ในเกมพรีเมียร์ลีกเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาที่สนามเซลเฮิสต์พาร์ก ทีมใหญ่อย่างลิเวอร์พูลต้องเจอกับความลำบากยากเย็นในการเผชิญหน้ากับเจ้าบ้านอย่างคริสตัล พาเลซที่พยายามต่อสู้ต้านทานอย่างสุดกำลังความสามารถ
แต่แล้วในช่วงนาทีบาปของการแข่งขัน ฮาร์วีย์ เอลเลียตต์ นักเตะสารพัดประโยชน์ที่ถูกส่งลงมาเป็นตัวสำรองในช่วงครึ่งหลัง กลายเป็นฮีโร่ของทีมด้วยการทำประตูในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ช่วยให้ลิเวอร์พูลพลิกสถานการณ์จากตามหลังกลับมาคว้า 3 คะแนนเต็ม
ในช่วงเวลาของความดีใจ จู่ๆ เอลเลียตต์ก็เดินมาที่ข้างสนามก่อนทำท่าฉลองประตูที่ดูแปลกตากว่าท่าปกติที่ใครเขาทำกัน
แต่เป็นท่าที่คนที่รู้ก็จะรู้ได้ทันที
Ka-me-ka-me-ha!
นี่มัน…พลังคลื่นเต่าสะท้านฟ้า!
💔 Rest in Peace 🇯🇵Akira Toriyama the Creator of Dragon Ball series 🩶 Rest in Peace 🕊️#INDvENG #ShubmanGill #TriggeredInsaan #RohitSharma pic.twitter.com/i5Y9qJvPWW
— ICIC’EST PARIS💗💙 (@ShreyasPSG) March 8, 2024
ท่าทางการฉลองประตูของนักเตะดาวรุ่งวัย 20 ปีด้วยท่าไม้ตายใหญ่ของตัวเอกจากเรื่อง ดราก้อนบอล (Dragon Ball) สร้างรอยยิ้มให้แก่แฟนฟุตบอลได้ไม่น้อยไม่ว่าจะเป็นแฟนบอลของลิเวอร์พูลหรือไม่ก็ตาม
เพราะมันเหมือนเป็นการเชื่อมโลกสองใบที่ไม่น่าเข้ากันได้ให้ถึงกันได้อย่างน่าประหลาดใจ
โดยเฉพาะเมื่อเราคิดถึงการที่การ์ตูน – ในความหมายทั้งมังงะ (Manga) และอนิเมะ (Anime) – อย่าง ดราก้อนบอล นั้นถือกำเนิดมาตั้งแต่ช่วงยุคปี 80 และโด่งดังสุดขีดในยุคต้น 90 การที่เด็กวัย 20 ปีอย่างเอลเลียตต์จดจำท่าทางเอามาใช้เป็นท่าฉลองประตูได้นั้นเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอยู่ไม่น้อยในความห่างของเส้นเวลา
ไม่นับเรื่องของระยะห่างระหว่างญี่ปุ่นถึงอังกฤษที่ก็ไม่ใช่น้อยๆ อะไรที่ทำให้ผลงานความบันเทิงในประเทศเอเชียมีผลต่อใจของเด็กในเกาะบริเตนได้ทั้งๆ ที่วันเวลาผ่านมายาวนานขนาดนี้
เรื่องนี้คือความมหัศจรรย์ของ ดราก้อนบอล ผลงานการสร้างสรรค์ของ โทริยามะ อากิระ นักเขียนมังงะที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ด้วยลายเส้นและการเล่าเรื่องที่แสนมหัศจรรย์ของเขา
