ในยุคสมัยที่ความเครียดและความกังวลปรากฏเป็นประจำทุกวันในชีวิตของเรา โรคทางจิตเวชกลายเป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองข้ามได้อีกต่อไป หนึ่งในโรคที่หลายคนอาจไม่ค่อยให้ความสำคัญแต่กำลังกลายเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นและกระทบต่อจิตใจของคนอย่างมากคือโรคแพนิก หรือโรคตื่นตระหนก (Panic Disorder) ซึ่งมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงอาการของความวิตกกังวลธรรมดา แต่แท้จริงแล้วมันมีความซับซ้อนและผลกระทบที่ลึกซึ้งกว่านั้นอย่างมาก บทความนี้จะพาไปรู้จักกับโรคแพนิกอย่างลึกซึ้ง เพื่อทำความเข้าใจถึงลักษณะและการรับมือกับโรคนี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวคุณเองหรือคนที่คุณรัก ให้สามารถเผชิญและจัดการกับมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้รับมือกันได้หากมีอาการเองหรือมีคนที่เรารักต้องเจอกับโรคนี้ในอนาคต
โรคแพนิกคืออะไร และเกิดจากอะไรได้บ้าง
โรคแพนิกหรือโรคตื่นตระหนกนั้นเป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองที่ทำให้มีผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System) ซึ่งระบบประสาทนี้จะทำหน้าที่ควบคุมการตอบสนองของร่างกายในส่วนที่ร่างกายไม่สามารถบังคับควบคุมได้ เช่น จังหวะการเต้นของหัวใจ การขยับของทางเดินอาหาร ประสาทรับความรู้สึก และกล้ามเนื้อเรียบในระบบต่างๆ ฯลฯ
สำหรับสาเหตุในการเกิดโรคนั้นยังไม่ชัดเจน แต่จากการรวบรวมข้อมูลของหลายๆ การศึกษาได้สรุปสาเหตุที่เป็นไปได้คือ
- พันธุกรรม โดยพบว่าหากมีญาติในลำดับขั้นที่ 1 คือพ่อ แม่ พี่ น้อง หรือลูก มีโรคนี้ ก็อาจจะเกิดโรคนี้ได้มากขึ้นถึง 40% เมื่อเทียบกับคนทั่วไป
- การใช้สารเสพติดหรือยาบางชนิดที่มีผลต่อสมองหรือสารสื่อประสาทชนิดนี้
- การมีฮอร์โมนในร่างกายที่ผิดปกติซึ่งส่งผลต่อสารสื่อประสาทนี้
- การมีประสบการณ์ที่ทำให้เกิดอาการตื่นตระหนกอย่างรุนแรงในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น
- การมีความเครียดสะสมหรือต้องอยู่ในสภาวะกดดัน เร่งรีบ และผิดพลาดไม่ได้เป็นประจำเป็นระยะเวลาหนึ่ง
- เกิดร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่นๆ เช่น ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล เป็นต้น เนื่องจากสารสื่อประสาทที่ผิดปกติบางตัวเป็นตัวเดียวกันนั่นเอง
อาการของโรคแพนิกเป็นอย่างไร
อาการของโรคแพนิกจะแสดงออกมาทางร่างกายแบบทันทีทันใด ยกตัวอย่างอาการที่พบบ่อยในคนไข้โรคแพนิก ได้แก่
- อาการใจสั่น เช่น หัวใจเต้นเร็วรัว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นแรง คนไข้อาจจะอธิบายว่ารู้สึกหวิวๆ ในใจ เหมือนใจจะหลุดออกมา แต่ไม่สามารถอธิบายชัดเจนได้
- อาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจถี่และตื้นแทบขาดใจ
- อาการวิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
- อาการตัวชา มือเท้าชา
- อาการเหงื่อออกมาก
- อาการตัวสั่น มือสั่น
- อาการหวาดกลัวหรือหวาดระแวงแบบไม่ทราบสาเหตุ
อาการดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างของอาการในโรคแพนิกซึ่งมักจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันหลายๆ อาการ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่นานก็หายไปเองโดยไม่รู้สาเหตุและไม่มีเหตุกระตุ้นที่ชัดเจน อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นแบบไม่ได้ตั้งตัว อาจมีอาการทุกวันหรือนานๆ ครั้งใน 1 สัปดาห์ก็ได้ ที่สำคัญทำให้ผู้ที่มีอาการนี้เกิดความกังวลว่าจะมีอันตรายถึงชีวิตหรือกลัวอย่างมากที่จะเป็นอีกจนทำให้เริ่มไม่กล้าออกจากบ้านหรือไปไหนคนเดียว รวมถึงอาจส่งผลกระทบถึงคนรอบข้างและการทำงานให้แย่ลงอีกด้วย
