×

Bodyslam กับ ‘สองพี่น้องตระกูลไรต์’ เหมือนไม่เกี่ยว แต่นี่แหละเที่ยวบินแรกของอัลบั้มใหม่ชุดที่ 7 ‘วิชาตัวเบา’

19.05.2018
  • LOADING...

‘ก้าวแรก’ ของคนเรานั้นสำคัญเสมอ

 

ถึงแม้ ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย นักร้องนำวง บอดี้สแลม จะบอกว่าภาพแรกของเขาที่ก้าวขึ้นเวทีด้วยเท้าเปล่าในวันเปิดตัวซิงเกิลใหม่ ‘ใคร คือ เรา’ ที่ลานอัฒจันทร์ สยามสแควร์ วัน เมื่อช่วงเย็นวันที่ 1 พฤษภาคมนั้นไม่ได้สลักสำคัญอะไร เพราะสาระที่แท้ของสมาชิกวงทั้งหมดคือการก้าวขึ้นเวทีไปพร้อม ‘เพลงใหม่’ และความรู้สึกที่ ‘สดใหม่’ เต็มไปด้วยชีวิตชีวา

 

ยิ่งไปกว่านั้นคือถึงจะผ่านงานนานกว่า 16 ปี 6 อัลบั้ม กับอีกหลายพันคอนเสิร์ต แต่เมื่อต้องโชว์ ‘เพลงใหม่’ จากอัลบั้มชุดที่ 7 วิชาตัวเบา ต่อหน้าแฟนเพลงเต็มฮอลล์ ต่อให้ฝึกฝนร้อนหนาวจนใจเบาแค่ไหน หัวใจก็ยังเต้นแรงแทบระเบิด

 

กลับมาที่เนื้อหาเพลง ‘ใคร คือ เรา’ ที่ยังคงความ ‘ออริจินัล’ แบบบอดี้สแลมไว้อย่างครบถ้วน ดนตรียังหนักแน่น แรงบันดาลใจถึงชีวิต ความเชื่อ ความฝันยังอยู่ครบ แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือความกลมกล่อมที่วงต้องการจะสื่อสารว่า ‘ถ้าเชื่อในเสียงหัวใจ ไม่มีอะไรที่มนุษย์ทำไม่ได้’ ไม่อย่างนั้นมีหรือที่มนุษย์จะกล้าก้าวขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์ และไม่ใช่เพราะความกล้าหาญหรอกหรือที่ทำให้พี่น้องตระกูลไรต์ฝันใหญ่ที่จะบินเหมือนนกจนเก็บมาเป็นแรงบันดาลใจเขียนเพลง

 

ส่วนแฟนเพลงที่รอคอยอัลบั้มเต็ม ‘วิชาตัวเบา’ ปลายปีนี้เจอกัน!

 

บรรยากาศการแสดงสดครั้งแรกของเพลง ‘ใคร คือ เรา’ ที่ลานอัฒจันทร์ สยามสแควร์ วัน

 

บอดี้สแลมเพิ่งผ่านคอนเสิร์ตเปิดตัวเพลง ‘ใคร คือ เรา’ ซิงเกิลแรกจากอัลบั้มใหม่ชุดที่ 7 ไปเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ความรู้สึกก่อนและหลังขึ้นเวทีเป็นอย่างไรบ้าง    

ตูน: ตื่นเต้นครับ เพลงใหม่มันทำให้เรารู้สึกตื่นตัว มันตื่นเต้น เพราะเราไม่ได้มีความรู้สึกของการออกงานใหม่มา 4 ปีแล้ว ผมไม่นับเลยว่าเคยไปเล่นมาแล้วกี่ร้อยกี่พันเวที เพราะที่ผ่านมาเราเล่นแต่เพลงเดิมที่คุ้นเคย รู้จังหวะจะโคนเป็นอย่างดี แต่ในวันนั้นมันคือการเล่นเพลงใหม่ที่พวกเราเพิ่งทำเสร็จจากห้องอัด เพลงใหม่ที่เรายังไม่คุ้นชิน และเป็นการเล่นมันให้กับแฟนเพลงได้ชมเป็นครั้งแรกโดยที่ไม่ยังไม่รู้ว่า 1-2-3 หลังจากนั้นจะออกมาเป็นอย่างไร

 

แต่ความตื่นเต้นน่าจะเป็นเรื่องที่ดีนะ

ตูน: ความตื่นเต้นมันดีครับ ผมว่ามันทำให้เรามีชีวิตชีวา อย่างที่บอกว่าเพลงใหม่มันทำให้รู้สึกตื่นตัว มันสดดี (ยิ้ม) เหมือนการดูถ่ายทอดสดฟุตบอล เวลาเราดูแห้งกับดูสดมันต่างกัน เพราะตอนดูสด เราไม่รู้ว่าสุดท้ายมันจะชนะกันกี่ศูนย์ หรือผลมันจะเสมอ ใครจะตีลังกายิง หรือใครจะโดนใบแดง ความสดและความรู้สึกตื่นตัวมันดีตรงนี้ครับ

 