ผลงานเรื่อง ดราก้อนบอล ของ โทริยามะ อากิระ เริ่มต้นตีพิมพ์ในนิตยสารการ์ตูน Shonen Jump เมื่อปี 1984 หรือ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลงานยาวเรื่องใหม่ต่อจาก ดร.สลัมป์ (Dr.Slump) มังงะสุดบันเทิงกับเรื่องราวของหุ่นเด็กสาวใส่แว่นจอมป่วนผู้น่ารักอย่างหนูน้อย อาราเล่ (Arale) กับนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องอย่าง ดร.โนริมากิ เซมเบ้ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงปี 1980-1984
สำหรับเรื่องราวของ ดราก้อนบอล เริ่มต้นที่การผจญภัยสุดอลวนของสาวน้อยนักล่าสมบัติอย่าง บลูม่า (Bulma) ที่ออกตามล่าลูกแก้วมังกรที่มีด้วยกันทั้งหมด 7 ลูก โดยได้รับความช่วยเหลือจากเด็กน้อยปริศนาที่มีหางโผล่ออกมาอย่าง ซุนโกคู
การผจญภัยของทั้งคู่นำพาไปสู่เรื่องราวที่ทั้งสนุก ตื่นเต้น และน่าประทับใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเจอกับพ่อลูกชาวพื้นเมือง อูป้า และ โบร่า, ยาจิโรเบ้ ซามูไรอ้วนตุ้บ, กองทัพโบแดง (แสลงใจ) ‘เรดริบบอน’, จักรพรรดิปิลาฟ, จอมมารพิคโกโล่ ไปจนถึงเหล่านักสู้ที่กลายเป็นผองเพื่อนอย่าง คุริลิน, หยำฉา, เท็นชินฮัง
ไปจนถึงอาจารย์ที่สอนสั่งวิชากำลังภายในให้อย่างมาสเตอร์โรชิ หรือ ‘ผู้เฒ่าเต่า’ เจ้าของท่าระดับตำนานที่ได้รับการถ่ายทอดมาเป็นภาษาไทยอย่างสละสลวยว่า ‘พลังคลื่นเต่าสะท้านฟ้า’
ปิแอร์ เอเมอริก โอบาเมยอง ฉลองประตูในเกม ‘เอลกลาซิโก’ ด้วยลูกแก้วมังกรและท่าเคลื่อนย้ายในพริบตา
จากเรื่องราวในจุดเริ่มต้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ไม่มีใครคิดว่า ดราก้อนบอล จะกลายเป็นมังงะที่ส่งผลต่อโลกอย่างมากมายมหาศาล ความนิยมของมังงะที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ โทริยามะ อากิระ ต้องหาทางแต่งแต้มเรื่องราวต่อไปเรื่อยๆ
จักรวาลของ ดราก้อนบอล ถูกขยายออกอย่างไม่รู้จบ ประหนึ่งเอกภพในความเป็นจริง มีตัวละครปรากฏอีกมากมาย เรื่องราวการต่อสู้กับศัตรูหลากหลาย
โดยที่ในการต่อสู้นั้น ไม่ใช่ฝ่ายพระเอกจะเป็นฝ่ายชนะอย่างง่ายดายเสมอไป ในทางตรงกันข้ามตัวละครแต่ละตัวก็ต้องผ่านอุปสรรคต่างๆ ไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจ เพื่อหาทางที่จะเอาชนะให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการชนะคู่ต่อสู้ หรือแม้แต่การชนะใจตัวเองก็ตาม
เรื่องราวเหล่านี้จึงเป็นเหมือนการสอนให้เด็กๆ ทุกคนได้รู้จักโลกและชีวิตในความเป็นจริงอย่างละมุนละม่อมที่สุด
ทำไมเราถึงต้องต่อสู้ ทำไมเราถึงไม่ควรยอมแพ้อะไรง่ายๆ และทำไมเราถึงต้องเสียสละ