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคแพนิกหรือไม่
เนื่องจากอาการของโรคแพนิกแสดงออกทางระบบต่างๆ ของร่างกาย อาการเหล่านี้จะสามารถเป็นอาการแสดงของโรคทางกายจริงๆ ได้ เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคไมเกรน โรคลมชักบางชนิด และบางครั้งอาจจะเกิดจากสารหรือยาบางอย่าง เช่น มีคาเฟอีนในร่างกายปริมาณมาก
เมื่อมีอาการต่างๆ เกิดขึ้น อย่างแรกจึงแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด หากพบว่าไม่มีความผิดปกติของโรคต่างๆ เหล่านั้น และยังมีความวิตกกังวลอย่างมาก ไม่สามารถจัดการความกังวลหรือความกลัวเหล่านั้นได้ ก็จะเข้าข่ายของโรคแพนิกนั่นเอง
โรคแพนิกรักษาได้หรือไม่
การรักษาโรคแพนิกสามารถทำได้โดยการใช้ยาเพื่อปรับสารสื่อประสาทให้กลับเข้าสู่สภาวะสมดุล ร่วมกับการใช้วิธีทางจิตวิทยา เช่น การทำ Cognitive and Behavioral Therapy ซึ่งเป็นกระบวนการปรับความคิดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการแพนิกขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความเครียดหรือสภาวะกดดันที่เข้ามาในชีวิตในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ หากมีจิตแพทย์และทีมนักจิตวิทยาอยู่ร่วมดูแลมักจะได้ผลที่ดีกว่าการฝึกด้วยตัวเอง
จะรับมือกับโรคแพนิกได้อย่างไร
สิ่งสำคัญในการดูแลตัวเองหรือคนที่รักที่มีโรคแพนิกคือต้องแน่ใจว่าไม่มีโรคทางกายอื่นๆ ที่ทำให้มีอาการดังกล่าวแน่ๆ เมื่อแน่ใจแล้วจึงจะสามารถค่อยๆ ปรับความรู้สึกเมื่อมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นว่าอาการเหล่านั้นไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตอย่างที่คิด จากนั้นจึงค่อยๆ นำคนไข้โรคแพนิกออกจากสถานการณ์หรือภาวะเครียดกดดัน เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้พักจากปัจจัยกระตุ้นและอาการดีขึ้น
คนไข้กลุ่มนี้จำเป็นต้องมีผู้ดูแลที่เข้าใจธรรมชาติของโรค และช่วยชี้ให้เห็นว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นไม่เป็นอันตรายและจะหายไปเองในเวลาไม่ช้าหากเกินความสามารถในการดูแลจนโรคแพนิกเริ่มรบกวนการใช้ชีวิตมากขึ้นควรไปปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม ทั้งนี้ การกินยาเพื่อรักษาโรคแพนิกร่วมกับการปรับพฤติกรรมความคิด และการดูแลจากคนที่เข้าใจไปพร้อมๆ กัน จะทำให้ผลการรักษาดีมากขึ้นในระยะเวลาไม่นาน
ในสังคมไทยการพบจิตแพทย์อาจจะยังดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวและน่าอับอายในบางกลุ่ม อีกทั้งหลายๆ คนยังเข้าใจว่าการกินยาทางจิตเวชจะส่งผลระยะยาวทำให้ความสามารถของร่างกายและสมองลดลง ในความจริงแล้วการพบหมอจิตเวชนั้นไม่ได้มีเพียงการรับยา แต่คุณหมอและทีมจะร่วมดูแล รับฟังและพูดคุยเพื่อหาทางออกในการจัดการกับความเครียด ความกดดัน ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีโรคแพนิกเกิดขึ้นได้ ดังนั้นหากใครไม่แน่ใจว่าตัวเองมีอาการเข้าข่ายเป็นโรคแพนิกหรือโรคทางจิตเวชอื่นๆ จึงขอแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งได้พบเร็ว การรักษาก็จะได้ผลเร็วเท่านั้น จะได้มีผลกระทบต่อชีวิต การทำงาน และคนรอบข้างให้น้อยที่สุด และกลับมาเป็นคนสดใสได้ดังเดิม