โอม: ทุกครั้งที่ได้เล่นเพลงใหม่มันตื่นเต้นเสมอ ในหัวเราเต็มไปด้วยความอยากรู้ มันไม่ใช่ความคาดหวังนะ แต่เราอยากรู้ อยากเห็นสีหน้า อยากเห็นอากัปกิริยา ท่าทางของคนที่มาดูเรา เล่นเสร็จแล้วอยากรีบกลับไปเช็กโซเชียลมีเดียเดี๋ยวนั้นเลยว่าแฟนเพลงรู้สึกอย่างไรบ้าง สำหรับผมมันน่าตื่นเต้นตรงนี้ด้วย

 

อีกอย่างเพลง ใคร คือ เรา  มันใหม่มากเสียจนผมมีความกังวลผสมกับความตื่นเต้น เราต้องขึ้นไปโชว์เพลงใหม่ที่มีเวลาซ้อมร่วมกันค่อนข้างจำกัด คือเราซ้อมเต็มวงร่วมกันแค่วันเดียว หลังจากนั้นทุกคนแยกย้ายกันกลับไปซ้อมที่บ้าน ไม่เจอกันเลยตลอด 7 วัน มาเจอกันอีกทีก็วันเปิดตัวเพลงใหม่เลย

โลกเรามันมีหลายสิ่งมากที่มองดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่มันถูกทำให้เกิดขึ้นจริงซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยคน แม้กระทั่งดวงจันทร์ที่เราเงยหน้ามองตอนกลางคืน สุดท้ายไม่ว่าไกลแค่ไหน มีคนแม่งขึ้นไปเหยียบมาจริงๆ – ตูน

ปิ๊ด: ก่อนขึ้นเล่นเราเตรียมตัวกันอยู่ในห้องพักที่โรงแรมโนโวเทล พอถึงเวลาโชว์แล้วค่อยลงจากลิฟต์เพื่อเดินไปที่เวที ระหว่างเดินมาผมก็ยังนิ่งๆ อยู่นะ แต่พอไปเดินไปถึงสยามสแควร์ วัน ตอนเดินลงบันไดเลื่อน โอ้โห หัวใจจะระเบิด ตื่นเต้นมาก จะรอดไหมวะเนี่ย ยิ่งเห็นคนมารอดูโชว์แบบเต็มจนล้นออกไปข้างนอกยิ่งตื่นเต้น แต่ในความตื่นเต้นคือรู้สึกดีมาก

 

ชัช: ตื่นเต้นเหมือนกันหมดครับ ตอนนั้นเหมือนเรากลับไปเป็นเด็กน้อย

 

ยอด: จริงๆ แล้วก่อนจะขึ้นไปเล่น โดยส่วนตัวผมมีเวลาซ้อมกับเพลงนี้เยอะมาก นับเฉพาะเวลาที่รอก่อนเข้าห้องอัดก็เกือบ 1 เดือน เพราะฉะนั้นเลยค่อนข้างมั่นใจ ผมมั่นใจทุกท่อนเลย แต่พอขึ้นไปเล่นจริงๆ มันคนละเรื่องเลยครับ มือสั่น ใจเต้นแรงมาก ประสบการณ์ขึ้นเล่นบนเวทีเป็นพันๆ โชว์ …จบครับ

 

(จากซ้ายไปขวา) ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย (ร้องนำ), ปิ๊ด-ธนดล ช้างเสวก (เบส)

 

ทำไมซิงเกิลแรกจึงต้องเป็นเพลง ใคร คือ เรา วงต้องการสื่อสารอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า เช่น อาจจะเป็นภาพรวมของอัลบั้มใหม่   

ตูน: ย้อนไปในพาร์ตที่เป็นดนตรีก่อน เรารู้สึกว่าทั้ง 11 เพลงในอัลบั้มใหม่ ใคร คือ เรา มันค่อนข้างจะสื่อสารในเรื่องของดนตรีมากที่สุดเพลงหนึ่ง และตั้งแต่ฟังทำนอง การเรียบเรียง เราคิดว่าเพลงนี้แหละที่ทุกคนน่าจะตื่นเต้นและสนุกกับมันมากที่สุด ทุกคนในที่นี้หมายถึงทั้งตัววงบอดี้สแลมและคนฟังด้วยนะครับ

 

เนื้อหาของเพลงก็เป็น ‘ออริจินัล’ ในทางบอดี้สแลมมาก

ตูน: ใช่ครับ วิธีการแต่งเพลงของวงบอดี้สแลมก็เหมือนเดิม คือเรานั่งล้อมวงกัน 6-7 คน ในวงก็มีผมกับพี่ๆ ทีมแมงโก้ที่เราช่วยกันเขียนมาตลอด จากนั้นมานั่งเกลากันนิดหน่อยจนออกมาเป็นเนื้อเพลงอย่างที่ทุกคนได้ยิน วิธีนี้ดีตรงที่ไอเดียมันได้แชร์ เด้งกลับไปกลับมา

ผมเชื่อของผมนะครับว่าสุดท้ายแล้วมนุษย์เราแม่งเกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้ว่ะ คือทำในสิ่งที่เหมือนเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ คนทุกคนต่างมีพลังพิเศษ เขาถึงออกแบบให้เรามีสมอง เพียงแต่เราไม่เชื่อมันแค่นั้นเอง – ตูน

อย่างเนื้อเพลงหลักของ ใคร คือ เรา พี่โป โปษยะนุกูล เป็นคนแต่งครับ ต้องอธิบายว่าวิธีการแต่งเพลงนี้คือการที่ผมเขียนมาเนื้อหนึ่ง จากนั้นพี่โปก็เขียนมาเนื้อหนึ่ง แล้วเราเอาทั้งหมดมาช่วยกันดู แต่สุดท้ายแล้วเนื้อหาที่เราได้ฟังกันจะเป็นของพี่โปเสียส่วนใหญ่

 

**ทีมแมงโก้ คือพี่น้องนักแต่งเพลงที่ทำงานร่วมกับวงบอดี้สแลมมาอย่างยาวนานตั้งแต่อัลบั้มแรก สมาชิกในทีมประกอบไปด้วยนักดนตรีและนักแต่งเพลงชั้นเยี่ยม ได้แก่ โป โปษยะนุกูล, สุรชัย พรพิมานแมน, อภิชาติ พรมรักษา (หมู บิ๊กแอส), พูนศักดิ์ จตุระบุล (อ๊อฟ บิ๊กแอส), เหนือวงศ์, ขจรเดช พรมรักษา (กบ บิ๊กแอส), วิรชา ดาวฉาย (นักร้องนำวง Young Man and the Sea)

 

วิลเบอร์-ออร์วิล ไรต์ และภาพการบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 1903 การบินครั้งนั้นประสบความสำเร็จด้วยดี โดยสามารถบินอยู่ในอากาศได้นาน 15 วินาที และบินได้ไกลถึง 200 ฟุต สูงจากพื้นดิน 850 ฟุต

 

อยากรู้ว่าในวันที่ล้อมวงคุยกันครั้งล่าสุด พวกคุณคุยอะไรกันบ้างกว่าจะออกมาเป็นเพลง ใคร คือ เรา และสรุปว่าวงต้องการจะสื่อสารอะไรกับคนฟัง

ตูน: เพลงนี้มันเริ่มต้นมาจากการที่ผมอินกับเรื่องของสองพี่น้องตระกูลไรต์มาก ผมรู้สึกว่ามันเป็นตัวอย่างที่ดีในแง่การใช้ชีวิต การทำอะไรตามฝัน ตามความเชื่อ ผมเคยเขียน เคยจดคอนเซปต์เรื่องนี้ไว้ แต่มันไม่ได้ถูกนำมาแต่งเป็นเพลงที่เหมาะสมสักที

 

ผมชอบเรื่องราวของพี่น้องตระกูลไรต์ตรงที่คนเรามันถูกกำหนดมาว่าให้มีแค่นี้ คือสองแขน สองขา สองตา สองหู เราไม่มีปีก เราบินไม่ได้ ไม่รู้เหมือนกันว่าใครกำหนด ใครวาด ใครออกแบบให้มนุษย์ต้องเดิน ใช้ชีวิตอยู่พื้น แต่มันดันมีมนุษย์อยู่สองคนที่อยากบินได้ แล้วไม่ได้อยากอย่างเดียว แต่เขาหาวิธีด้วยว่าถ้าอยากบินได้ต้องทำอย่างไร

วันนี้พวกเราบอดี้สแลมเดินทางผ่านมา 16 ปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาผมเองก็มีทั้งความบ้า ความมุทะลุ ความดื้อ ความรั้นอยู่หลายอย่าง แต่พอมาถึงวันนี้ เราได้เรียนรู้มามากแล้วว่าบางครั้งกับบางเรื่อง ดื้อรั้นไปก็เหนื่อยเปล่าๆ – ปิ๊ด  

ถ้าเขาสองคนจำกัดตัวเองอยู่กับชุดความคิดว่ากูไม่มีปีกนี่หว่า แล้วกูจะบินได้ยังไง เขาก็คงแค่ฝันว่าอยากบินได้เฉยๆ แต่สองคนนี้เลือกที่จะลองทำ ลองบินด้วยปีกอีกแบบที่ไม่ได้มีเหมือนนก

 

พอทดลองทำในตอนแรกๆ ก็โดนหัวเราะ โดนถากถาง ดูถูก คนเราจะบินเหมือนนกได้ยังไง แต่สุดท้ายหลังจากผ่านความพยายามมาเป็นสิบเป็นร้อยครั้ง วันนี้คนเราบินกันจนเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่จุดเริ่มต้นมันเกิดขึ้นมาจากจุดนั้น

 

โลกเรามันมีหลายสิ่งมากที่มองดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่มันถูกทำให้เกิดขึ้นจริงซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยคน แม้กระทั่งดวงจันทร์ที่เราเงยหน้ามองตอนกลางคืน สุดท้ายไม่ว่าไกลแค่ไหน มีคนแม่งขึ้นไปเหยียบมาจริงๆ ผมเชื่อของผมนะครับว่าสุดท้ายแล้วมนุษย์เราแม่งเกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้ว่ะ คือทำในสิ่งที่เหมือนเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ คนทุกคนต่างมีพลังพิเศษ เขาถึงออกแบบให้เรามีสมอง เพียงแต่เราไม่เชื่อมันแค่นั้นเอง

 

สุดท้ายแล้ว ใคร คือ เรา มันขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะกำหนดตัวเองแบบไหน เราจะออกไปเป็นอะไร จงทำมัน แล้วสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปได้มันจะถูกทำให้เป็นไปได้ด้วยเรา  

