รัฐบาลจีนคาดว่าจะออกนโยบายเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการจัดหาเงินทุนและปรับปรุงสภาพคล่องสำหรับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ท่ามกลางความหวาดกลัวว่าการผิดนัดชำระหนี้ของ Evergrande Group จะส่งผลกระทบในวงกว้างต่ออุตสาหกรรมอสังหาและเศรษฐกิจของประเทศจีน แม้นักลงทุนบางส่วนจะมองว่าความเสี่ยงในภาค อสังหาจีน อาจคลี่คลาย แต่นักวิเคราะห์บางรายมองว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาจากการลดอัตราดอกเบี้ย อัตราส่วนเงินดาวน์ที่ลดลง และการควบคุมการซื้อบ้านที่ผ่อนคลาย อาจไม่สามารถฟื้นยอดขายบ้านใหม่ได้ ท่ามกลางความเชื่อมั่นที่แย่ลง และวิกฤตอสังหาของจีนในครั้งนี้อาจคล้ายคลึงกับวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ปี 2008 แต่เป็นเวอร์ชันที่รุนแรงกว่า
รัฐบาลจีนพยายามใช้ยาแรงกอบกู้วิกฤตอสังหาในประเทศ
หลังจากที่บริษัทพัฒนาอสังหารายใหญ่ของจีนอย่าง Evergrande ไปจนถึง Country Garden ผิดนัดชำระหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ถือโดยนักลงทุนในต่างประเทศ และ Evergrande ถูกสั่งเลิกกิจการในปี 2023 ที่ผ่านมา ทางการจีนพยายามออกมาตรการสนับสนุนในตลาดอสังหามากมาย เพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นในตลาด แม้ว่ารัฐบาลจีนได้สั่งใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รุนแรงในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว แต่ก็ไม่สามารถคาดหวังได้มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงและความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่อาจแตกสลายได้
ที่ผ่านมาจีนได้ใช้นโยบายที่กว้างขวางเพื่อลดข้อจำกัดในการซื้อบ้านและลดอัตราการจำนอง นอกจากนี้ไม่เพียงแต่จะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีอายุมากกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานที่ธนาคารพาณิชย์ใช้ในการกู้ยืมระยะยาว แต่ยังปรับลดอัตราดอกเบี้ยจำนองสำหรับผู้ซื้อบ้านครั้งแรกและครั้งที่สองด้วย โดยเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBoC) ยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ชั้นดีระยะเวลา 5 ปีลง 25 bps เหลือ 3.95% ซึ่งถือเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีมานี้
วิกฤตอสังหาถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง
หวังชิง หัวหน้านักวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์มหภาคของ Golden Credit Rating International แสดงความเห็นว่า มาตรการเหล่านี้เป็นความเคลื่อนไหวสำคัญในแง่ของการปรับปรุงความเชื่อมั่นของตลาด และสร้างความมั่นใจว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะมีความเคลื่อนไหวอย่างราบรื่น เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดที่อยู่อาศัยของจีนจะค่อยๆ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และคาดว่าจะยุติภาวะถดถอยในรอบ 3 ปีนี้ เนื่องจากนโยบายสนับสนุนอสังหาริมทรัพย์ทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานในอีกแง่หนึ่ง รายได้ของบริษัท Country Garden Holdings Co. และ China Vanke Co. ในสัปดาห์นี้น่าจะบ่งบอกได้ว่าวิกฤตสินทรัพย์ของจีนกำลังส่งผลกระทบต่อประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก นอกจากนี้การที่ Fitch Ratings ลดอันดับเครดิตของ Vanke เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้นักลงทุนกังวลถึงผลกระทบที่ลุกลามอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ Vanke เพิ่งได้รับเงินกู้จำนวน 1,400 ล้านหยวนจาก Industrial Bank Co. เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรก
คริสตี ฮุง นักวิเคราะห์ของ Bloomberg Intelligence กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จากการลดอัตราดอกเบี้ย อัตราส่วนเงินดาวน์ที่ลดลง และการควบคุมการซื้อบ้านที่ผ่อนคลาย อาจไม่สามารถฟื้นยอดขายบ้านใหม่ได้ ท่ามกลางความเชื่อมั่นที่ถดถอย ทางด้านนักวิเคราะห์อย่าง ฟรานซิส ชาน และ นิโคลัส อึ้ง มองว่าธนาคารต่างๆ อาจกลายเป็น ‘เหยื่อ’ ของมาตรการช่วยเหลือทรัพย์สินของรัฐบาล หลังจากที่จีนให้คำมั่นที่จะปรับปรุงนโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์ตามข้อเสนอที่เสนอต่อสภาประชาชนแห่งชาติเมื่อต้นเดือนนี้
นักวิเคราะห์มองวิกฤตอสังหาจีนคล้ายกับวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ปี 2008 แต่เป็นเวอร์ชันที่รุนแรงกว่า
ไคล์ บาสส์ ผู้ก่อตั้งเฮดจ์ฟันด์ Hayman Capital ชี้ว่า การที่จีนพึ่งพาภาคอสังหาริมทรัพย์มากเกินไป ส่งผลให้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะคล้ายกับวิกฤตการเงินสหรัฐฯ เมื่อปี 2008 แต่ครั้งนี้จะเป็นเวอร์ชันที่ใหญ่กว่า เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีความเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ มากกว่า 60 แห่งในจีน นับได้ว่าส่งผลกระทบไปแทบทุกธุรกิจเลยทีเดียว นอกจากนี้ภาคอสังหาของจีนและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของตัวเลข GDP ของประเทศอีกด้วย ซึ่งตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำย่อมหมายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยากลำบากขึ้นด้วย
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า ความต้องการที่อยู่อาศัยใหม่ในประเทศจีนคาดว่าจะลดลงประมาณ 50% ในช่วงทศวรรษหน้า ทำให้รัฐบาลยากขึ้นที่จะสนับสนุนการเติบโตโดยรวมของประเทศอย่างรวดเร็ว IMF ยังเผยอีกว่าความต้องการที่อยู่อาศัยใหม่ในประเทศจีนจะลดลง 35-55% เนื่องจากการลดลงของครัวเรือนในเมืองใหม่ และอสังหาจำนวนมากของทรัพย์สินที่ยังสร้างไม่เสร็จหรือว่างเปล่า
อ้างอิง: