเป็น

 

“การแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยคงไม่ได้มาจากการดูระยะสั้นอย่างเดียวหรือระยะยาวอย่างเดียว ไม่ใช่ว่าเราไม่แก้ปัญหาระยะยาว แต่ระยะสั้นจำเป็นต้องทำเร่งด่วนกว่าหรือไม่ ผมว่าวันนี้ต้องนำข้อเท็จจริงมาคุยกันว่า อะไรที่จำเป็น อะไรที่ควรทำ การแก้ปัญหาระยะยาวไม่ผิด แต่ระยะสั้นก็ควรทำ” ลวรณกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X