 

(ขวา) ชัช-สุชัฒติ จั่นอี๊ด (กลอง)

 

ชอบเรื่องราวการเดินทางร่วมกันของบอดี้สแลมกับ ‘ทีมแมงโก้’ นะ การทำงานร่วมกับเพื่อนและพี่ที่รู้ใจ เข้าใจกัน แน่นอนว่ามันส่งผลดีในแง่การสร้างงานที่เป็น ‘ออริจินัล’ เป็นตัวตนจริงๆ แต่มีผลเสียบ้างไหม เช่น ความสดใหม่ของเรื่องราว เรื่องเล่าในเพลง

ตูน: (คิด) พูดจริงๆ เลยคือไม่รู้สึกถึงข้อไม่ดีของการทำงานกับพวกพี่ๆ หรือการร่วมกันคิดเพลงสักเพลงหนึ่งเลย โดยส่วนตัวของผม ในขั้นตอนการเริ่มเขียนเนื้อเพลงสักเพลงมันมักจะเปิดหัวด้วยการที่ผมจะต้องไปเล่าเรื่องที่เราจดบันทึกมา เล่าถึงสิ่งที่เราคิดไว้แล้วอยากให้มันออกมาเป็นเพลง

 

ทุกอัลบั้มที่ผ่านมาของบอดี้สแลม เราเริ่มต้นแบบนี้ เริ่มต้นจากการไปเล่าสิ่งต่างๆ ในชีวิตให้พี่เขาฟัง ซึ่งในมุมนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองได้ทั้งระบาย ได้สื่อสาร ได้นั่งคุยกับผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งที่พร้อมจะรับฟังแล้วก็ช่วยเราแก้ปัญหา ผมรู้สึกว่าการคุยตรงนั้นมันเป็นเหมือนห้องบำบัดของผม

 

โอม: ผมมีโอกาสเข้าไปนั่งประชุมเนื้อเพลงกับทีมอยู่ 2 ครั้ง เรานั่งฟังแล้วเราพบว่ามันสนุกมากนะ มันเหมือนทุกคนเข้าไปนั่งแลกเปลี่ยนความคิด แม้กระทั่งตัวเราเองก็แชร์ได้ ผมยังถามทีมอยู่เลยว่าถ้ามีประชุมครั้งหน้า ผมเข้าด้วยนะ แล้ววิธีการเขียนเพลงก็ใช้วิธีการใหม่ๆ คือมานั่งแต่งด้วยกันเลยแล้วกัน ความรู้สึกของการทำงานมันเลยไม่ซ้ำเดิม

 

เราเคยเห็นในหนังฝรั่งที่เขาทำกลุ่มบำบัด จัดเก้าอี้ล้อมเป็นวงกลมแล้วนั่งคุยกัน ทุกคนได้ระบาย ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ พวกเราก็ทำคล้ายๆ แบบนั้น คือมาจับกลุ่ม นั่งรวมหัวกัน แล้วระบายสิ่งที่คิด สิ่งที่รู้สึก หรือบางทีก็เล่าเรื่องอะไรที่เป็นปลายเปิด แล้วแต่ละคนมันก็จะฟุ้งออกไปเรื่อยๆ (หัวเราะ)

สุดท้ายคือเล่นในสิ่งที่เป็นตัวเราครับ ผมพยายามจะไม่กดดันตัวเอง ทั้งที่จริงๆ แล้วอัลบั้มนี้กดดันมากเหมือนกัน มันมีทั้งความยาก ทั้งแรงบันดาลใจส่วนตัวในการเล่นดนตรี แต่พอได้ขึ้นเวทีไปเล่นเพลงใหม่ ความรู้สึกที่เราเคยอยากเลิกเล่นดนตรีมันหายไปหมดเลย – ยอด

ซึ่งสิ่งที่เล่าก็น่าจะเป็นเรื่องราวส่วนตัวที่ไม่ใช่ว่าจะเล่าให้ใครทุกคนฟังได้เสียด้วย

ตูน: ใช่ๆ ปกติผมไม่ได้เปิดเรื่องส่วนตัว แต่ในวงนั้นผมเล่าหมดเลยครับ เรื่องส่วนตัว เรื่องความรัก เรื่องชีวิต หรือเรื่องอะไรก็ตาม ผมทำวิธีการนี้มาตั้งแต่อัลบั้มแรกจนทุกวันนี้ ผมชอบวิธีการนี้ เพราะผมรู้สึกว่าไม่มากก็น้อย มันช่วยให้ผมสะท้อนตัวเองด้วยว่าช่วงเวลานี้เราตกผลึกเป็นมวลความคิดแบบนี้ เราพูดจาแบบนี้ เราสนใจเรื่องแบบนี้ มันมีโอกาสอยู่ไม่กี่ครั้ง มีคนอยู่ไม่กี่คนหรอกที่พร้อมจะนั่งฟัง อยากรู้เรื่องราวของเราเพื่อจะเอาสิ่งเหล่านั้นไปพัฒนาต่อ สำหรับผมแล้วขั้นตอนนี้มันจำเป็นสำหรับการเติบโตในด้านอายุ

 

