วันที่ 2 มีนาคม 2534 ได้เกิดอุบัติภัยทางสารเคมีครั้งที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทยที่โกดังเก็บสารเคมีท่าเรือคลองเตยของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
โดยเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 13.30 น. เกิดเสียงระเบิดดังมาจากโกดังเก็บสินค้าหมายเลข 3 ก่อนจะลุกลามไปยังโกดังหมายเลข 4 และ 5 ที่อยู่ติดกัน ทำให้ต้องระดมรถดับเพลิงกว่า 100 คัน พนักงานดับเพลิงกว่า 500 คน เข้าฉีดน้ำควบคุมเพลิง แต่การฉีดน้ำลงบนกองเพลิงที่เต็มไปด้วยสารเคมีกลับทำให้เกิดการระเบิดตามมามากขึ้น เปลวเพลิงและควันพิษพวยพุ่งขึ้นบนอากาศและลอยไปไกลถึง 13 กิโลเมตร แรงระเบิดยังทำให้แผ่นเหล็ก กระเบื้อง ลอยไปตกในชุมชนที่อยู่ใกล้ท่าเรือคลองเตย ทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้อีกด้วย
ต่อมากรมวิทยาศาสตร์ทหารบกจึงเข้ามาสนับสนุนการดับไฟโดยใช้ทรายกลบ และขนย้ายกากสารเคมีไปฝังในพื้นที่ทหาร จังหวัดกาญจนบุรี โดยใช้เวลาดับเพลิงรวมกว่า 3 วัน มีผู้เสียชีวิตทันที 4 ราย บาดเจ็บกว่า 30 ราย มีผู้ป่วยจากการสัมผัสสารพิษ 1,700 ราย ซึ่ง 499 รายเป็นหญิงตั้งครรภ์ และเหตุการณ์ครั้งนี้ยังทำให้มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 5,000 รายด้วย
ในขณะที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยในฐานะเจ้าของโกดังเก็บสารเคมี ได้จ่ายเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือเฉพาะหน้าครอบครัวละ 1,000 บาท ค่าทำศพ 20,000 บาท และจัดสรรงบประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อสร้างแฟลตใหม่ที่ซอยอ่อนนุช ด้านสภาทนายความฯ ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือในการเรียกร้องค่าเสียหาย มีการเจรจายินยอมจ่ายค่าชดเชยเฉพาะ 179 ครอบครัวที่ออกมาต่อสู้เรียกร้อง ครอบครัวละ 10,000-12,000 บาท
นอกจากความสูญเสียด้านชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ภายหลังเหตุการณ์ยังพบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามาจำนวนมาก เช่น น้ำเป็นพิษ มลพิษทางอากาศ นับเป็นเหตุการณ์หายนะเกี่ยวกับสารเคมีที่เลวร้ายครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย