กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (The Islamic Revolutionary Guard Corps: IRGC) ออกแถลงการณ์ยืนยัน เหตุอิสราเอลโจมตีทางอากาศถล่มสถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีนายทหารระดับสูงของอิหร่านและสมาชิก IRGC เสียชีวิตอย่างน้อย 7 คน หนึ่งในนั้นคือ พลจัตวา โมฮัมหมัด เรซา ซาเฮดี ผู้บัญชาการอาวุโสของหน่วยรบพิเศษคุดส์ (Quds) ในสังกัด IRGC
นักวิชาการจำนวนไม่น้อยมองว่า เหตุโจมตีที่เกิดขึ้นนี้เป็นการขยายสมรภูมิรบของอิสราเอลให้ครอบคลุมประเทศเพื่อนบ้านทั้งซีเรียและเลบานอน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของกองกำลังติดอาวุธที่ภักดีต่ออิหร่าน และสนับสนุนเอกราชของปาเลสไตน์
สาเหตุการโจมตีสถานกงสุลอิสราเอลในซีเรีย
แม้กองทัพอิสราเอลจะยังไม่แสดงความเห็นใดๆ ต่อเหตุโจมตีที่เกิดขึ้น แต่หลายฝ่ายมองว่า เหตุโจมตีดังกล่าวมุ่งเป้าหมายไปที่ผลประโยชน์ของอิหร่านในต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่เชื่อว่าได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ผ่านหน่วยรบพิเศษคุดส์ ซึ่งเป็นกองกำลังที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของ IRGC และมีหน้าที่จัดหาอาวุธและฝึกสอนยุทธวิธีในการสู้รบให้กับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน กลุ่มติดอาวุธของมุสลิมนิกายชีอะห์ในอิรักและกลุ่มฮูตีในเยเมน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มักจะยิงโจมตีเข้ามายังอิสราเอลบ่อยครั้ง กระทบกับผลประโยชน์และความมั่นคงของอิสราเอลโดยตรง
ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางและโลกมุสลิม จากภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อธิบายว่า สาเหตุหลักที่ทำให้อิสราเอลตัดสินใจโจมตีสถานกงสุลอิหร่านมีอยู่ 2 ประการ คือ
(1) อิสราเอลต้องการ ‘ส่งสัญญาณที่รุนแรงยิ่งขึ้น’ ไปถึงอิหร่าน ให้หยุดยั้งหรือยุติการสนับสนุนกลุ่มฮูตีและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่มักจะโจมตีเข้ามายังอิสราเอล หลังความพยายามของสหรัฐฯ ไม่ประสบผลสำเร็จ อิสราเอลจึงขยับจากการโจมตี ‘เป้าหมายทางการทหาร’ มายัง ‘เป้าหมายทางการทหาร ผสมการทูตและอธิปไตยของอิหร่าน’
(2) หลังจากที่ UNSC ผ่านข้อมติให้อิสราเอลหยุดยิง โดยสหรัฐฯ งดออกเสียงและไม่ใช้สิทธิวีโต้ แต่อิสราเอลก็ยังถล่มโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง กระแสข่าวนี้ทำให้อิสราเอลถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น จึงก่อเหตุโจมตีครั้งนี้ขึ้น เพื่อเบนความสนใจของประชาคมโลกไปอยู่ที่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน มากกว่าที่จะโฟกัสอยู่ที่ประเด็นสงครามอิสราเอล-ฮามาสในฉนวนกาซา
อิหร่านกับโอกาสล้างแค้นอิสราเอล
เหตุความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและอิสราเอลเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา หลายครั้งที่อิหร่านตัดสินใจตอบโต้โดยตรง รวมถึงใช้ตัวแทนหรือพันธมิตรของอิหร่านภายในภูมิภาคตะวันออกกลางปฏิบัติการแทนในอีกหลายเหตุการณ์
