หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมจู่ๆ หอศิลป์ที่ถูกทิ้งร้างมานานถึงเปิดให้เข้าชม หลังจากผ่านมากว่า 36 ปี และถึงแม้เปิดเพียง 3 วันเท่านั้น เราว่าที่นี่ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวและความสวยงามทางสถาปัตยกรรมที่คุ้มค่าที่จะเดินทางมาดูให้เห็นกับตาตัวเอง
ผู้คืนชีพให้แกลเลอรีร้างแห่งนี้คือทีม Revitalizing Bangkok เป็นโครงการวิจัยศิลปะกับสังคมที่จะปลุกตึกหรืออาคารเก่าๆ ให้ฟื้นคืนชีพ โดยมีข้อแม้ว่าสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นต้องเป็นตึกที่ถูกทิ้งร้างจากการใช้งาน และต้องมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมด้วย ด้วยเหตุนั้น ปีนี้พวกเขาจึงเลือก ‘หอศิลป พีระศรี’ หรือ Bhirasri Institute of Modern Art (BIMA) เป็นโปรเจกต์สุดท้าย หลังจากเคยฟื้นคืนชีพวัดร้างในปีแรก ณ วัดภุมรินทร์ราชปักษี และปีที่สอง ณ ลุมพินีสถาน ซึ่งเป็นอาคารใช้เต้นลีลาศที่ถูกทิ้งร้าง
หอศิลป พีระศรี จะมีอายุครบ 50 ปีพอดีในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ โดยแกลเลอรีเคยเปิดทำการอยู่นาน 14 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 ถือว่าเป็นแกลเลอรีแห่งแรกๆ ในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้จัดแสดงงานศิลปะโดยเฉพาะ หากไม่นับรวมการใช้ตึกแถวหรือวังมาเปลี่ยนเป็นอาร์ตสเปซ โดยผู้ริเริ่มแกลเลอรีแห่งนี้ก็ไม่ใช่ใครไปเสียจาก อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้มองเห็นว่าประเทศไทยในขณะนั้นยังไม่มีแกลเลอรีสำหรับ Modern Art สักเท่าไร
แต่น่าเสียดายที่โครงการนี้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างจริงๆ หลังจากอาจารย์เสียชีวิตไป และมี ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้นำการระดมทุนในการสร้างหอศิลป์แห่งนี้แทน
ความน่าสนใจของหอศิลป พีระศรี คือช่วงเวลาที่ยังเปิดทำการ เพราะที่แห่งนี้เกิดขึ้นในยุคที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยความขัดแย้งและตำรวจความคิด เนื่องจากเป็นช่วงปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ก่อนอีกไม่กี่ปีต่อมาจะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ทำให้สังคมในขณะนั้นมองว่าแม้แต่งานศิลปะก็อาจเป็นภัย ทว่าที่แห่งนี้ตั้งใจเป็นแกลเลอรีที่เปิดกว้าง ยอมรับความหลากหลายทั้งสไตล์งานศิลป์และความคิดเห็นทางสังคม แม้บางนิทรรศการจะมีตำรวจแวะเวียนเข้ามา ก่อนต้องปิดงานไปทั้งที่จัดแสดงได้ไม่กี่วันก็ตาม
หรือแม้กระทั่งนิทรรศการที่วิพากษ์วิจารณ์การสอน หรือไม่เห็นด้วยกับแนวทางศิลปะของมหาวิทยาลัยศิลปากร ก็เคยถูกจัดแสดงที่หอศิลป พีระศรี เช่นกัน
อีกเรื่องที่เราอยากให้สังเกตคืองานสถาปัตยกรรม เนื่องจากอาคารนี้อยู่บนที่ดินสี่เหลี่ยมผืนผ้า หน้าแคบแต่ลึก สถาปนิกต้องออกแบบตัวอาคารให้เหมาะกับสถานที่และการใช้งาน จึงออกมาเป็นอาคารรูปทรงโมเดิร์นแห่งนี้ พร้อมมีชายคาที่ยื่นไล่ระดับออกมาเป็นซิกเนเจอร์ โดยนักออกแบบได้แรงบันดาลใจมาจากลิ้นของตัวกินมด ที่พร้อมตวัดผู้คนให้เดินเข้ามาชมงานศิลปะ ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งคอนเซปต์ดีไซน์ที่นอกกรอบสุดๆ เช่นนี้ ถือว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่มากในยุคนั้น
โปรเจกต์ ‘Revitalizing Bangkok Through Art and Architecture: A Case Study on BIMA’s Vision for the City’s Future’ จะจัดขึ้นเพียง 3 วันเท่านั้น เริ่มตั้งแต่วันนี้ – 30 มีนาคม 2567 ภายในงานมีผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ 7 ชิ้นให้ชม พร้อมกับกิจกรรมอื่นๆ ให้เข้าร่วมแบบไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Revitalizing Bangkok