แม้กระทั่งในเรื่องที่ทำใจยากจะยอมรับที่สุดอย่างเรื่องของความตาย ดราก้อนบอล ก็สามารถสอนให้เข้าใจได้เช่นกันว่าความสูญเสียเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำใจและยอมรับให้ได้ (แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะมีการเชิญเทพเจ้ามังกรมาช่วยชุบชีวิตตัวละครกลับคืนมาเสมอก็ตาม)
สิ่งเหล่านี้ในอีกทางแล้วคือ ‘สัจธรรม’ ของชีวิต และเป็นสารที่มีความสากลในตัว เข้ากันได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย และไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลกก็ตาม
ดราก้อนบอล จึงเป็นการ์ตูนอมตะเหนือกาลเวลาที่ไม่ว่าจะผ่านไปนานสักแค่ไหนก็ยังคงนำกลับมาฉายซ้ำใหม่ได้เสมอ โดยที่เด็กๆ ก็พร้อมจะนั่งเกาะขอบจอแก้วดูด้วยแววตาใสแจ๋วเหมือนกันทั้งโลก ด้วยความสนุก ตื่นเต้น ลุ้นและเอาใจช่วยตัวละครไปด้วยกัน
นั่นคือ ‘พลังคลื่นเต่า’ ที่ถูกส่งผ่านมาถึงหัวใจของเด็กๆ ทุกคน เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่แท้จริง
รองเท้าฟุตบอลคัสตอมพิเศษของ ปิแอร์ เอเมอริก โอบาเมยอง
ดังนั้นการที่นักฟุตบอลวัย 20 ปีอย่างเอลเลียตต์ หรือแม้แต่อิบราฮิมา โกนาเตที่เกิดและเติบโตในฝรั่งเศส หรือ ปิแอร์ เอเมอริก โอบาเมยอง กองหน้าชาวกาบองในแอฟริกา มีโอกาสแสดงท่าทางที่บ่งบอกถึงความทรงจำที่ฝังแน่นในใจของพวกเขาตั้งแต่เยาว์วัยจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ
เพราะ ดราก้อนบอล เดินทางไปทั่วทุกมุมโลก
พวกเขาเติบโตมากับพลังคลื่นเต่า บอลเกงกิ และท่าเคลื่อนย้ายในพริบตาอันน่าตื่นเต้น (อ้อ! หมัดจอมเทพด้วย) ที่แม้ว่าโตขึ้นมาจะรู้ว่าไม่มีใครทำอะไรแบบนี้ได้หรอก มันเป็นแค่เรื่องจินตนาการสนุกๆ ในความทรงจำสีจางๆ เท่านั้น
แต่ตัวละครและเรื่องราวเหล่านั้นคือหนึ่งในเพื่อนที่ดีที่สุดของชีวิตของพวกเขา
และของพวกเราอีกมากมายนับไม่ถ้วนทั่วโลก
โคนาเต ปราการหลังตัวแกร่งของลิเวอร์พูลซึ่งใช้ภาพ GIF จากเรื่อง ดราก้อนบอล บอกเล่าถึงข่าวการย้ายทีมของเขาในปี 2021 บอกถึงพลังที่เขาได้รับจากมังงะเรื่องโปรดว่า “ในบางครั้งเราจะตกอยู่ในสถานการณ์ของชีวิตที่ทำให้เราคิดถึงมังงะ
“สิ่งเหล่านี้ช่วยได้มากในช่วงก่อนเกม ผมชอบดูไฮไลต์ของมังงะ และบ่อยครั้งที่มันช่วยทำให้ผมมีกำลังใจมากขึ้น แต่คนอาจไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยผมได้มากในบางส่วนของชีวิต”
โคนาเตซึ่งเกิดใน ‘เขตที่ 11’ ของปารีส ซึ่งเป็นเขตที่อันตรายอย่างยิ่ง บอกว่าเขาโตมากับ ดราก้อนบอล เพราะดูตามพี่ๆ
ขณะที่โอบาเมยังเคยฉลองประตูในเกม ‘เอลกลาซิโก’ นัดที่บาร์เซโลนาถล่มเรอัล มาดริดขาดลอย 4-0 เมื่อปี 2022 ที่ทำให้แฟนบอลจำนวนหนึ่งสงสัย แต่แฟนบอลอีกจำนวนหนึ่งที่มีไม่น้อยเข้าใจได้ทันที