ในแต่ละอัลบั้มที่ได้ทำ ผมเฝ้ารอเวลาที่จะได้พูดคุยและเล่าเรื่องพวกนี้ สำหรับผมมันเป็นขั้นตอนหนึ่งของการทำงานที่สนุกมาก แล้วมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ 4-5 ปีถึงจะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง

 

(ขวา) ยอด-ธนชัย ตันตระกูล (กีตาร์)

 

ซิงเกิลแรกน่าจะเป็นแค่ชิ้นส่วนเล็กๆ ภาพรวมของอัลบั้ม ‘วิชาตัวเบา’ ล่ะ พวกคุณเตรียมอะไรไว้ให้แฟนเพลงบ้าง

ตูน: จริงๆ เราไม่ได้กะเกณฑ์ว่าเพลงหรืออัลบั้มมันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เหมือนแต่ละเพลงมันเดินทางไปเจออะไรก็ลงตัวในแบบของมัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไอ้สิ่งที่ผมคิดว่าไม่ได้กะเกณฑ์อะไรเนี่ย สุดท้ายแล้วที่แต่ละเพลงมันกลายเป็นก้อนกลมๆ อยู่ด้วยกันได้โดยไม่หลุด มันเป็นเพราะว่าพวกเราทุกคนในวงชอบในสิ่งที่คล้ายๆ กัน ระหว่างทางเราอาจจะทดลองทำสิ่งโน้นสิ่งนี้ บางครั้งลงตัว ทำแล้วชอบ บางจุดไม่ลงตัว ยังไม่ชอบ ซึ่งคนในวงคิดเหมือนกัน กว่าทุกเพลงที่เสร็จสมบูรณ์ ระหว่างทางมันเลยกลมด้วยตัวมันเอง

 

แต่เราไม่ได้คิดว่าอัลบั้มนี้ภาพรวมของเพลงต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ซึ่งการทำงานแบบนี้มันเป็นบอดี้สแลมมากๆ เพราะความสนใจรวมถึงตัวตนที่พวกเราเป็นมันกว้างมาก วงก็เลยไม่ได้อยากไปกะเกณฑ์ว่าทำแค่นี้พอ หรือทำแค่นี้ไม่ได้ เราชอบที่จะทดลองไปจนสุดก่อน แล้วถ้ารู้สึกว่าตรงนี้แม่งไม่ใช่ก็กลับมา หรือบางทีทดลองไปแล้วรู้สึกว่าอันนี้เติมได้อีก เราก็เติมเข้าไปให้สมบูรณ์

แต่ละอัลบั้มมันเป็นเหมือนไดอะรีว่าปีนี้เรากำลังสนใจเรื่องอะไรอยู่ เรารักใคร เราคิดถึงใคร หรืออายุประมาณนี้เราโซโลเพลงได้เร็วขนาดไหน ปีนี้เราตีกลองเป็นยังไง เราเล่นเบสเป็นยังไง เสียงคีย์บอร์ดของเราเดินทางมายังไง และทุกครั้งที่ทำอัลบั้มใหม่ เราก็สนุกกับการจดบันทึกสิ่งเหล่านี้ด้วยบทเพลง – ตูน

ชื่ออัลบั้ม ‘วิชาตัวเบา’ เป็นอะไรที่ฟังแล้วติดหูตั้งแต่ครั้งแรกเลยนะ ชื่อนี้มีที่มาอย่างไร เกี่ยวอะไรกับตัวตน ‘ภายใน’ และ ‘ภายนอก’ ของพวกคุณในวันนี้บ้าง

ตูน: หลายคนก็ตีความกันแต่ละแบบ บางคนตีความแบบแอ็กชันเลยนะ เดินเหินบนน้ำอะไรอย่างนี้ (หัวเราะทั้งวง) แต่จริงๆ แล้วความหมายที่พวกเราตั้งใจสื่อสารคือเราเดินทางกันมาสักพักหนึ่ง เราเคยตึง เราเคยหย่อน เจอกับเรื่องราวโน่นนั่นนี่ หรือคาดหวังกับเรื่องโน้นเรื่องนี้ ผิดหวังบ้าง สมหวังบ้าง

 

จนมาถึงปีนี้ ขวบปีที่ 16 ของวงบอดี้สแลม เรารับมือกับเรื่องราวต่างๆ ทั้งดีและร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ดีขึ้น มันไม่เหมือนกับตอนเป็นวัยรุ่นที่ดีใจก็ดีใจสุด เวลาเสียใจก็ดิ่งลงไปจนสุด

 

ตอนนี้พวกเรารับมือกับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตได้ดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายถึงว่าเราสำเร็จวิชาตัวเบา เราเหมือนเด็กอายุ 18 ที่เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยแล้วลงเรียนวิชานี้เป็นคาบแรก พอเรียนไปแล้วรู้สึกชอบ แม่งมีศาสตร์แห่งความเบาด้วยเหรอวะ เออว่ะ เรียนวิชานี้แล้วรู้สึกชีวิตผ่อนคลายมากขึ้น

 

โอม: ถ้าพูดในเชิงพุทธศาสนา เขาเรียกว่าวางอุเบกขาได้ ส่วนตัวผมมองในเรื่องของการปล่อยวาง ไม่ได้ยึดถือ ยึดตัวเองมาเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง มันก็ทำให้ใจเราเบาขึ้น มีความสุขกับชีวิตได้ง่ายขึ้น

