×

กมธ.ศึกษากฎหมายนิรโทษกรรมเริ่มนับคดีตั้งแต่ 1 ม.ค. 2548 เตรียมเชิญอดีตแกนนำ 5 กลุ่มการเมืองให้ข้อมูลประกอบแนวทางนิรโทษ 14 มี.ค. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
07.03.2024
  • LOADING...
นิรโทษกรรม

วันนี้ (7 มีนาคม) ที่รัฐสภา ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมของคณะกรรมาธิการว่า ที่ประชุมมีมติจะเชิญบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ที่จำเป็นจะต้องขอทราบรายละเอียดว่าเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์เพราะอะไร และขณะนี้คดีมีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว เข้าให้ข้อมูลแก่คณะกรรมาธิการในวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคมนี้ ประกอบด้วย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), สุริยะใส กตะศิลา อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, ถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.), ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำกลุ่มคณะราษฎร, ตัวแทนจากกลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อขอทราบความเห็น และรับทราบเหตุการณ์ที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองว่ามีเป้าหมาย มูลเหตุทางการเมืองอย่างไร เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ

 

ชูศักดิ์กล่าวต่อว่า มูลเหตุความขัดแย้งทางการเมืองที่จะนำมาพิจารณานั้นจะเริ่มนับจากวันที่ 1 มกราคม 2548 จนถึงปัจจุบัน เพื่อจำกัดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการว่าเป็นการพิจารณาเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงดังกล่าว และจะไปดูการกระทำที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นว่ามีการกระทำอะไรบ้าง โดยจะนำเหตุการณ์เป็นตัวตั้ง เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวบ่งบอกความขัดแย้งทางการเมือง และเป็นแรงจูงใจทางการเมือง โดยมอบให้คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองที่มี นิกร จำนง เป็นประธานอนุกรรมาธิการ ไปพิจารณารวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาพิจารณาในวันพฤหัสบดีถัดไป จากนั้นจะลงรายละเอียดในการพิจารณา

 

ขณะที่ นิกร จำนง กล่าวว่า ขณะนี้กรรมาธิการมีข้อมูล 50,000 กว่ากรณี นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งทางกรรมาธิการได้ส่งหนังสือถึงศาลยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศาลทหาร เพื่อขอข้อมูลมาเรียบเรียงและเปรียบเทียบกับข้อมูลที่คณะกรรมาธิการมี เพื่อนำไปพิจารณาดูความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ก่อนที่จะมีการตัดสินใจและนำสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการพิจารณาถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่ามีแรงจูงใจทางการเมืองอย่างไรนั้น นิกรกล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการได้มีการรวบรวมคดีที่เกิดจากมูลเหตุแรงจูงใจทางการเมือง โดยจะดูว่าแต่ละคดีมีที่มาที่ไปและแรงจูงใจทางการเมืองว่าเป็นอย่างไร

 

เช่นกลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส. มีแรงจูงใจที่ต่างกันในแต่ละช่วง โดยจะมาดูว่าเกิดจากแรงจูงใจหรือไม่ อย่างไร ก่อนที่จะสรุปและนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการใหญ่ ส่วนกรณีใดที่จะไม่เข้าข่ายให้พิจารณานั้น ยังไม่มีการพิจารณาตอนนี้ โดยจะดูคดีก่อนว่ามีอย่างไรบ้าง และคำที่สำคัญที่จะต้องหานิยามว่ามูลเหตุที่เกิดขึ้นนั้นมาจากแรงจูงใจทางการเมือง

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ารวมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่นั้น ชูศักดิ์กล่าวเสริมว่า ความผิดในมาตรา 112 จะรวมด้วยหรือไม่ยังไม่มีการพิจารณาถึงตรงนั้น โดยจะดูเหตุการณ์เป็นตัวกำหนด ยกตัวอย่างเมื่อปี 2548 มีเหตุการณ์ใดบ้างที่มีมูลเหตุทางการเมือง เช่น การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็มีคดีมากมายเต็มไปหมด

 

ชูศักดิ์กล่าวต่อว่า คดีเหล่านั้นก็มีบทนิยามว่าเคลื่อนไหวโดยคดีเพราะมีมูลเหตุทางการเมือง หรือการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 เพื่อต่อต้านการรัฐประหาร ก็เห็นได้ชัดเจนว่าถูกดำเนินคดี ท้ายที่สุดหากนำเหตุการณ์เป็นตัวตั้งก็จะรู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีคดีและมูลเหตุอะไรบ้าง ดังนั้นจะต้องนำเหตุการณ์มาดูในเบื้องต้น ซึ่งจะบอกเองว่าเวลาจะเริ่มนับตั้งแต่เมื่อไร และจะทำอะไร โดยจะไม่นำบุคคลมาเป็นตัวตั้ง จะเอาเฉพาะเหตุการณ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X