“นี่คือลูกแก้วมังกรจากเรื่อง ดราก้อนบอล ถ้ามีสิ่งนี้เราจะสามารถทำความปรารถนาให้เป็นความจริงได้ ผมอยากจะชนะในเกมนี้ ผมอยากจะยิงประตูให้คุณปู่คุณย่าที่จากไปแล้ว ซึ่งเพื่อนของผมได้มอบลูกแก้วมังกรนี้ให้กับผม” โอบาเมยังเล่าถึงที่มาของท่าดีใจที่พิเศษสุดๆ
หรือในสนามปาร์ค เดส์ แพรงซ์ ก็เคยมี ‘Tifo’ สุดอลังการของแฟนบอลกลุ่มอัลตราที่มาจากเรื่อง ดราก้อนบอล เพื่อปลุกใจนักเตะก่อนลงสนามให้สู้ไม่ถอยเหมือนเหล่านักสู้ในเรื่องเสมอ
ในการจากไปอย่างกะทันหันของ โทริยามะ อากิระ จึงเป็นข่าวเศร้าที่ทำให้คนทั่วโลกหัวใจสลายตามไปด้วย เพราะเหมือนสูญเสียญาติสนิทหรือผู้ใหญ่ที่เคารพไปแม้จะไม่เคยได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว
หากเป็นในเรื่องราวของ ดราก้อนบอล แล้ว บางทีโกคูและบลูม่าคงได้เที่ยวผจญภัยเพื่อตระเวนตามหาลูกแก้วมังกรตามสถานที่ต่างๆ กัน เพื่อหวังจะอัญเชิญ ‘เชนลอง’ เทพเจ้ามังกรเพื่อขอประทานพรให้คืนชีวิตแก่นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่
แต่เพราะนี่คือโลกของความเป็นจริง ไม่มีดราก้อนบอล เทพเจ้ามังกร หรืออะไรก็ตามที่จะสามารถนำ โทริยามะ อากิระ กลับคืนมาได้อีกแล้ว
ถึงอย่างนั้นในช่วงชีวิตของใครสักคน การที่สามารถทำให้ใครรักเราได้โดยไม่ต้องรู้จัก ด้วยการสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แม้คนเดียวก็นับว่าชีวิตนี้คุ้มค่าแล้วนั้น
การบอกรักและบอกลาด้วยความอาลัยของแฟนๆ ที่มีต่อการจากไปของผู้ให้กำเนิดเรื่องราวและแรงบันดาลใจที่มหัศจรรย์มาถึง 40 ปี ก็นับว่าเป็นความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับนักเขียนชาวญี่ปุ่นคนนี้แล้ว
ขอบคุณสำหรับพลังที่ส่งมา
และอยากให้รู้ว่ามีคนมากมายทั่วโลกที่กำลังชูแขนขึ้นฟ้าเพื่อรวมพลังสร้างบอลเกงกิลูกใหญ่
ที่ไม่ได้มีไว้เพื่อจัดการเหล่าร้ายที่ไหน แต่มีไว้เพื่อเปลี่ยนแปลงให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้นอีกนิดด้วยแรงบันดาลใจจาก ดราก้อนบอล
อ้างอิง:
- https://www.liverpoolfc.com/members/news/how-anime-inspires-ibou
- https://apnews.com/article/314580300a4d4fe0a7b3abd718026a9e
- https://bnnbreaking.com/world/mexico/dragon-ball-supers-unique-impact-curbing-cartel-influence-in-latin-america
- https://www.barcablaugranes.com/2022/3/21/22989186/the-story-behind-pierre-emerick-aubameyangs-dragon-ball-celebration