 

ปิ๊ด: วันนี้พวกเราบอดี้สแลมเดินทางผ่านมา 16 ปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาผมเองก็มีทั้งความบ้า ความมุทะลุ ความดื้อ ความรั้นอยู่หลายอย่าง แต่พอมาถึงวันนี้ เราได้เรียนรู้มามากแล้วว่าบางครั้งกับบางเรื่อง ดื้อรั้นไปก็เหนื่อยเปล่าๆ

 

ถ้าอย่างนั้นทำอย่างไรดีที่จะไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องเครียด ง่ายที่สุด ดีที่สุดคือการปล่อยวาง แต่พื้นฐานคนเราไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะปล่อยวางได้เยอะ บางคนปล่อยวางได้ประมาณหนึ่ง อย่างตัวผมเองเป็นคนอารมณ์ร้อน ที่ผ่านมาผมอาจจะปล่อยวางได้ไม่ค่อยเต็มที่ แต่ด้วยวัยวุฒิ เราต้องเอาเหตุผลในการทำงานเข้าแลก

 

ชัช: ใช้คำว่าอะไรดี เหมือนจิตว่าง คือไม่ต้องคิดอะไร ตัวผมเองมีอยู่ช่วงหนึ่งเลยนะที่ไม่ฟังเพลงเลย ไม่มีอารมณ์เลย มันเหมือนว่าจิตเราวิ่งวุ่น คิดโน่นพะวงนี่อยู่ตลอดเวลา แต่ตอนนี้จิตมันว่างขึ้น ในทางศาสนามันคือการตั้งสมาธิได้ จิตเลยว่าง จิตมันโล่ง เปรียบเทียบเหมือนวิชาตัวเบา

 

ยอด: เหมือนกันเลยครับ (หัวเราะ) คงเป็นเรื่องของอายุด้วย แต่ถ้าถามผม ผมคิดว่าตัวเองฝึกวิชาตัวเบาสำเร็จมานานมาก เพราะผมเป็นคนไม่ค่อยคิดมากกับเรื่องโน้นเรื่องนี้ที่ผ่านเข้ามา คือเป็นคนไม่ค่อยเครียด แต่ก็มีที่ทำอะไรไม่ค่อยคิด ตอนนี้พออายุมากขึ้น เราก็มีสติมากขึ้น

 

ตูน: อีกอย่างนะครับ จริงๆ แล้วความเบาที่เราเล่าไปมันน่าจะตกกระทบหรือสื่อสารลงไปในหลักคิดเนื้อเพลงมากกว่า ถ้าฟังในส่วนของพาร์ตดนตรี เราไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะผ่อนเครื่องหรืออยากให้มีความเบาของสไตล์เสียงดนตรี ในทางกลับกัน เราอยากวัยรุ่นขึ้นด้วยซ้ำ เราอยากมีพลังงานแบบนี้ไปให้ได้นานที่สุด

 

โอม: ในหลักคิดหรือความหมายของเพลงที่เบาขึ้น นั่นไม่ได้หมายความว่าดนตรีจะต้องเบาไปด้วย พาร์ตดนตรีเราก็ยังเข้มข้นเหมือนที่เคยเป็นมา ไม่ได้คิดจะประนีประนอม ไม่ได้ผ่อน ไม่ได้เบาขึ้น หรืออย่างเรื่องกรู๊ฟของเพลง เรื่องซาวด์ดนตรี บอกเลยว่าเรายิ่งละเอียดกับมันมากขึ้น

 

ตูน: เราพยายามจะหาเสียงใหม่ๆ สิ่งใหม่ๆ กรู๊ฟใหม่ๆ ความรู้สึกใหม่ๆ ที่มันจะเรียกความสดชื่นให้กับวงได้อีกครั้งหนึ่ง เพราะเมื่อทำเสร็จ นั่นหมายความว่าเราจะต้องเล่นเพลงในอัลบั้มนี้ไปอีกอย่างน้อยกี่ปีก็ยังไม่รู้ แต่ที่รู้สึกแน่นอนคือเราไม่อยากทำอัลบั้มที่เหมือนกับอัลบั้มชุดที่แล้ว เราแค่อยากทำอัลบั้มที่สดใหม่ ทำแล้วรู้สึกภูมิใจจะนำเสนอมันใน พ.ศ. นี้

 

(ซ้าย) โอม เปล่งขำ (คีย์บอร์ด)

 

พูดกันตามตรง ยุคนี้ไม่ใช่ศิลปินทุกวงที่จะได้รับโอกาสจากค่ายเพลงให้ออกผลงานระดับสตูดิโออัลบั้ม ในมุมนี้พวกคุณมีความเห็นอย่างไรบ้าง 

ตูน: ผมว่าการทำเพลงในรูปแบบอัลบั้มมันจำเป็นสำหรับวงร็อกหรือป๊อปร็อก เราทำเพื่อที่จะได้มีหลักไมล์ให้กับแฟนๆ หรือหลักไมล์ให้กับตัววงได้จดบันทึกเรื่องราวรวมกันเป็นหมวดหมู่

 

การทำซิงเกิลไปเรื่อยๆ โดยที่หวังให้มันโปรโมตแต่ละซิงเกิลนั้น ในความคิดผมมันจะได้แต่เพลงที่มีท่วงทำนองแบบหนึ่งเท่านั้น เพลงกลางๆ ที่สามารถจะเป็นเพลงฮิตได้ แต่มันไม่ได้เปิดพื้นที่ให้กับเพลงที่เนื้อหาอาจจะลึกหน่อย หรือบางเพลงตื้นหน่อยที่ปกติมันจะไม่ถูกตัดออกมาโปรโมต ผมยกตัวอย่างอัลบั้มชุดที่แล้วที่มีเพลงอย่าง ความฝันกับจักรวาล หรือ ดัม-มะ-ชา-ติ เองก็ตาม เพลงเหล่านี้มันช่วยเปิดพื้นที่ให้ตัวอัลบั้มได้บอกเล่าในมิติอื่นๆ บ้าง

 

ถึงจะบอกว่า ‘ตัวเบา ใจเบาขึ้นแล้ว’ แต่ด้วยชื่อเสียงของวง ผู้คนก็รอคอยและคาดหวังกับทุกผลงานของพวกคุณมาก ถามจริงๆ ว่าความคาดหวังเหล่านี้ยังสร้างความกดดันให้ได้อยู่ไหม

ตูน: แม้จะเป็นอัลบั้มชุดที่ 7 แต่สำหรับผม ต่อให้กี่อัลบั้มผมจะตอบเหมือนเดิม คือเราไม่ได้ทำเพลง ร้องเพลง หรือเล่นดนตรีโดยเริ่มต้นจากความคาดหวังของคนอื่น แต่เราเริ่มต้นจากความสนุกของพวกเรา เริ่มต้นจากความคาดหวังของพวกเราเองว่าเราจะร้องเพลงกันแบบไหน เล่นดนตรีกันแบบไหนจึงจะรู้สึกสนุก  

 

เราคิดงานเพลงในแต่ละอัลบั้มโดยอ้างอิงจากตัวเองก่อนว่า ถ้าเรามีความสุขแล้วกับเพลงนี้ เราสนุกที่ได้เล่น หรือยินดีที่จะเศร้าไปกับเพลงช้าสักเพลงที่เราเขียน แค่นี้พอแล้ว โจทย์ของพวกเรามันคือแค่นี้ แล้วพอมันถูกปล่อยออกไปให้ทุกคนได้ยิน ถ้าทุกคนชอบ มันก็เหมือนเป็นกำไรของนักดนตรี เพียงแต่จุดเริ่มต้นคือเราต้องรักมันก่อน เราต้องชอบมันก่อน แล้วค่อยทำให้ได้ตามความคาดหวังของตัวเอง

ความเก๋านี่มันอันตรายนะ เพราะถ้าลบขีดออกไปเส้นเดียวมันคือเก่าเลยนะ มันอันตรายมากเลย ฉะนั้นวงเราอย่าเก๋าเลย – ตูน

โอม: ผมคาดหวังกับตัวเองมากว่าสุดท้ายแล้วเราจะได้อัลบั้มใหม่นี้อย่างที่เราชอบไหม แฮปปี้ไหมเวลาได้เล่นมัน แต่ไม่ได้คาดหวังกับคนฟัง

 

ยอด: สุดท้ายคือเล่นในสิ่งที่เป็นตัวเราครับ ผมพยายามจะไม่กดดันตัวเอง ทั้งที่จริงๆ แล้วอัลบั้มนี้กดดันมากเหมือนกัน มันมีทั้งความยาก ทั้งแรงบันดาลใจส่วนตัวในการเล่นดนตรี แต่พอได้ขึ้นเวทีไปเล่นเพลงใหม่ ความรู้สึกที่เราเคยอยากเลิกเล่นดนตรีมันหายไปหมดเลยครับ

 

ปิ๊ด: ผมคาดหวังนะครับ แต่คาดหวังให้ตัวเองพัฒนามากที่สุด คาดหวังให้คิดงานดนตรีในพาร์ตของตัวเองให้เข้ากับเพลงมากที่สุด เหมาะสมที่สุด เราอยากพัฒนาตัวเองทั้งเรื่องสกิล เรื่องดีไซน์ดนตรี มันเลยยาก เลยท้าทายตัวเองค่อนข้างหนัก

 

 

ว่ากันว่าชีวิตคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงและเติบโตทุกวัน ที่สำคัญคืออัลบั้มใหม่ชุดที่ 7 ของบอดี้สแลมทิ้งห่างจากอัลบั้มชุดที่แล้วถึง 4 ปี ระยะเวลาที่ยาวนานขนาดนี้ คุณจดบันทึกความเปลี่ยนแปลงอะไรลงไปในอัลบั้มใหม่นี้บ้าง

ตูน: จริงๆ ตัวเราอยู่กับตัวเองทุกวัน มันเหมือนเส้นผมที่ยาวขึ้นทุกวันโดยที่เราไม่รู้สึก ไม่ได้สังเกตว่าแต่ละวันแต่ละเดือนมันยาวขึ้นกี่มิลลิเมตร บอดี้สแลมเองก็เหมือนกัน เราผ่านช่วง 4 ปีกว่าของการทำอัลบั้มชุดที่แล้วถึงวันนี้ เราเองมีทั้งส่วนที่โตขึ้นและเด็กลงไปทีละนิดๆ เพราะในบางแง่บางมุม เราเองก็มีส่วนที่อ่อนเยาว์ลงด้วยเหมือนกัน