ตัวอย่างเช่น กรณีเหตุก่อวินาศกรรมระเบิดฆ่าตัวตายที่เมืองเคอร์มานของอิหร่าน เมื่อช่วงต้นปี 2024 ในช่วงพิธีรำลึกครบรอบ 4 ปี การเสียชีวิตของ กาเซม โซเลมานี อดีตนายพลระดับสูงของ IRGC และอดีตผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ของอิหร่านที่ถูกสังหารจากเหตุโจมตีทางอากาศของกองทัพสหรัฐฯ ในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก ในปี 2020 ซึ่งเหตุวินาศกรรมดังกล่าว อิหร่านเชื่อว่าเป็นฝีมือของอิสราเอลและสหรัฐฯ แม้กลุ่มไอเอสจะออกมาอ้างความรับผิดชอบก็ตาม ในครั้งนั้นอิหร่านตอบโต้ด้วยตัวเองโดยตรง โดยโจมตีไปยังฐานที่มั่นของสำนักงานหน่วยข่าวกรอง Mossad ของอิสราเอลในพื้นที่ชาวเคิร์ดในอิรัก
ผศ.ดร.มาโนชญ์ ชี้ว่า เหตุโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในครั้งนี้สะท้อนนัยสำคัญ 2 ประการ (1) การโจมตีและสังหารนายพลระดับสูงของกองกำลังทหาร IRGC ได้สำเร็จ ซึ่งกองกำลังนี้ขึ้นตรงกับ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน การโจมตีครั้งนี้จึงถือเป็นการหยามเกียรติผู้นำสูงสุดของอิหร่านอย่างมาก
(2) การโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในต่างประเทศ เท่ากับเป็นการโจมตีเขตพื้นที่อธิปไตยของอิหร่าน
ผศ.ดร.มาโนชญ์ คาดว่า อิหร่านคงจะต้องตอบโต้อิสราเอลกลับอย่างแน่นอน เพียงแต่รูปแบบและวิธีการ รวมถึงเป้าหมายโจมตีจะเป็นที่ไหน ยังเป็นสิ่งที่ต้องตามดู พร้อมทั้งระบุว่า อิหร่านอาจตอบโต้กลับในอย่างน้อย 2 แนวทางคือ
(1) ตอบโต้โดยตรง เพื่อสร้างความสูญเสียให้กับอิสราเอล แต่ ผศ.ดร.มาโนชญ์ เชื่อว่า แนวทางนี้ ‘เป็นไปได้ยาก’ เนื่องจากอิหร่านไม่ต้องการทำสงครามกับอิสราเอล หากอิหร่านโจมตีอิสราเอลด้วยตัวเองโดยตรง อาจทำให้สถานการณ์บานปลายและเป็นการดึงมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ เข้ามาในความขัดแย้ง แม้ว่าท่าทีล่าสุดของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะดูไม่สนับสนุน เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ จะไม่สนับสนุนอิสราเอล ขณะที่อิสราเอลเองก็ไม่ต้องการเผชิญหน้ากับอิหร่านโดยตรงเช่นเดียวกัน
(2) ตอบโต้ผ่านตัวแทนหรือพันธมิตรอย่างกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน กลุ่มฮูตีในเยเมน รวมถึงกลุ่มติดอาวุธในซีเรียและอิรัก ซึ่ง ผศ.ดร.มาโนชญ์ เชื่อว่า แนวทางนี้ ‘เป็นไปได้สูงมาก’ พร้อมทั้งคาดว่า การโต้กลับจากตัวแทนของอิหร่านจะเป็นไปในลักษณะรุนแรงขึ้น และมุ่งที่จะโจมตีเข้าไปในเขตอธิปไตยของอิสราเอลมากยิ่งขึ้น
ขณะนี้อิสราเอลมีคำสั่งยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยและเฝ้าระวังเหตุโจมตีของอิหร่าน โดยเฉพาะในสถานทูตของอิสราเอลทั่วโลก เนื่องจากเหตุโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในซีเรียที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ประกอบกับในวันที่ 5 เมษายนนี้ ตรงกับ ‘วันกุดส์สากล’ ที่ผู้นำอิหร่านในอดีตได้กำหนดให้เป็นวันสนับสนุนปาเลสไตน์และต่อต้านอิสราเอล ทำให้ในวันนั้นจะมีการแสดงกิจกรรมของการต่อต้านอิสราเอลทั่วโลก โดยเฉพาะการไปประท้วงหน้าสถานทูต ทางการอิสราเอลจึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
ผศ.ดร.มาโนชญ์ ทิ้งท้ายว่า อิหร่านจะตอบโต้อิสราเอลกลับอย่างแน่นอน แต่เมื่อไรและอย่างไร อาจต้องติดตามดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ภาพ: Firas Makdesi / Reuters
อ้างอิง: