กกร. คงกรอบ GDP 2.8-3.3% ชี้เศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ ต้องการแรงกระตุ้น ลุ้น กนง. ลดดอกเบี้ย 10 เมษายนนี้ เร่งช่วย SME เข้าถึงสินเชื่อ
วันนี้ (3 เมษายน) เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร. ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ 2.8-3.3% และยังคงคาดการณ์การส่งออกที่ขยายตัวได้ 2-3% และคงเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 0.7-1.2% แม้จะมองว่าภาวะเศรษฐกิจมีความเสี่ยงสูง และข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของไทยที่ทำให้การส่งออกฟื้นตัวได้ช้าและไม่ทั่วถึง
อีกทั้งอุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจึงต้องการแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากทั้งนโยบายการคลังในการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นอื่นๆ และนโยบายการเงิน ซึ่งจะเป็นในรูปของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะช่วยลดภาระทางการเงินให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
โดยเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเติบโตได้ต่ำลงจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบต่อการผลิตและการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีขนาด 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาและไม่สามารถส่งออกได้เต็มศักยภาพ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยหลายรายการ เช่น รถยนต์สันดาป, Hard Disk Drive และผลิตภัณฑ์พลาสติก ชะลอตัวลงจากปัจจัยทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ขณะที่สินค้าที่ส่งออกได้ดีเป็นสินค้าที่มีความซับซ้อนต่ำ เช่น ยางรถยนต์และเนื้อสัตว์แปรรูป นอกจากนี้สินค้าบางประเภทเผชิญกับการแข่งขันจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นภาคการผลิตไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง และบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
เกรียงไกรกล่าวอีกว่า สำหรับสัญญาณเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง และเศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณบวกที่หนุนการทยอยฟื้นตัว ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการส่งออก นอกจากนี้ทิศทางนโยบายการเงินของประเทศหลัก เช่น อังกฤษและยุโรป มีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยเพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจไม่ได้รีบลดดอกเบี้ยเร็วและแรงเหมือนที่นักวิเคราะห์เคยคาดไว้ ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีทิศทางผันผวนอ่อนค่า
“ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยประเทศที่แบ่งขั้วชัดเจนจะหันมาค้ากับประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่ขัดแย้งกัน ดังนั้นไทยจะต้องหาโอกาสสร้างความได้เปรียบทางการค้า”
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า นอกจากนี้ กกร. ตระหนักถึงปัญหาของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่มีศักยภาพแต่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ จึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มกลไกในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อสร้างฐานข้อมูลสำหรับประกอบการพิจารณาสินเชื่อตามกลไกตลาด
โดยส่งเสริมให้จดทะเบียนนิติบุคคลด้วยการยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ 5-7 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการปรับตัว พร้อมปรับเงื่อนไขและเพิ่มทรัพยากรของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเกิดความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น
จากการสำรวจข้อมูลพบว่า มีธุรกิจอยู่นอกระบบมากถึง 50% ของธุรกิจทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็น SME ธุรกิจกลุ่มนี้ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประกอบการพิจารณาสินเชื่อ จึงทำให้เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งที่ผ่านมาทางรัฐบาลก็มีมาตรการเปิดให้ผู้ประกอบการมาลงทะเบียนในระบบแล้ว แต่กระบวนการอาจต้องใช้เวลา ดังนั้น รัฐบาลควรทำมาตรการผ่อนปรน เช่น ยกเว้นภาษี เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีเวลาปรับตัว” ผยงกล่าว
ผยงกล่าวอีกว่า สำหรับกรณีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีการประชุมวันที่ 10 เมษายน 2567 คงต้องติดตามว่า กนง. จะมีมติลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เลยหรือไม่ อย่างไรก็ดี ในส่วนของตลาดมองว่าในปี 2567 กนง. จะลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง รวมลดลงประมาณ 0.5%