 

ผมรู้สึกว่านานๆ ที 4-5 ปีเราได้กลับมาจดบันทึกร่วมกันในรูปแบบอัลบั้มของบอดี้สแลมมันเป็นสิ่งที่ดี แต่ละอัลบั้มมันเป็นเหมือนไดอะรีว่าปีนี้เรากำลังสนใจเรื่องอะไรอยู่ เรารักใคร เราคิดถึงใคร หรืออายุประมาณนี้เราโซโลเพลงได้เร็วขนาดไหน ปีนี้เราตีกลองเป็นยังไง เราเล่นเบสเป็นยังไง เสียงคีย์บอร์ดของเราเดินทางมายังไง และทุกครั้งที่ทำอัลบั้มใหม่ เราก็สนุกกับการจดบันทึกสิ่งเหล่านี้ด้วยบทเพลง

 

สำหรับผมแค่นี้ก็มีความสุขแล้ว ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องฟังเพลงใหม่แล้วโตขึ้น โตขึ้นแล้วจะดี หรือว่ามีซาวด์ใหม่มากแล้วดี ทันสมัยมากแล้วดี นั่นไม่ใช่จุดมุ่งหมายของเรา จุดมุ่งหมายของพวกเราคือการจดบันทึกเรื่องราวแล้วใส่ลงไปในอัลบั้มให้สมบูรณ์ที่สุดในมิติของแต่ละคนแค่นั้นเอง (หัวเราะ)

 

 

โอม: ความจริงอาจจะไม่เรียกว่า ‘เติบโต’ ก็ได้นะ แต่เราอยากเรียกมันว่าการเดินทางมากกว่า เพราะบางทีเราก็ไม่ได้คิดว่าการออกอัลบั้มเยอะขึ้นหมายความว่าเพลงมันต้องเก๋าขึ้น คือคนส่วนมากเขาชอบคิดอย่างนั้น แต่เราไม่ได้อยากเอาตัวเองไปติดกับอะไรอย่างนั้น

 

ตูน: เพราะเราไม่เก๋าไง ความเก๋านี่มันอันตรายนะ เพราะถ้าลบขีดออกไปเส้นเดียวมันคือเก่าเลยนะ มันอันตรายมากเลย ฉะนั้นวงเราอย่าเก๋าเลย

 

ปิ๊ด: ความจริงการคุยกันของเราเป็นการคุยกันครั้งแรกของอัลบั้มชุดนี้เลยนะครับ แล้วเท่าที่ผมนั่งฟังทุกคนตอบคำถามในเรื่องของความเปลี่ยนแปลง ผมก็รู้สึกว่าทุกคนในวงต่างก็มีความเปลี่ยนแปลงในชีวิตแตกต่างกันไป นั่นรวมไปถึงความคิด ความรู้สึกเรื่องดนตรีด้วย ผมถึงรู้สึกว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากอัลบั้มที่แล้วคือทุกคนมีตัวตน มีลายเซ็นของตัวเองค่อนข้างชัดเจน แต่พอเอามาผสมรวมกันในอัลบั้มแล้วมันลงตัว มันไม่ขัดกัน

 

ผมชอบที่พี่โอมบอกว่าพวกเราโตขึ้น แต่ไม่ได้คิดว่าจะต้องเก๋าขึ้น มันทำให้ผมนึกไปถึงสมัยก่อน เวลาจะคุยกับสื่อช่วงออกอัลบั้มใหม่ เราจะนัดคุยกันก่อนว่าคอนเซปต์ของอัลบั้มนี้จะสื่อสารอะไร แต่ในอัลบั้มชุดนี้เราไม่เคยนัดคุยกันอย่างจริงจัง แต่เราคุยกันมาตลอดในระหว่างทางของการทำเพลง แล้วเมื่อถึงเวลาต้องตอบคำถาม เราก็มาตอบในเรื่องเดียวกันอย่างที่ไม่เคยมีการตกลงนัดแนะอะไรกันมาก่อน

 

ตูน: การคุยกัน บางทีไม่ได้พูดกันด้วยนะ คุยกันด้วยการสังเกตกัน สื่อสารด้วยการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มันไม่เหมือนสมัยเด็กๆ ที่วันนี้เราต้องออกไปสัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแล้วนะ ถ้าเจอคำถามแบบนี้เราจะตอบกันยังไง

 

แต่ครั้งนี้เราไม่รู้ว่าตอบอะไรออกไปแล้วจะดีหรือไม่ดี แต่เรารู้สึกว่าปีนี้เราสนุกแบบนี้ สนุกที่เราจะได้ยินทุกคนพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดโดยที่ไม่ต้องตรงกันมากก็ได้ ซึ่งนี่แหละมันคือธรรมชาติของวงดนตรีจริงๆ ที่บางทีมันไม่จำเป็นจะต้องมีเรื่องที่คิดเห็นเหมือนกันทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ถึงจะถูก ซึ่งถือเป็นความสนุกอย่างมากของวงบอดี้สแลมกับอัลบั้มชุดนี้เลยนะครับ

 

Photo:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising